กรุงเทพฯ 3 ส.ค. – FETCO แนะรัฐเร่งกระตุ้นเศรษฐกิจ ด้านดัชนีความเชื่อมั่นนักลงทุนปรับตัวลงสู่เกณฑ์ซบเซา นักลงทุนคาดหวังแผนการฉีดวัคซีนเพื่อคลี่คลายสถานการณ์
นายไพบูลย์ นลินทรางกูร ประธานกรรมการสภาธุรกิจตลาดทุนไทย เปิดเผยว่า หากมาตรการล็อกดาวน์จำเป็นต้องลากยาวตลอดเดือนส.ค. เศรษฐกิจไทย มีโอกาสสูงที่จะกลับเข้าสู่ภาวะถดถอย และคาดจีดีพีปี 2564 จะโตที่ 0.6 % ถือเป็นอัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจอันดับท้ายๆของโลก โดยสาเหตุหลักที่กดดันเศรษฐกิจไทยฟื้นตัวช้า คือ การจัดหาวัคซีนที่ค่อนข้างล่าช้า มาตรการควบคุมการแพร่ระบาดของโควิด-19 ที่ขาดประสิทธิภาพ รวมถึงมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจจากภาครัฐ ที่ยังทำน้อยเกินไปและช้าเกินไป ขณะที่พ.ร.ก. เงินกู้ 1 ล้านล้านบาทยังเบิกจ่ายไปเพียง 80% ส่วน พ.ร.ก. เงินกู้ 5 แสนล้านบาท ก็แทบยังไม่ได้มีการนำไปใช้
พร้อมแนะให้มีการผ่อนวินัยการคลัง ด้วยการขยายเพดานหนี้หนี้สาธารณะเกิน 60% ต่อ GDP และในช่วงที่เหลือของปี รัฐบาลควรเร่งใช้เงินที่เหลือจาก พ.ร.ก. เงินกู้ 1 ล้านล้านบาท ให้เร็วที่สุด และเร่งอัดฉีดเงินจาก พ.ร.บ. เงินกู้ 500,000 ล้านบาท ให้เข้าสู่ระบบเศรษฐกิจโดยเร็ว ด้วยการออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจเพิ่มเติมอย่างเร่งด่วน โดยเน้นไปที่มาตรการช่วยเหลือภาคธุรกิจและมาตรการเพิ่มกำลังซื้อให้ผู้บริโภค รวมถึงขยายเพดานหนี้สาธารณะ ต่อ GDP ให้สูงขึ้น “ชั่วคราว” เป็น 70-75% เพื่อไม่ให้เป็นอุปสรรคต่อการดำเนินนโยบายการคลัง และควรวางแผนกู้เงินเพิ่มเติมอีก 800,000-1,000,000 ล้านบาท เพื่อไว้รองรับการแพร่ระบาดระลอกใหม่ ที่อาจเกิดขึ้นได้ และสำหรับการออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจชุดใหม่ อย่างไรก็ตาม การผ่อนคลายให้ร้านอาหารในห้าง คอมมูนิตี้มอลล์ เปิดได้ถึงเวลา 20.00 น. ในวันนี้วันแรกนั้น มองว่าไม่ส่งผลต่อบรรยาการการบริโภคและการลงทุนในประเทศมากนัก
สำหรับดัชนีความเชื่อมั่นนักลงทุน (FETCO Investor Confidence Index) ผลสำรวจในเดือนกรกฎาคม 2564 พบว่า “ดัชนีความเชื่อมั่นนักลงทุน (FETCO Investor Confidence Index: ICI) ในอีก 3 เดือนข้างหน้า อยู่ที่ระดับ 64.37 ปรับตัวลดลง 39.3% จากเกณฑ์ทรงตัวเดือนก่อนมาอยู่ในเกณฑ์ซบเซา นักลงทุนคาดหวังแผนการฉีดวัคซีนเพื่อคลี่คลายสถานการณ์ Covid-19 เป็นปัจจัยหนุนมากที่สุด รองลงมาคือการฟื้นตัวของเศรษฐกิจในประเทศ และนโยบายภาครัฐ สำหรับปัจจัยที่ฉุดความเชื่อมั่นนักลงทุนมากที่สุด ได้แก่ สถานการณ์ระบาดของ Covid-19 ระลอกปัจจุบันที่รุนแรงขึ้น รองลงมาคือความขัดแย้งระหว่างประเทศ และการถดถอยของเศรษฐกิจในประเทศ
