กรุงเทพฯ 28 ก.ย.- ธปท.เผยมาตรการช่วยเหลือลูกหนี้ที่ได้รับผลกระทบจากโควิด-19 ณ สิ้นเดือน ก.ค.64 รวม 5.12 ล้านบัญชี คิดเป็นยอดหนี้ 3.35 ล้านล้านบาท
น.ส.สุวรรณี เจษฎาศักดิ์ ผู้อำนวยการอาวุโส ฝ่ายนโยบายและกำกับสถาบันการเงิน 2 ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) กล่าวความคืบหน้าของมาตรการช่วยเหลือลูกหนี้ที่ได้รับผลกระทบจากโควิด-19 โดย ณ สิ้นเดือน ก.ค. 64 มีลูกหนี้ได้รับความช่วยเหลือภายใต้มาตรการทั้งสิ้น 5.12 ล้านบัญชี คิดเป็นยอดหนี้ 3.35 ล้านล้านบาท แบ่งเป็น ลูกหนี้ของสถาบันการเงินและ non-banks 2 ล้านบัญชี ยอดหนี้ 2.1 ล้านล้านบาท และลูกหนี้สถาบันการเงินเฉพาะกิจ (SFIs) 3.12 ล้านบัญชี ยอดหนี้ 1.25 ล้านล้านบาท ทั้งนี้ เมื่อรวมลูกหนี้ของสถาบันการเงินและ non-banks ที่เข้ามาตรการเร่งด่วนพักชำระหนี้ คิดเป็นมากกว่า 3 ล้านบัญชี
โดย ธปท. ได้อนุมัติสินเชื่อฟื้นฟูไปแล้วทั้งสิ้น 106,156 ล้านบาท โดยสินเชื่อกระจายตัวได้ดีและครอบคลุมลูกหนี้จำนวน 34,538 ราย เฉลี่ยรายละ 3.07 ล้านบาท เป็นธุรกิจขนาดเล็ก (44.3%) ประกอบธุรกิจการพาณิชย์และบริการ (67.2%) และเป็นลูกหนี้ที่อยู่ในพื้นที่ต่างจังหวัด นอกเขตกรุงเทพฯ และปริมณฑล (68.4%)
ในส่วนของโครงการพักทรัพย์พักหนี้ มีมูลค่าสินทรัพย์ที่รับโอน 15,167 ล้านบาท ผู้ได้รับความช่วยเหลือ 106 ราย ส่วนใหญ่เป็นผู้ประกอบธุรกิจโรงแรม โรงงาน และสปา อย่างไรก็ดี สำหรับธุรกิจโรงแรมและที่พัก มีลูกหนี้ของธนาคารพาณิชย์ ไทยที่ได้รับความช่วยเหลือภายใต้มาตรการ 2.83 แสนล้านบาท (65% ของสินเชื่อธุรกิจโรงแรมและที่พักทั้งสิ้น) ด้วยการปรับปรุงโครงสร้างหนี้ (61%) การช่วยเหลืออื่น เช่น พักชำระหนี้ หรือลดภาระหนี้ระยะสั้น (34%) และโครงการพักทรัพย์พักหนี้ (5%)
ทั้งนี้ ธปท. ได้ย้ำถึงความสำคัญของมาตรการแก้หนี้ระยะยาว (3 ก.ย. 64) ที่ออกมาล่าสุด เพื่อสนับสนุนให้ลูกหนี้ที่ได้รับผลกระทบจากวิกฤตโควิดได้รับการแก้ไขหนี้เดิมด้วยการปรับปรุงโครงสร้างหนี้ ที่ “มองยาว” ให้สอดคล้องกับรายได้ เพื่อช่วยลดภาระต่อเดือนและทำให้ลูกหนี้เหลือสภาพคล่องมากขึ้น โดยหากลูกหนี้มีรายได้ลดลงรุนแรง ค่างวดในช่วงแรกก็จะลดลงมากตามไปด้วย แล้วค่อยทยอยปรับเพิ่มขึ้น (step up) ให้สอดคล้องกับรายได้ตามภาวะเศรษฐกิจที่คาดว่าจะฟื้นตัวได้ดีขึ้น ซึ่งแม้จะทำให้ระยะเวลาการชำระหนี้ขยายออกไป แต่ถือเป็นการช่วยให้ลูกหนี้ยังสามารถชำระหนี้ได้และไม่กลายเป็นหนี้เสีย และให้แรงจูงใจเพิ่มเติมเพื่อผลักดันให้สถาบันการเงินช่วยเหลือลูกหนี้ มากกว่าการขยายระยะเวลาชำระหนี้แต่เพียงอย่างเดียว เช่น การลดดอกเบี้ยค้างรับ การลดอัตราดอกเบี้ย การนำเงินค่างวดมาตัดเงินต้นก่อนดอกเบี้ย หรือการปรับโครงสร้างหนี้ร่วมกับการให้เม็ดเงินใหม่ เป็นต้น ตามอาการของลูกหนี้ โดยทำให้เกณฑ์จัดชั้นยืดหยุ่นขึ้น เช่น ปรับชั้นมาเป็นสินเชื่อปกติ หรือ Stage 1 ได้เร็วกว่าตามเกณฑ์ปกติ
อย่างไรก็ตาม ในระยะต่อไป ธปท. จะยังผลักดันการดำเนินมาตรการและติดตามการให้ความช่วยเหลือลูกหนี้ของสถาบันการเงินอย่างใกล้ชิด โดยมีหลักคิด ได้แก่
