แจงสินเชื่อฟื้นฟู -พักทรัพย์ พักหนี้

         ธปท. 23 มี.ค. – คลัง – แบงก์ชาติ  ผุด สินเชื่อฟื้นฟู – โครงการพักทรัพย์ พักหนี้ ช่วยเหลือผู้ประกอบธุรกิจจากโควิด-19 วงเงิน 3.5 แสนล้าน หนุนกลุ่มรายย่อย เสริมสภาพคล่อง คาดดำเนินการได้พ.ค.นี้ ด้านศูนย์วิจัยกสิกรไทย ชี้ กลุ่มที่ไม่มีที่ดินเป็นของตนเอง ไม่ได้รับประโยชน์


         นายเศรษฐพุฒิ สุทธิวาทนฤพุฒิ ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย  เปิดเผยว่า เศรษฐกิจไทยเผชิญความท้าทายจากการระบาดของโควิด-19 มาตั้งแต่ปี 2563 แม้ปัจจุบันจะทยอยฟื้นตัวได้ แต่ก็ต้องใช้เวลา คาดว่าเศรษฐกิจไทยจะกลับเข้าสู่ระดับก่อนเจอโควิด-19 ในไตรมาสที่3 ของปี 2565 และการฟื้นตัวของแต่กลุ่มจะไม่เท่ากัน  โดยเฉพาะกลุ่ม SMEs ที่มีข้อจำกัดในการเข้าถึงแหล่งทุน และภาคธุรกิจที่กระทบหนักต้องใช้เวลานานในการฟื้นตัว  เช่น กลุ่มท่องเที่ยวและบริการ ซึ่งมีการจ้างงานถึง 10 ล้านคน และต้องใช้เวลา 4-5 ปี กว่านักท่องเที่ยวต่างชาติจะกลับมาใกล้ระดับก่อนโควิด-19 ระบาด

        ดังนั้น การให้ความช่วยเหลือเยียวยาระยะสั้นของภาครัฐแก่ลูกหนี้ในปัจจุบัน ผ่าน พ.ร.ก.การให้ความช่วยเหลือทางการเงินแก่ผู้ประกอบวิสาหกิจที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 พ.ศ.2563 (พ.ร.ก.Soft Loan) จึงไม่เพียงพอรองรับสถานการณ์ที่ยาวนานกว่าที่คาดไว้   ทาง ธปท. และกระทรวงการคลัง จึงเห็นความจำเป็นเร่งด่วน ในการออกมาตรการทางการเงินเพิ่มเติม  และ ครม. วันนี้ (23 มี.ค. ) มีมติให้ความเห็นชอบต่อมาตรการให้ความช่วยเหลือฟื้นฟูผู้ประกอบธุรกิจที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (มาตรการฟื้นฟู) วงเงินรวม 350,000 ล้านบาท  ซึ่งจะช่วยดูแลผู้ประกอบธุรกิจที่มีศักยภาพ ให้สามารถประคองกิจการพยุงการจ้างงาน และมีโอกาสฟื้นฟูศักยภาพ รองรับโลกยุคหลังวิกฤตโควิด-19   โดยออกแบบให้เหมาะสมกับสถานการณ์ความเสี่ยงในปัจจุบัน และมีความยืดหยุ่น รวมถึงครอบคลุมการแก้ไขปัญหาให้กลุ่มลูกหนี้ที่มีความจำเป็นแตกต่างกัน  โดยมีการแยกมาตรการออกเป็น 2 หมวดคือ


          1.มาตรการสนับสนุนการให้สินเชื่อแก่ผู้ประกอบธุรกิจ (สินเชื่อฟื้นฟู) วงเงิน 250,000 ล้านบาท มุ่งเน้นให้สถาบันการเงินส่งผ่านสภาพคล่องดังกล่าวแก่ผู้ประกอบธุรกิจ SMEs ที่ได้รับผลกระทบแต่ยังมีศักยภาพ ซึ่งได้ปรับปรุงข้อจำกัดจากมาตรการครั้งที่แล้ว โดยขยายขอบเขตลูกหนี้ให้ครอบคลุมทั้งลูกหนี้รายเดิมและลูกหนี้รายใหม่ที่ไม่มีวงเงินสินเชื่อกับสถาบันการเงิน พร้อมกับรองรับการฟื้นตัวที่ต้องใช้เวลา ด้วยการปรับเพิ่มวงเงินกู้ให้สูงขึ้น ขยายเวลาผ่อนชำระให้ยาวขึ้น และกำหนดอัตราดอกเบี้ยให้เอื้อต่อการฟื้นฟูกิจการยิ่งขึ้น โดยลูกหนี้รายเดิม กำหนดวงเงินไม่เกินร้อยละ 30 ของวงเงินสินเชื่อ ณ 31 ธ.ค.62 หรือ 28 ก.พ.64 (ไม่เกิน150ล้านบาท)  

