กรุงเทพฯ 30 ก.ย.-กอนช. ออกประกาศให้กรมชลประทาน ปรับแผนบริหารจัดการน้ำของเขื่อนต่างๆ โดยเฉพาะเพิ่มการระบายน้ำ #เขื่อนป่าสักชลสิทธิ์ ซึ่งจะทำให้ช่วงวันที่ 1-5 ต.ค. ระดับน้ำท้ายเขื่อนเพิ่มขึ้น 1.20-2.40 เมตร ทำ 8 จังหวัดได้รับผลกระทบ รวมกรุงเทพฯ
นายสำเริง แสงภู่วงค์ เลขานุการกองอำนวยการน้ำแห่งชาติและรองเลขาธิการสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติกล่าวว่า กองอำนวยการน้ำแห่งชาติ (กอนช.) ประเมินสถานการณ์ฝนที่ตกหนักก่อนหน้านี้ รวมถึงการคาดหมายของกรมอุตุนิยมวิทยาที่ว่า ระหว่างนี้จนถึงวันที่ 2 ตุลาคม ซึ่งร่องมรสุมจะเลื่อนลงพาดผ่านภาคกลางตอนล่างและภาคใต้ตอนบน ทำให้มีฝนตกหนักบางแห่งในภาคกลางตอนล่าง และภาคใต้ตอนบน ส่งผลให้เกิดน้ำหลากในพื้นที่ดังกล่าวได้
ปัจจุบันมีน้ำหลากจากพื้นที่ตอนบนของลุ่มน้ำเจ้าพระยาไหลลงเหนือเขื่อนเจ้าพระยาเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง จากลุ่มน้ำปิงจากบริเวณคลองสวนหมาก อำเภอเมืองกำแพงเพชร
และคลองขลุง อำเภอคลองขลุง จังหวัดกำแพงเพชร ซึ่งจะทำให้มีปริมาณน้ำไหลผ่านสถานีวัดน้ำจังหวัดนครสวรรค์ (C.2) อยู่ในอัตราประมาณ 2,750 – 2,900 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที ไหลมามาสมทบกับน้ำแม่น้ำสะแกกรัง ซึ่งจะทำให้มีปริมาณน้ำไหลเข้าสู่เขื่อนเจ้าพระยาอยู่ในอัตรา 3,200 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที
ดังนั้น กอนช. จึงมอบหมายให้กรมชลประทานบริหารจัดการน้ำด้านเหนือเขื่อนเจ้าพระยา จังหวัดชัยนาท โดยการตัดยอดน้ำเข้าระบบคลองชลประทานทั้งสองฝั่งและพื้นที่ลุ่มต่ำ เพื่อให้น้ำที่ไหลผ่านเขื่อนเจ้าพระยาอยู่ในอัตรา 2,700 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาทีเพื่อลดผลกระทบต่อพื้นที่ด้านท้าย แต่ระดับน้ำตั้งแต่ท้ายเขื่อนเจ้าพระยาจะยังคงเพิ่มขึ้นเล็กน้อย โดยน้ำที่ไหลผ่านสถานีวัดน้ำอำเภอบางไทร จังหวัดพระนครศรีอยุธยา (C.29A) จะอยู่ในอัตรา 3,000 – 3,200 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที
นอกจากนี้ น้ำจากจังหวัดเพชรบูรณ์และลพบุรีไหลลงเขื่อนป่าสักชลสิทธิ์เพิ่มมากขึ้น ซึ่งต้องรักษาเสถียรภาพ
และความมั่นคงของเขื่อน จึงให้ระบายน้ำจากเขื่อนป่าสักชลสิทธิ์ ในอัตรา 900 – 1,200
ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที ดังนั้นในช่วงวันที่ 1 – 5 ตุลาคม ระดับน้ำตั้งแต่ท้ายเขื่อนป่าสักชลสิทธิ์เพิ่มสูงขึ้นจากปัจจุบันประมาณ 1.20 – 2.40 เมตร ส่วนท้ายเขื่อนพระรามหกเพิ่มสูงขึ้นจากปัจจุบันประมาณ 2.30 – 2.80 เมตร
นายสำเริงกล่าวต่อว่า พื้นที่ที่จะได้รับผลกระทบได้แก่
- จังหวัดชัยนาท บริเวณแม่น้ำเจ้าพระยาบริเวณตำบลโพนางดำออก และตำบลโพนางดำตก อำเภอสรรพยา
- จังหวัดสิงห์บุรี บริเวณแม่น้ำเจ้าพระยาบริเวณวัดเสือข้าม วัดสิงห์ อำเภออินทร์บุรี อำเภอเมืองสิงห์บุรี และอำเภอพรหมบุรี
- จังหวัดอ่างทอง บริเวณคลองโผงเผง และแม่น้ำเจ้าพระยา บริเวณวัดไชโย อำเภอไชโย และอำเภอป่าโมก
- จังหวัดลพบุรี ริมสองฝั่งแม่น้ำป่าสัก บริเวณอำเภอพัฒนานิคม
- จังหวัดพระนครศรีอยุธยา บริเวณคลองบางบาล และริมแม่น้ำน้อย บริเวณตำบลหัวเวียง
อำเภอเสนา ตำบลลาดชิด ตำบลท่าดินแดง อำเภอผักไห่ และริมสองฝั่งแม่น้ำป่าสัก อำเภอท่าเรือ และอำเภอนครหลวง อำเภอพระนครศรีอยุธยาจรดแม่น้ำเจ้าพระยา - จังหวัดสระบุรี ริมสองฝั่งแม่น้ำป่าสัก อำเภอวังม่วง อำเภอแก่งคอย อำเภอเมือง อำเภอเสาไห้ และอำเภอบ้านหมอ
- จังหวัดปทุมธานี บริเวณพื้นที่ลุ่มต่ำนอกแนวคันกั้นน้ำริมฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยา
- จังหวัดนนทบุรี บริเวณพื้นที่ลุ่มต่ำนอกแนวคันกั้นน้ำริมฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยา
- กรุงเทพมหานคร แนวคันกั้นน้ำบริเวณพื้นที่ริมสองฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยา
ทั้งนี้ กอนช. สั่งหน่วยงานที่เกี่ยวข้องติดตามสถานการณ์น้ำอย่างใกล้ชิดต่อเนื่อง โดยเฉพาะพื้นที่จุดเสี่ยงบริเวณที่ลุ่มต่ำริมแม่น้ำ
พร้อมทั้งประชาสัมพันธ์ข้อมูลและแจ้งเตือนประชาชนที่อาศัยอยู่ในพื้นที่ริมลำน้ำ เตรียมแผนเผชิญเหตุรับสถานการณ์น้ำหลาก ความพร้อมบุคลากร เครื่องจักรเครื่องมือ รวมถึงระบบสื่อสารสำรอง เพื่อบูรณาการความพร้อมให้ความช่วยเหลือและบรรเทาผลกระทบ
ต่อประชาชนได้ทันที.- สำนักข่าวไทย