กรุงเทพฯ 17 ก.พ.-ธนาคารอาคารสงเคราะห์เผยผลคาดการณ์ตลาดที่อยู่อาศัยในปี 2564 จะเติบโตขึ้นกว่าในปี 2563 ซึ่งเป็นปีที่ได้รับผลกระทบอย่างหนักจากการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ส่งผลให้ธุรกิจพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ตกต่ำที่สุดในรอบ 10 ปี
นายวิชัย วิรัตกพันธ์ ผู้ตรวจการธนาคารอาคารสงเคราะห์ รักษาการผู้อำนวยการศูนย์ข้อมูลอสังหาริมทรัพย์ (REIC) กล่าวว่า ในปี 2563 ผู้ประกอบการเปิดตัวอยู่อาศัยใหม่ต่ำที่สุดในรอบ 10 ปี เนื่องจากได้รับผลกระทบจากสถานการณ์โควิด-19 โดยเมื่อผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ หรือ GDP มีการปรับลดลงร้อยละ 6.1 ซึ่งขยายตัวที่ต่ำสุดในรอบ 22 ปี จึงส่งผลกระทบโดยตรงต่อธุรกิจพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ด้วย ผู้ประกอบการจึงปรับตัวด้วยการลดการเพิ่มขึ้นของอุปทานใหม่เข้าสู่ตลาด เปิดขายโครงการใหม่น้อยลงเพื่อให้ที่อยู่อาศัยรอขายถูกดูดซับออกไปจากระบบ แต่ในปี 2564 นี้คาดว่า ตลาดจะปรับตัวให้มีสินค้าใหม่เข้ามาเพิ่มมากขึ้น ทดแทนสินค้าที่ถูกดูดซับไป โดยอาจเปิดตัวใหม่ 82,594 หน่วย เพิ่มขึ้นจากปี 2563 ร้อยละ 32.7
ในปี 2564 คาดว่าผู้ประกอบการยังจะลงทุนในบ้านจัดสรรมากกว่าอาคารชุดเช่นเดิม โดยสัดส่วนเปิดตัวใหม่บ้านจัดรรมากกว่าอาคารชุด เท่ากับ 57.4 : 42.6 และคาดว่าบ้านจัดสรรจะเปิดตัวใหม่ในปี 2564 เพิ่มขึ้นจากปี 2563 ร้อยละ 22.5 หรือมีจำนวนหน่วยประมาณ 43,732 หน่วย ส่วนโครงการอาคารชุดเปิดตัวใหม่ ปี 2564 คาดว่าจะเพิ่มขึ้นจากปี 2563 ร้อยละ 46.5 สัดส่วนอาจจะดูเพิ่มขึ้นมากแต่เป็นการเพิ่มขึ้นจากฐานที่ต่ำมากจากปี 2563 หรือมีจำนวนหน่วยประมาณ 38,862 หน่วย
สำหรับสถานการณ์ด้านอุปสงค์ ทาง REIC ประเมินสถานการณ์โดยรวมว่า ปี 2564 จะมีหน่วยโอนกรรมสิทธิ์ประมาณ 353,236 หน่วย จะลดลงจากปี 2563 ร้อยละ 1.5 ซึ่งการโอนกรรมสิทธิ์ที่อยู่อาศัยแนวราบจะลดลงเพียงเล็กน้อยหรือประมาณร้อยละ-0.1 ในขณะที่อาคารชุดจะลดลงร้อยละ 4.2 ด้านมูลค่าการโอนกรรมสิทธิ์คาดว่าปี 2564 จะมีมูลค่าโอนกรรมสิทธิ์ประมาณ 876,121 ล้านบาท ลงจากปี 2563 ร้อยละ 5.6 โดยมูลค่าการโอนกรรมสิทธิ์ที่อยู่อาศัยแนวราบจะลดลงร้อยละ -7.7 ขณะที่คาดว่ามูลค่าการโอนกรรมสิทธิ์อาคารชุดจะลดลงร้อยละ 1.4 ขณะที่สถานการณ์สินเชื่อที่อยู่อาศัยยังคงมีแนวโน้มลดลงต่อเนื่อง โดยในปี 2563 มูลค่าสินเชื่อที่อยู่อาศัยบุคคลปล่อยใหม่ทั่วประเทศ มีมูลค่า 612,084 ล้านบาท ลดลงจากปี 2562 ร้อยละ 4.4 และคาดว่าปี 2564 จะมีมูลค่าสินเชื่อที่อยู่อาศัยประมาณ 595,141 ล้านบาท ลดลงจากปี 2563 ร้อยละ 2.8
นายวิชัยกล่าวต่อว่า ปัจจัยบวกที่มีผลต่อตลาดอสังหาริมทรัพย์ที่จะทำให้ในปี 2564 เติบโตขึ้นกว่าปี 2563 ได้แก่ อัตราดอกเบี้ยอยู่ในระดับต่ำ การต่ออายุมาตรการลดค่าธรรมเนียม จดทะเบียนสิทธิและนิติกรรมอีก 1 ปี การลดภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างเหลือร้อยละ 10 ต่อไปอีก 1 เลื่อนการประกาศใช้ราคาประเมินที่ดินใหม่ไปในปี 2565 ผู้ประกอบการ จัดโปรโมชั่นกระตุ้นการขายราคาที่อยู่อาศัยปรับตัวลดลงอย่างต่อเนื่อง ที่สำคัญคือ มีการทยอยฉีดวัคซีนให้กับประชาชนในหลายๆ ประเทศทำให้คนไทยมีความหวังที่จะยับยั้งการแพร่ระบาดได้
สำหรับปัจจัยลบที่จะมีผลต่อตลาดอสังหาริมทรัพย์ได้แก่ หนี้สินครัวเรือนของประชาชนเพิ่มขึ้น ตลอดจนธนาคารยังคงความเข้มงวดการปล่อยสินเชื่อ ขณะที่กำลังซื้อห้องชุดจะลดลงเนื่องจากกำลังซื้อจากชาวต่างชาติมีน้อยลงเพราะยังไม่สามารถเข้าประเทศไทยได้ จึงต้องอาศัยกำลังซื้อในประเทศ ดังนั้นภาครัฐต้องดำเนินมาตรการเพื่อไม่ให้เกิดความไม่มั่นใจในประสิทธิภาพของวัคซีน รวมถึงต้องทำให้การควบคุมโรคโควิด-19 ไม่ล่าช้าเพราะจะทำให้ธุรกิจบางประเภทยังคงถูกล็อกดาวน์ การพื้นตัวของธุรกิจกลับมาช้า กระทบการจ้างแรงงานกลับเข้ามาในระบบ ซึ่งจะกระทบกำลังซื้อที่อยู่อาศัย ส่งผลให้ตลาดอสังหาริมทรัพย์อาจจะซึมต่อเนื่องได้.-สำนักข่าวไทย