         ส่วนลูกหนี้ใหม่ กำหนดวงเงินไม่เกิน 20 ล้านบาท  อัตราดอกเบี้ยเฉลี่ยไม่เกินร้อยละ 5 ต่อปี ตลอดระยะเวลา 5 ปีที่ธปท. สนับสนุนสภาพคล่อง  ช่วง  2 ปีแรกคิดอัตราดอกเบี้ยไม่เกินร้อยละ 2 ต่อปี และรัฐชดเชยดอกเบี้ยให้ในช่วง 6 เดือนแรก มีระยะเวลาค้ำประกัน 10ปี

     2. มาตรการสนับสนุนการรับโอนทรัพย์ชำระหนี้ และให้สิทธิ์ลูกค้าซื้อคืน (โครงการพักทรัพย์ พักหนี้)


วงเงิน 100,000 ล้านบาท มุ่งช่วยเหลือผู้ประกอบธุรกิจที่ได้รับผลกระทบรุนแรง ต้องใช้เวลานานในการฟื้นตัว แต่ยังมีศักยภาพและมีทรัพย์สินเป็นหลักประกันทด้วยการเจรจากับเจ้าหนี้สถาบันการเงินเพื่อหยุดหรือลดภาระหนี้  เช่น  ผู้ประกอบธุรกิจมีสิทธิ์ซื้อทรัพย์คืนเป็นลำดับแรกในราคาต้นทุน ภายในระยะเวลา 3-5 ปี เท่ากับราคาตีโอนบวกด้วยต้นทุนการถือครองทรัพย์ ร้อยละ 1 ต่อปีของราคาตีโอน และต้นทุนในการดูแลรักษาทรัพย์ตามที่จ่ายจริง  โดยผู้ประกอบธุรกิจสามารถขอเช่าทรัพย์กลับมาดูแลหรือเปิดดำเนินการ   ทางสถาบันการเงินจะนำค่าเช่าไปหักออกจากราคาขายคืนทรัพย์ให้กับลูกหนี้ เพื่อช่วยรักษาโอกาสให้ผู้ประกอบธุรกิจไม่ถูกกดราคาบังคับขายทรัพย์ และสามารถกลับมาสร้างงานและทำรายได้อีกครั้งเมื่อสถานการณ์คลี่คลาย

        นอกจากนี้ ธปท. และภาครัฐ ยังมีนโยบายอื่นๆ เพื่อรองรับความต้องการที่ต่างกัน อาทิ กลุ่มรายย่อยที่ขาดสภาพคล่องชั่วคราว รัฐมีนโยบายเสริมสภาพคล่อง  ด้วยการเพิ่มรายได้ผ่านโครงการต่างๆ สำหรับกลุ่มลูกหนี้ที่ต้องแก้ไขหนี้เดิม มีมาตรการพักหนี้ เพื่อช่วยลดภาระ และสร้างความเป็นธรรม ในการใช้บริการทางการเงินของประชาชนรวมถึงลดการเกิดหนี้ด้อยคุณภาพในระบบการเงิน  

        “มั่นใจว่าการจัดการมาตรการนี้จะประสบความสำเร็จ และจะสามารถดำเนินการได้จริงภายในเดือนพฤษภาคมนี้” นายเศรษฐพุฒิ กล่าว