1. “ไปให้ถึง” โดยเพิ่มการประสานงานเชิงรุกกับหน่วยงานภาครัฐและเอกชน ในการประชาสัมพันธ์มาตรการแก่ลูกหนี้ ตลอดจนรับฟังปัญหาและให้คำปรึกษาในเชิงรุก เพื่อเพิ่มการเข้าถึงและประสิทธิภาพของมาตรการ ยกตัวอย่างเช่น การรับฟังปัญหาจากลูกหนี้จากภาคธุรกิจหรือภาคอุตสาหกรรมต่าง ๆ
2. “ช่วยให้มากที่สุด” ผ่านการออกมาตรการเพิ่มเติมต่อเนื่องตามสถานการณ์ เพื่อช่วยเหลือลูกหนี้ที่ได้รับผลกระทบให้ได้มากที่สุด โดย ธปท. สนับสนุนการทำ Refinance และการรวมหนี้ (Debt consolidation) ระหว่างสินเชื่อเพื่อที่อยู่อาศัยและสินเชื่อรายย่อย เช่น บัตรเครดิต หรือ P-loan เพื่อลดภาระอัตราดอกเบี้ยของลูกหนี้ โดยการห้ามคิด prepayment fee สำหรับสินเชื่อรายย่อย
3. มั่นใจว่า “ระบบการเงินเดินต่อไปได้” โดยภายใต้ภาวะที่ความเสี่ยงยังอยู่ในระดับสูง จะต้องเน้นการเลือกใช้มาตรการที่ตรงจุด และไม่ส่งผลกระทบเชิงลบหรือผลข้างเคียงต่อระบบการเงิน เพื่อให้ระบบการเงินและระบบสถาบันการเงินยังทำงานได้ตามปกติและหล่อเลี้ยงเศรษฐกิจให้ไปต่อได้ ขณะที่ไม่ทำให้ลูกหนี้กลุ่มเสี่ยงและเปราะบางถูกผลักไปอยู่นอกระบบ
นอกจากนี้ ภายในเดือนต.ค.2564 ธปท.เตรียมออกมาตรการรวมหนี้ (Debt Consolidation) ระหว่างสถาบันการเงิน โดยนำสินเชื่อที่มีหลักประกัน เช่น บ้าน และสินเชื่อที่ไม่มีหลักประกัน เช่น สินเชื่อส่วนบุคคล (P Loan) มารวมเป็นก้อนเดียวกัน เพื่อลดภาระดอกเบี้ยจาก 25% มาอยู่ที่ระดับต่ำกว่า 10% เป็นต้น จากเดิมที่มาตรการรวมหนี้ในช่วงที่ผ่านมาอนุญาตให้รวมหนี้ที่เกิดขึ้นในสถาบันการเงินเดียวกันเท่านั้น
นอกจากนี้ ธปท.เตรียมออกมาตรการจูงใจ ให้สถาบันการเงินเพิ่มเติม จากปัจจุบันให้สิทธิประโยชน์แก่ธนาคาร ที่ลดภาระดอกเบี้ยลงมาเทียบเท่ากับสินเชื่อที่มีหลักประกันให้กับลูกหนี้ ได้แก่ ผ่อนคลายการจัดชั้นสำรองหนี้ และการนำอัตราดอกเบี้ยที่ลดลงมานับรวมกับค่าธรรมเนียมเงินนำส่งเข้ากองทุน เพื่อการฟื้นฟูและพัฒนาระบบสถาบันการเงิน (FIDF Fee) โดยมาตรการใหม่จะช่วยลดน้ำหนักความเสี่ยงของธนาคาร เพื่อสร้างแรงจูงใจและลดต้นทุนการดำเนินงานของสถาบันการเงิน
โดยปัจจุบัน ธปท.ได้หารือกับสถาบันการเงินเป็นที่เรียบร้อยแล้ว และจะเสนอเข้าคณะกรรมการ ธปท.เพื่อให้พิจารณาต่อไป โดย ธปท.เตรียมสั่งห้ามสถาบันการเงินคิดค่าธรรมเนียมชำระเงินกู้คืนก่อนครบกำหนด (Prepayment Fee) P Loan และสินเชื่อนาโนไฟแนนซ์ เพื่อไม่ให้เกิดอุปสรรคในการผลักดันการรวมหนี้ รวมถึงเดินหน้าให้ความรู้แก่ประชาชนและสถาบันการเงินถึงประโยชน์และความเสี่ยงของการรวมหนี้ ซึ่งที่ผ่านมาลูกหนี้กังวลว่าทรัพย์สิน เช่น บ้าน หรือรถ อาจถูกยึดหากรวมหนี้ แต่ในความเป็นจริงแล้ว หากไม่ทำการรวมหนี้ และหนี้ที่ไม่มีหลักประกันมีมูลค่าสูงมากพอ อาจส่งผลกระทบต่อทรัพย์สินของลูกหนี้ในอนาคต ส่วนการกำหนดอัตราดอกเบี้ย ธปท.จะแจ้งรายละเอียดอีกครั้ง แต่เบื้องต้นเป็นดอกเบี้ยที่เรียกเก็บจะต้องสะท้อนความเสี่ยงของลูกหนี้ .-สำนักข่าวไทย