นนทบุรี 27 ก.ค.-อธิบดีกรมพัฒนาธุรกิจการค้า เผยยอดจดทะเบียนธุรกิจนิติบุคคลตั้งใหม่เดือน มิ.ย.64 ยังพุ่งต่อเนื่องสูง 6,093 ราย แม้จะเจอปัญหาโควิดระบาด แต่ด้วยภาคส่งออกเติบโตดีทำให้ยอดจดสูง แต่หากดูยอดเลิกกิจการครึ่งปีแรกลดลงไม่น้อย
นายทศพล ทังสุบุตร อธิบดีกรมพัฒนาธุรกิจการค้ากล่าวว่า ยอดจดทะเบียนธุรกิจนิติบุคคลทั่วประเทศประจำเดือนมิถุนายน64 และครึ่งปีแรก 2564 ซึ่งยอดจดธุรกิจจัดตั้งใหม่เดือนมิถุนายน 2564 มีผู้ประกอบธุรกิจจำนวน 6,093 ราย โดยมีมูลค่าทุนจดทะเบียนจำนวน 20,921.90 ล้านบาท แบ่งเป็นประเภทธุรกิจจัดตั้งใหม่สูงสุด 3 อันดับแรก ได้แก่ ธุรกิจก่อสร้างอาคารทั่วไป จำนวน 649 ราย คิดเป็นร้อยละ 11 รองลงมา คือ ธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ จำนวน 301 ราย คิดเป็นร้อยละ 5 และอันดับ 3 คือ ธุรกิจขนส่งและขนถ่ายสินค้ารวมถึง คนโดยสาร จำนวน 240 ราย คิดเป็นร้อยละ 4 ขณะที่ตัวเลขเลิกประกอบกิจการเดือนมิถุนายน 2564 มีจำนวน 1,048 ราย ซึ่งสอดคล้องกับแนวโน้มการเลิกกิจการในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา โดยมีธุรกิจเลิกประกอบกิจการสูงสุด 3 อันดับแรก ได้แก่ ธุรกิจก่อสร้างอาคารทั่วไป จำนวน 74 ราย คิดเป็น ร้อยละ 7 รองลงมาคือ ธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ จำนวน 73 ราย คิดเป็นร้อยละ 7 และธุรกิจให้คำปรึกษาด้านการบริหารจัดการ จำนวน 39 ราย คิดเป็นร้อยละ 4
อย่างไรก็ตาม ส่งผลให้ยอดผู้ประกอบธุรกิจที่ยื่นขอจดทะเบียนจัดตั้งห้างหุ้นส่วนบริษัทใหม่ทั่วประเทศ ในครึ่งปีแรก 2564 จำนวน 41,022 ราย มีมูลค่าทุนจดทะเบียนจำนวน 133,208.18 ล้านบาท โดยประเภทธุรกิจจัดตั้งใหม่สูงสุด 3 อันดับแรก ได้แก่ ธุรกิจก่อสร้างอาคารทั่วไป จำนวน 3,539 ราย คิดเป็นร้อยละ 9 รองลงมา คือ ธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ จำนวน 1,844 ราย คิดเป็นร้อยละ 5 และอันดับ 3 คือ ธุรกิจขนส่งและขนถ่ายสินค้ารวมถึง คนโดยสาร จำนวน 1,132 ราย คิดเป็นร้อยละ 3 โดยธุรกิจเลิกประกอบกิจการครึ่งปีแรก 2564
มีจำนวน 4,930 ราย โดยมีมูลค่าทุนจดทะเบียนจำนวน 30,458.90 ล้านบาท ซึ่งสอดคล้องกับแนวโน้มการเลิกกิจการในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา
ซึ่งประเภทธุรกิจเลิกประกอบกิจการสูงสุด 3 อันดับแรก ได้แก่ ธุรกิจก่อสร้างอาคารทั่วไป จำนวน 3,539 ราย คิดเป็นร้อยละ 9 รองลงมาคือ ธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ จำนวน 1,844 ราย คิดเป็นร้อยละ 5 และธุรกิจขนส่งและขนถ่ายสินค้ารวมถึง คนโดยสารจำนวน 1,132 ราย คิดเป็นร้อยละ 3 ส่งผลให้ธุรกิจดำเนินกิจการอยู่ ณ เดือนมิถุนายน 2564 ธุรกิจดำเนินกิจการอยู่ทั้งสิ้น (ณ วันที่ 30 มิ.ย. 64) ธุรกิจที่ดำเนินกิจการอยู่ทั่วประเทศ จำนวน 803,794 ราย มูลค่าทุน 19.59 ล้านล้านบาท