         น.ส.กุลยา ตันติเตมิท ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง เปิดเผยว่า  มาตรการสนับสนุนจากภาครัฐ ในสินเชื่อฟื้นฟู กระทรวงการคลังได้สนับสนุนกลไกการค้ำประกันสินเชื่อ  นอกจากนี้กระทรวงการคลัง กระทรวงมหาดไทย และกระทรวงพาณิชย์ มีมาตรการลดหย่อนค่าธรรมเนียมที่เกี่ยวข้องกับการจำนองอสังหาริมทรัพย์และอาคารชุด เหลือร้อยละ 0.01 และยกเว้นค่าธรรมเนียมการจดทะเบียนจำนองทรัพย์สิน และการจดทะเบียนสัญญาหลักประกันทางธุรกิจ

       ส่วนโครงการพักทรัพย์ พักหนี้ กระทรวงการคลัง กระทรวงมหาดไทย และกระทรวงพาณิชย์ สนับสนุนสิทธิประโยชน์ภาษีและค่าธรรมเนียมที่เกี่ยวข้องกับการตีโอนรับชำระหนี้ทั้งขารับโอนและขาซื้อคืนทรัพย์ให้กับลูกหนี้รายเดิม

 ด้านบริษัท ศูนย์วิจัยกสิกรไทย จำกัด  วิเคราะห์ว่า มาตรการพักทรัพย์พักหนี้ที่มาควบคู่กับสินเชื่อฟื้นฟู คาดว่าจะช่วยเปิดทางเลือกให้กับผู้ประกอบการโดยเฉพาะผู้ประกอบการเอสเอ็มอี ที่ได้รับผลกระทบทั้งทางตรงและทางอ้อมจากการระบาดโควิด-19 รองรับสถานการณ์เศรษฐกิจและการท่องเที่ยวที่ยังมีความไม่แน่นอนสูง ขณะเดียวกัน ก็ช่วยลดภาระของสถาบันการเงิน จากโอกาสที่คุณภาพหนี้ของลูกหนี้กลุ่มที่ประสบปัญหาดังกล่าว จะถดถอยลงจนกระทบภาระการตั้งสำรองฯ ของสถาบันการเงิน ท่ามกลางภาวะที่รายได้หลักยังไม่กลับเข้าสู่ภาวะปกติ

การออกแบบมาตรการที่เป็นความร่วมมือระหว่างองค์กรภาครัฐ หน่วยงานเอกชน สถาบันการเงิน รวมถึงตัวแทนลูกหนี้ในครั้งนี้ สะท้อนความพยายามอย่างมากของภาคส่วนต่างๆ ที่เกี่ยวข้องในการช่วยเหลือผู้ประกอบการให้ก้าวข้ามผ่านภาวะหัวเลี้ยวหัวต่อนี้ไป บนความเข้าใจสภาพธุรกิจที่แท้จริงทั้งฝั่งผู้ประกอบการและสถาบันการเงิน แม้ว่ามาตรการเชิงมหภาคเหล่านี้ในทุกๆ ประเทศ จะไม่สามารถออกแบบให้เหมาะสมกับผู้ประกอบการได้ทุกกลุ่มและทุกขนาดก็ตาม เนื่องจากระดับความซับซ้อนของปัญหาและเงื่อนไขที่ผู้ประกอบการแต่ละรายเผชิญนั้น มีความแตกต่างกัน

                ทั้งนี้ คงต้องยอมรับว่า มาตรการอาจไม่ครอบคลุมกลุ่มที่ทำธุรกิจ โดยการเช่าที่ดินและไม่ได้มีกรรมสิทธิ์บนที่ดินหรืออสังหาริมทรัพย์ เช่นเดียวกับการที่กลุ่มผู้ประกอบการขนาดย่อมในกรณีของธุรกิจที่พักแรม อาทิ กลุ่มที่กู้ซื้ออสังหาริมทรัพย์เพื่ออยู่อาศัยในรูปบุคคลธรรมดา แต่นำมาประกอบธุรกิจในรูปเกสต์เฮ้าส์ อาจต้องพิสูจน์ด้านศักยภาพการแข่งขัน ดังนั้น หลังจากนี้ ทางการอาจต้องพิจารณาแนวทางดูแลเพิ่มเติมสำหรับผู้ประกอบการขนาดเล็กเพิ่มเติมในอนาคต ขณะเดียวกัน คงต้องประเมินผลสัมฤทธิ์ของโครงการใหม่นี้เป็นระยะ เพื่อวางแนวทางจัดการ หรือปรับปรุงที่เหมาะสมในระยะต่อไป-สำนักข่าวไทย

