กรุงเทพฯ 5 ต.ค.- อธิบดีกรมชลประทาน ย้ำเฝ้าระวังน้ำล้นอ่างแก่งกระจานและปราณบุรี พร้อมแจ้งเตือนประชาชนให้รับทราบสถานการณ์น้ำอย่างต่อเนื่อง
นายประพิศ จันทร์มา อธิบดีกรมชลประทาน กล่าวว่า สั่งการให้โครงการชลประทานพื้นที่ภาคกลางตอนล่างและภาคใต้ตอนบน เฝ้าระวังภาวะน้ำหลากและน้ำล้นตลิ่ง ได้แก่ จังหวัดเพชรบุรี ประจวบคีรีขันธ์ ชุมพร และระนอง เนื่องจากกรมอุตุนิยมวิทยา คาดการณ์ว่า ช่วงวันที่ 5-9 ตุลาคม 2564 ร่องมรสุมจะพาดผ่านภาคเหนือตอนล่าง ภาคกลาง ภาคตะวันออก และภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนล่าง ประกอบกับมรสุมตะวันตกเฉียงใต้มีกำลังแรงขึ้น ทำให้บริเวณภาคเหนือตอนล่าง ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคกลาง ภาคตะวันออก และภาคใต้ มีฝนเพิ่มขึ้นกับมีฝนตกหนักบางแห่ง
ทั้งนี้ กรมชลประทาน พร้อมรับสถานการณ์น้ำตามประกาศของกองอำนวยการน้ำแห่งชาติ (กอนช.) ฉบับที่ 18/2564 ที่ให้เฝ้าระวังสถานการณ์น้ำหลากและปริมาณน้ำในอ่างเก็บน้ำที่มีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้น ระหว่างวันที่ 6-10 ตุลาคม ซึ่งพื้นที่เสี่ยงเฝ้าระวังน้ำหลากและดินถล่ม ประกอบด้วย
– จังหวัดเพชรบุรี ได้แก่ อำเภอแก่งกระจาน บ้านลาด ท่ายาง เมือง และบ้านแหลม
– จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ ได้แก่ อำเภอบางสะพาน บางสะพานน้อย เมือง สามร้อยยอด และกุยบุรี
– จังหวัดชุมพร ได้แก่ อำเภอท่าแซะ และปะทิว
– จังหวัดระนอง ได้แก่ อำเภอเมือง และกะเปอร์
นอกจากนี้ กรมชลประทาน ได้เฝ้าระวังระดับน้ำในอ่างเก็บน้ำแก่งกระจาน จังหวัดเพชรบุรี อ่างเก็บน้ำปราณบุรี และอ่างเก็บน้ำห้วยไทรงาม จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ ที่มีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้น อาจเกิดน้ำล้นทางระบายน้ำล้นได้ ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อพื้นที่ลุ่มต่ำริมแม่น้ำ บริเวณท้ายอ่างเก็บน้ำ ตลอดจนยังสั่งการให้โครงการชลประทานในพื้นที่ เฝ้าระวังสถานการณ์น้ำตลอด 24 ชั่วโมง โดยเฉพาะพื้นที่ที่มีฝนตกสะสมมากกว่า 90 มิลลิเมตร และบริเวณจุดเสี่ยง หรือพื้นที่ที่ยังคงมีน้ำท่วมขัง พร้อมปรับแผนบริหารจัดการน้ำให้อยู่ในเกณฑ์ควบคุมสูงสุด (Upper Rule Curve) ให้เหมาะสมและสอดคล้องกับสถานการณ์น้ำ พร้อมพิจารณาบริหารจัดการเขื่อนระบายน้ำและประตูระบายน้ำ เพื่อพร่องน้ำ และเร่งระบายน้ำในลำน้ำและแม่น้ำ
สำหรับคลองชายทะเลให้พร่องน้ำโดยไม่ส่งผลกระทบต่อพื้นที่ท้ายน้ำ รวมไปถึงการตรวจสอบความมั่นคงแข็งแรงของอ่างเก็บน้ำ อาคารบังคับน้ำ ติดตาม ตรวจสอบ ซ่อมแซมแนวคันบริเวณริมแม่น้ำ และกำจัดสิ่งกีดขวางทางน้ำ เพื่อเตรียมพร้อมรับน้ำหลาก และป้องกันน้ำท่วมให้สามารถใช้งานได้อย่างมีประสิทธิภาพ
อธิบดีกรมชลประทาน ยังกำชับให้บูรณาการร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง แจ้งเตือนประชาชนให้รับทราบสถานการณ์น้ำอย่างต่อเนื่อง จัดเตรียมเครื่องจักร-เครื่องมือ และระบบสื่อสารสำรองให้สามารถปฏิบัติงานให้ความช่วยเหลือประชาชนได้ทันที เพื่อลดผลกระทบที่จะเกิดแก่ประชาชนให้มากที่สุด.-สำนักข่าวไทย