สำหรับหมวดธุรกิจที่น่าสนใจมากที่สุด หมวดชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ (ETRON) และหมวดธุรกิจที่ไม่น่าสนใจมากที่สุด คือ หมวดแฟชั่น (FASHION)
ทั้งนี้ในช่วงเดือนกรกฎาคม 2564 สถานการณ์โรคระบาด Covid-19 ในประเทศที่มีผู้ติดเชื้อรายใหม่และผู้เสียชีวิตเพิ่มสูงขึ้นมาก รวมถึงความไม่ชัดเจนของการจัดหาและกระจายฉีดวัคซีน เป็นปัจจัยหลักที่กดดันต่อการเคลื่อนไหวของ SET index ตลอดทั้งเดือน และปรับตัวลดลงอย่างต่อเนื่องในช่วงครึ่งหลังของเดือน หลังจากมีการออกมาตรการ Lockdown เพื่อควบคุมการระบาดของโควิด และค่าเงินบาทที่อ่อนตัวลงอย่างต่อเนื่อง ซึ่งส่งผลกระทบให้กระแสเงินลงทุนของกลุ่มนักลงทุนต่างประเทศทยอยไหลออกจากตลาดหุ้นไทยกว่า 17,700 ล้านบาทในเดือนกรกฎาคม อย่างไรก็ตาม ตลาดทุนไทยยังได้แรงหนุนจากปัจจัยภายใน อาทิ การประกาศมาตรการเยียวยากลุ่มแรงงานและผู้ประกอบการที่ได้รับผลกระทบจากมาตรการ Lockdown ในพื้นที่ 10 จังหวัดสีแดงเข้ม และมาตรการลดค่าไฟฟ้าและน้ำประปา วงเงินรวม 42,000 ล้านบาทจากรัฐบาล อีกทั้ง ปัจจัยภายนอก เช่น การประกาศคงดอกเบี้ยนโยบายของ FED และ ECB เพื่อสนับสนุนการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจท่ามกลางความเสี่ยงที่ยังมีอยู่สูง ส่งผลให้ SET index ณ สิ้นเดือนกรกฎาคม 2564 ปิดที่ 1,521.92 จุด ปรับตัวลดลง 4.15% จากเดือนก่อนหน้า
ปัจจัยต่างประเทศที่น่าติดตาม ได้แก่ การประชุม Jackson Hole Symposium วันที่ 26-28 ส.ค. 2564 ซึ่ง Fed อาจมีการส่งสัญญาณการทำ QE Tapering การควบคุมและการออกกฎระเบียบจากทางการจีนซึ่งกระทบต่อ sentiment ในการลงทุนหุ้นจีนโดยเฉพาะหุ้นกลุ่มเทคโนโลยี ความขัดแย้งใน “โอเปก” ซึ่งอาจส่งผลต่อความผันผวนของราคาน้ำมันโลก ในส่วนของปัจจัยในประเทศที่อาจกระทบต่อการลงทุน ได้แก่ การบริโภคภาคเอกชนที่อาจจะถูกกระทบอย่างหนักจากมาตรการควบคุมโรคที่เข้มงวดขึ้น สภาวการณ์ของเศรษฐกิจไทยที่น่าจะฟื้นตัวได้ยากเนื่องจากแผนการเปิดประเทศเต็มรูปแบบภายในปีนี้ตามเป้าหมายรัฐบาลที่อาจจะไม่เป็นไปตามแผน ดังนั้น แนวทางการกระตุ้นการดำเนินนโยบายการคลังของภาครัฐเป็นอีกหนึ่งปัจจัยสำคัญที่น่าติดตามซึ่งจะส่งผลต่อการสนับสนุนการฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทย
ขณะเดียวกันคาดว่าการประชุม กนง. ในวันพรุ่งนี้ จะคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายที่ระดับ 0.5% เนื่องจาก เศรษฐกิจมีแนวโน้มฟื้นตัวช้าลงจากการระบาดของ COVID-19 และ ธปท. ได้ทำการกระตุ้นเศรษฐกิจผ่านมาตรการช่วยเหลือลูกหนี้ธุรกิจ SME และหนี้ครัวเรือน ความจำเป็นในการปรับลดอัตราดอกเบี้ยจึงลดลง . – สำนักข่าวไทย