ดูข่าวเพิ่มเติม

Top Viewed • อ่านมากสุด

ดูทั้งหมด

สำนักสงฆ์หูตาทิพย์

ขุดพบ 12 ศพ ในสำนักสงฆ์ลัทธิประหลาด “สอนหู-ตาทิพย์”

ขุดพบ 12 ศพ ในสำนักสงฆ์ลัทธิประหลาด “สอนหู-ตาทิพย์” พระอ้างใช้สอนวิปัสสนากรรมฐาน เบื้องต้นอายัดไว้พิสูจน์ดีเอ็นเอ พร้อมเอาผิดหัวหน้าสำนักสงฆ์ ฐานนำศพเก็บไว้ในสถานที่ที่ไม่ใช่สุสานและฌาปนสถาน

“สนธิ” ยื่นถอด “ตั้ม-เดชา” ออกจากทนาย

“สนธิ ลิ้มทองกุล” หอบหลักฐานบุกสภาทนายความ ถอดทนายตั้ม-ทนายเดชา ออกจากทนาย ระบุ ได้รับมอบอำนาจจาก “มาดามอ้อย” แล้ว เดินหน้าเอาผิด ทนายตั้มแบบสุดซอย ไม่ให้มีคนตกเป็นเหยื่อผู้รู้กฎหมายอีก

รัสเซียยิงขีปนาวุธข้ามทวีปรุ่นใหม่ถล่มยูเครน

ประธานาธิบดีวลาดิเมียร์ ปูติน ของรัสเซีย แถลงยืนยันว่ารัสเซียยิงขีปนาวุธข้ามทวีปรุ่นใหม่ถล่มภาคตะวันออกยูเครนเมื่อวานนี้ ตอบโต้ที่ยูเครนใช้ขีปนาวุธที่ได้รับมอบจากสหรัฐและอังกฤษ

ข่าวแนะนำ

“เหนือ-อีสาน-กลาง” อากาศเย็น ภาคใต้ฝนตกหนัก

กรมอุตุฯ รายงานภาคเหนือ อีสาน และภาคกลาง อากาศเย็นในตอนเช้า มีฝนเล็กน้อยบางแห่ง ส่วนภาคใต้ฝนตกหนักถึงหนักมากบางแห่ง ระวังน้ำท่วมฉับพลันและน้ำป่าไหลหลาก

โค้งสุดท้าย ศึกสองนารีชิงเก้าอี้ นายก อบจ.นครฯ

เหลือไม่ถึง 2 วันแล้ว ที่ชาวนครศรีธรรมราชจะได้ออกไปใช้สิทธิเลือกตั้งนายก อบจ.นครฯ ศึกนี้เป็นการสู้กันเองของพรรคร่วมรัฐบาล ฝ่ายหนึ่งต้องการรักษาฐานที่มั่นไว้ให้ได้ อีกฝ่ายต้องการเจาะฐานให้แตก เพื่อหวังครองที่นั่งการเมืองระดับชาติในสมัยหน้า

ร้อนระอุโค้งสุดท้าย ศึกชิงเก้าอี้ นายก อบจ.อุดรธานี

การเลือกตั้งนายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดอุดรธานี ครั้งนี้ดุเดือดเกินคาด ผู้สมัครจาก 2 พรรคใหญ่ลงชิงชัย ต่างเร่งเครื่องเต็มที่ในโค้งสุดท้าย การเลือกตั้งจะเกิดขึ้นในวันอาทิตย์ที่ 24 พ.ย.นี้ ใครจะเป็นผู้คว้าชัยชนะและสร้างการเปลี่ยนแปลงครั้งสำคัญให้จังหวัดอุดรธานี ไปติดตามจากรายงาน

ความเห็นนักวิชาการ คดีทักษิณ

ศาลรัฐธรรมนูญมีมติไม่รับคำร้อง นายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรีและพรรคเพื่อไทย ร่วมกันกระทำการอันเป็นการใช้สิทธิหรือเสรีภาพเพื่อล้มล้างการปกครอง ขณะที่นักวิชาการชี้ว่าไม่ได้พลิกไปจากความคาดหมาย และผลจากคดีนี้ ไม่ทำให้เกิดจุดเปลี่ยนทางการเมือง แต่ก็ยังมีจุดเสี่ยงที่ต้องระวัง