กรุงเทพฯ 19 ต.ค.- “ศักดิ์สยาม” นั่งหัวโต๊ะ ประชุม กบร. สั่งทุกหน่วยงานด้านการบิน เตรียมความพร้อมรองรับการเปิดประเทศ 1 พฤศจิกายนนี้ โดยต้องเตรียมทั้งการต้อนรับนักท่องเที่ยว ควบคู่รับมือสถานการณ์น้ำท่วมและการป้องกันภัยคุกคามทางไซเบอร์
นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคมในฐานะประธานกรรมการการบินพลเรือน (กบร.) กล่าวว่า ในการประชุม กบร. เมื่อวันที่ 18 ตุลาคม 2564 ที่ผ่านมา ได้ย้ำนโยบายเตรียมความพร้อมสูงสุดในการเปิดประเทศรับนักท่องเที่ยวในวันที่ 1 พฤศจิกายนนี้ โดยให้ทุกหน่วยเฝ้าจับตาและเตรียมมาตรการรองรับในกรณีที่เกิดน้ำท่วม ซึ่งอาจส่งผลกระทบกับสนามบินหรือการเดินทางเข้าออกสนามบินของผู้โดยสาร รวมถึงระมัดระวังและเพิ่มมาตรการป้องกันภัยคุกคามทางไซเบอร์ โดยเฉพาะแรนซัมแวร์ (Ransomware) ที่เจาะเข้ามาล็อคไฟล์ไม่ให้ใช้ได้ แล้วเรียกค่าไถ่จากเจ้าของข้อมูลเพื่อแลกกับรหัสผ่านในการปลดล็อค โดยให้สำนักงานการบินพลเรือนแห่ง
ประเทศไทย (CAAT) ประสาน กรมท่าอากาศยาน (ทย.) บริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) (ทอท.) บริษัท วิทยุการบินแห่งประเทศไทย จำกัด (บวท.) และสายการบินต่าง ๆ ตรวจสอบและเพิ่มมาตรการป้องกันไม่ให้เกิดผลกระทบ โดยเฉพาะในช่วงที่การบินกำลังกลับมาเพิ่มขึ้นในฤดูท่องเที่ยวตามแผนการเปิดประเทศรอบล่าสุดของรัฐบาล
นอกจากนั้น กบร. ยังได้มีมติให้ขยายมาตรการช่วยเหลือผู้ประกอบการสายการบินต่อไปอีก 1 ไตรมาส เพื่อเพิ่มสภาพคล่องด้านการเงินให้กับผู้ประกอบการเตรียมความพร้อมในการเปิดประเทศระยะที่ 2 และเห็นชอบแผนการดำเนินการตามนโยบายการรักษาความปลอดภัยการบินพลเรือนแห่งชาติ ที่ CAAT เสนอ ตามประกาศคณะกรรมการการบินพลเรือนเรื่องนโยบายการรักษาความปลอดภัยการบินพลเรือนแห่งชาติ เพื่อส่งเสริมการรักษาความปลอดภัยการบินพลเรือนให้มีประสิทธิภาพและเป็นไปตามมาตรฐานสากล
โดยยังคงมาตรการช่วยเหลือผู้ประกอบการสายการบิน จากเดิม กบร. ได้เห็นชอบการบรรเทาผลกระทบของสายการบินอย่างต่อเนื่องจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัส COVID – 19 ครอบคลุมจนถึงไตรมาสที่ 3/2564 และมีการพิจารณานโยบายความช่วยเหลือเป็นราย
ไตรมาสเพื่อประเมินสถานการณ์เป็นระยะ แต่การแพร่ระบาดหนักในระลอกใหม่ตั้งแต่เดือนกรกฎาคม 2564 ทำให้ผู้โดยสารในไตรมาสที่ 3/2564 ลดลงอย่างมากและสายการบินขอตารางเวลาบินเพียงประมาณร้อยละ 39 ของขีดความสามารถที่สนามบินรองรับได้ ทำให้สายการบินยังได้รับผลกระทบอย่างหนัก โดยสำหรับไตรมาสที่ 4/2564 ที่ประชุม กบร. มีมติให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ขยายมาตรการช่วยเหลือสายการบินอีก 1 ไตรมาส เพื่อเป็นการฟื้นฟูสภาพเศรษฐกิจการท่องเที่ยวของไทย และสอดคล้องกับนโยบายเปิดประเทศของรัฐบาลในระยะที่ 2 โดยมีนโยบายการช่วยเหลือ คือ
