กรุงเทพฯ 17 ส.ค. – บมจ.ปตท.ปรับกลยุทธ์ตามทิศทางเทคโนโลยีและเทรนด์โลกที่ลดโลกร้อน เพิ่มเป้าหมายธุรกิจใหม่ เพิ่มเป้าพลังงานทดแทนจาก 8,000 MW เป็น 12,000 MW ในปี 2030 แย้มเตรียมลงนามอีวีกับ Foxconn ในเร็วๆ นี้
นายอรรถพล ฤกษ์พิบูลย์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) เปิดเผยว่า ตามทิศทางโลกที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว ทั้งพลังงาน การมุ่งสู่สังคมคาร์บอนต่ำ และผลจากการระบาดของโควิด-19 ทางกลุ่ม ปตท. จึงได้ปรับตามกรอบวิสัยทัศน์ใหม่เป็น Powering Life with future energy and beyond ขับเคลื่อนทุกชีวิตด้วยพลังแห่งอนาคต ปรับสัดส่วนการลงทุนให้สอดคล้องกับทิศทางอนาคต มุ่งสู่สังคมคาร์บอนต่ำ (Low Carbon Society) พร้อมเป็น Regional LNG Hub เข้าสู่ธุรกิจพลังงานแห่งอนาคต รุกธุรกิจไฟฟ้าพลังงานหมุนเวียน ลงทุนเตรียมพร้อมรองรับกระแสยานยนต์ไฟฟ้า ตลอดจนเข้าสู่ธุรกิจที่มีศักยภาพตามทิศทางโลก อาทิ มุ่งสู่กลุ่มผลิตภัณฑ์มูลค่าสูง (High Value Business) ในธุรกิจปิโตรเคมีและการกลั่น และมุ่งขยายการค้าปลีกที่ตอบโจทย์ผู้บริโภคในธุรกิจน้ำมันและค้าปลีก รวมถึงขยายการลุงทุนในธุรกิจ Life Science (ยา nutrition และอุปกรณ์ทางการแพทย์) ดึงความเชี่ยวชาญจากต่างประเทศ จับมือพันธมิตรทั้งในไทยและต่างชาติ เป็นต้น
สำหรับกรอบตามยุทธศาสตร์ใหม่กำหนดร่วมกันว่า ภายในปี 2030 หรือ พ.ศ. 2573 กำหนด Net income 30% (กำไรสุทธิ) จากส่วน Future Energy & Beyond ที่สัดส่วน 30% ซึ่งได้ปรับเพิ่มเป้ากำลังการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนเพิ่มขึ้นจากเดิม 8,000 เมกะวัตต์ เป็น 12,000 เมกะวัตต์ ภายในปี 2573 โดยเป็นการร่วมลงทุนระหว่าง ปตท. กับทางบริษัท โกลบอล เพาเวอร์ ซินเนอร์ยี่ จำกัด (มหาชน) หรือ GPSC ขณะที่กำลังการผลิตไฟฟ้าจากเชื้อเพลิงฟอสซิลยังคงเดิมที่ 8,000 เมกะวัตต์ รวมถึงการปรับเพิ่มปริมาณนำเข้าก๊าซธรรมชาติเหลว (LNG) เพิ่มเป็น 9 ล้านตัน/ปี ภายในปี 2573
สำหรับทิศทางการลงทุนในแต่ละธุรกิจ แบ่งเป็น ธุรกิจ E&P ยังคงเน้นลงทุนในสินทรัพย์ที่ผลตอบแทนสูง โดยเฉพาะแหล่งก๊าซฯ ขณะที่ธุรกิจ Gas จะเน้นสร้าง global LNG portfolio, ธุรกิจ R&P จะเน้นบูรณาการ Supply chain มุ่งสู่กลุ่มผลิตภัณฑ์มูลค่าสูง (High Value Business), ธุรกิจ Oil & Retail จะขายการค้าปลีกเพื่อตอบโจทย์ผู้บริโภค มุ่งสู่ mobility & lifestyle, ธุรกิจไฟฟ้า จะเน้นขยายการลงทุนในโรงไฟฟ้าบางกลุ่มในไทยและภูมิภาค ส่วนธุรกิจ Future Energy จะเร่งการลงทุนในกลุ่มพลังงานอนาคต เช่น พลังงานหมุนเวียน Energy Storage System, EV value chain ขณะที่ในส่วนของ New Business จะเร่งขยายธุรกิจที่มีศักยภาพ เช่น life science, logistics & infrastructure
สำหรับความคืบหน้าความร่วมมือด้านแพลตฟอร์มผลิตยานยนต์อีวีกับ Foxconn จากไต้หวัน วงเงินร่วมทุน 1,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ในเบื้องต้น และรวมเป็น 2,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ใน 5-6 ปีนั้น ขณะนี้มีความคืบหน้าจะลงนามความร่วมมือในเร็วๆ นี้ และจะสร้างโรงงานในพื้นที่ภาคตะวันออก เริ่มผลิตรถคันแรกได้ใน 2 ปีข้างหน้า
นายอรรถพล ยังคาดการณ์แนวโน้มการดำเนินงานในช่วงครึ่งหลังของปีนี้ คาดยังเติบโตต่อเนื่อง หลังราคาพลังงานยังอยู่ในระดับสูงใกล้เคียงกับช่วงครึ่งปีแรก ประกอบกับเศรษฐกิจโลกที่ฟื้นตัว ส่งผลให้ความต้องการใช้พลังงานเพิ่มขึ้น โดยปริมาณการขาย และราคาผลิตภัณฑ์ของกลุ่ม ปตท.จะอิงกับตลาดโลกเป็นหลัก โดยคาดราคาผลิตภัณฑ์ต่างๆ ปีนี้จะสูงขึ้นกว่าปีที่แล้ว เช่น น้ำมันดิบดูไบ เฉลี่ยปรับจาก 42.2 ดอลลาร์สหรัฐ เป็น 63-68 ดอลลาร์สหรัฐ/บาร์เรล ค่าการกลั่นคาดเพิ่มจาก 0.4 ดอลลาร์สหรัฐ เป็น 2-2.5 ดอลลาร์สหรัฐ/บาร์เรล HDPE คาดราคาเพิ่มร้อยละ 28 จากเฉลี่ย 880 ดอลลาร์สหรัฐ เป็น 1,100-1,150 ดอลลาร์สหรัฐ/ตัน เบนซิน ปรับเพิ่มขึ้นร้อยละ 83 จาก 485 ดอลลาร์สหรัฐ เป็น 860-910 ดอลลาร์สหรัฐ/ตัน แอลเอ็นจี ราคาขยับจาก 4.3 ดอลลาร์สหรัฐ เป็น 12.4-13.8 ดอลลาร์สหรัฐ/ล้านบีทียู เป็นต้น
สำหรับภาพรวมการลงทุนของกลุ่ม ปตท. ปีนี้เป็นไปตามแผนงาน โดยการสนับสนุนด้านการเงินบริษัทในเครือลงทุนในต่างประเทศนั้น ขอยืนยันว่า ปตท.สามารถจัดหาเงินทุน ทั้งจากผลดำเนินการและการกู้เงิน โดยไม่จำเป็นต้องเพิ่มทุนแต่อย่างใด. – สำนักข่าวไทย