อย่างไรก็ตาม กรมพัฒนาธุรกิจการค้าได้วิเคราะห์การจดทะเบียนธุรกิจประจำเดือนมิถุนายน 2564 และครึ่งปี 2564 การจดทะเบียนจัดตั้งธุรกิจเดือนมิถุนายน 2564 มีการจดทะเบียนจัดตั้งธุรกิจใหม่จำนวน 6,093 ราย เพิ่มขึ้นร้อยละ 6 เมื่อเปรียบเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่ก่อนและการจดทะเบียนนิติบุคคลจัดตั้งธุรกิจใหม่ในครึ่งปีแรกของปี 2564 มีจำนวน 41,022 ราย เพิ่มขึ้นร้อยละ 23 เมื่อเปรียบเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่ก่อน ขณะที่การจดทะเบียนเลิกธุรกิจในเดือนมิถุนายน มีจำนวน 1,048 ราย ลดลง จากช่วงเดียวกันของเดือนก่อนหน้า ร้อยละ 22 และการจดทะเบียนเลิกในครึ่งปีแรกของปี 2564 มีจำนวน 4,930 ราย เทียบช่วงเวลาเดียวกันปี 2563 ลดลง ถึง ร้อยละ 21
ทั้งนี้ การเพิ่มขึ้นของจำนวนการจดทะเบียนนิติบุคคลจัดตั้งใหม่ และการลดลงของจำนวนการจดทะเบียนเลิกธุรกิจในครึ่งปีแรกนั้น อาจมีผลมาจากปัจจัยหนุนด้านเศรษฐกิจ เช่น การฟื้นตัวของตัวเลขการส่งออกจากเศรษฐกิจโลกที่ฟื้นตัว และมาตรการการกระตุ้นการใช้จ่ายของภาครัฐ อย่างไรก็ตามดัชนีความเชื่อมั่นในการดำเนินธุรกิจในเดือนมิถุนายน 2564 ของธนาคารแห่งประเทศไทยอยู่ที่ 46.5 ปรับตัวเพิ่มขึ้นจากเดือนก่อนหน้าเพียงเล็กน้อย และยังอยู่ต่ำกว่า 50 สะท้อนความเชื่อมั่นของผู้ประกอบการส่วนใหญ่ที่ยังมีความกังวลต่อสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด – 19 ที่อาจยืดเยื้อและมีแนวโน้มรุนแรงขึ้นเมื่อพิจารณาการเพิ่มขึ้นของจำนวนการจดทะเบียนจัดตั้งธุรกิจในครึ่งปี 2564 ส่วนหนึ่งสอดรับกับพฤติกรรมของประชาชนที่เปลี่ยนแปลงไปจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 เช่น ธุรกิจสร้างแม่ข่ายมีจำนวนจัดตั้งใหม่ทั้งสิ้น 262 ราย เพิ่มขึ้นจากช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อนหน้า 28 เท่า และ ธุรกิจปลูกพืชประเภทเครื่องเทศ เครื่องหอม ยารักษาโรค และพืชทางเภสัชภัณฑ์มีจำนวนจัดตั้งใหม่ทั้งสิ้น 112 ราย เพิ่มขึ้นจากช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อนหน้า 10 เท่า รวมถึงนโยบายการผลักดันให้วิสาหกิจชุมชนจดทะเบียนเป็นนิติบุคคลของภาครัฐยังเป็นอีกปัจจัยที่ส่งผลให้การจดทะเบียนจัดตั้งธุรกิจเพิ่มขึ้นอีกด้วย ซึ่งการแพร่ระบาดของโควิด-19 ยังคงมีแนวโน้มกระจายเป็นวงกว้างอย่างต่อเนื่อง ซึ่งเป็นปัจจัยสำคัญที่ส่งผลต่อความเชื่อมั่นทางเศรษฐกิจและธุรกิจ อาจส่งผลกระทบต่อผู้ประกอบการทั้งความเชื่อมั่นในการดำเนินธุรกิจและสถานการณ์เศรษฐกิจโดยรวมของประเทศ ซึ่งจะต้องมีการติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิดต่อไป.-สำนักข่าวไทย