- ให้ CAAT ขยายระยะเวลาชำระหนี้ (Credit Term) และยกเว้นเงินเพิ่ม (ค่าปรับ) ให้กับสายการบินที่นำส่งค่าธรรมเนียมการเข้าหรือออกประเทศล่าช้า ในไตรมาสที่ 4 ซึ่งอยู่ในระหว่างเสนอเรื่องต่อที่ประชุมคณะกรรมการกำกับสำนักงานการบินพลเรือนแห่งประเทศไทย
- ให้ ทอท. ดำเนินมาตรการปรับลดค่าบริการสนามบิน (Landing and Parking Charges) ลงอัตราร้อยละ 50 สำหรับเที่ยวบินภายในประเทศและเที่ยวบินระหว่างประเทศ และยกเว้นการจัดเก็บค่าบริการที่เก็บอากาศยาน (Parking Charge) ให้แก่สายการบินที่ทำการหยุดให้บริการชั่วคราวในไตรมาสที่ 4 และ ทอท. มีมาตรการที่จะเลื่อนกำหนดชำระค่าบริการสนามบินและค่าเครื่องอำนวยความสะดวก (Aircraft Service Charge) สำหรับงวดชำระเดือนเมษายน 2564 ถึงเดือนธันวาคม 2564 ออกไปงวดละ 9 เดือน และให้ผ่อนชำระสูงสุดไม่เกิน 12 งวดชำระ
- ให้กรมท่าอากาศยาน หรือ ทย. ช่วยเหลือผู้ประกอบการโดยขยายระยะเวลาการปรับลดอัตราค่าเช่าสำหรับทุกกิจกรรมในอัตราค่าเช่าไม่ต่ำกว่าที่กรมธนารักษ์กำหนดเป็นระยะเวลา 6 เดือน (ตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม 2564 – 31 มีนาคม 2565)
สำหรับแผนการดำเนินการตามนโยบายการรักษาความปลอดภัยการบินพลเรือนแห่งชาติ ตามที่คณะรัฐมนตรีได้มีมติเห็นชอบนโยบายการรักษาความปลอดภัยการบินพลเรือนแห่งชาติ ตามที่ กบร.เสนอ เมื่อวันที่ 17 สิงหาคม 2564 และวันที่ 14 กันยายน 2564 รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคมได้ลงนามในประกาศคณะกรรมการการบินพลเรือนแห่งชาติ เรื่อง นโยบายการรักษาความปลอดภัยการบินพลเรือนแห่งชาติ โดยมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 15 กันยายน 2564 เป็นต้นมา กบร. จึงมีมติให้ CAAT ดำเนินการตามประกาศดังกล่าว โดยให้จัดทำแผนการดำเนินการตามนโยบายการรักษาความปลอดภัยการบินพลเรือนแห่งชาติและให้นำเสนอ กบร. ซึ่งในที่ประชุมครั้งนี้ CAAT ได้เสนอแผนดังกล่าวโดยมีกรอบการจัดทำแผนรวม 8 ด้าน คือ กรอบการจัดทำกฎหมาย การกำหนดมาตรฐาน การบังคับใช้กฎหมาย การประสานงาน การรับฟังความคิดเห็น การจัดสรรทรัพยากร การสร้างความตระหนัก และการส่งเสริมบุคลากร โดยมุ่งหวังให้ การดำเนินงานในด้านต่าง ๆ ตามแผนฯ จะช่วยยกระดับมาตรฐานการรักษาความปลอดภัยการบินพลเรือนของไทยให้ดียิ่งขึ้นไป ซึ่งจะส่งผลให้ประชาคมระหว่างประเทศเชื่อมั่นในการขนส่งทางอากาศของไทยและมีมาตรฐานระดับสากล สอดรับกับมาตรฐานขององค์การการบินพลเรือนระหว่างประเทศ .-สำนักข่าวไทย