กรุงเทพฯ 5 ม.ค. – เอกชนจี้รัฐ ลุยมาตรการเร่งด่วนรับมือโควิดรอบใหม่ หวังพยุงการส่งออกไทยปีนี้ โต ร้อยละ 3 -4
นางสาวกัณญภัค ตันติพิพัฒน์พงศ์ ประธานสภาผู้ส่งออกสินค้าทางเรือแห่งประเทศไทย (สรท.) พร้อมด้วยนายวิศิษฐ ลิ้มลือชา รองประธาน สรท.ร่วมกันแถลงข่าวสถานการณ์ส่งออกสินค้าทางเรือเดือนพฤศจิกายน 2563 ว่า ตัวเลขการส่งออกสินค้าทางเรือหดตัวร้อยละ 3.65 และเมื่อรวมระยะเวลาการส่งออกสินค้าทางเรือตั้งแต่เดือนมกราคม-พฤศจิกายน 2563 หดตัวร้อยละ 6.92 และคาดว่าในปี 2563 จะหดตัวร้อยละ 6.78 อย่างไรก็ตามถ้าเดือนธันวาคม 2563 ที่ผ่านมา ถ้าส่งออกได้ถึง 8,000 ล้านเหรียญสหรัฐ คาดว่าตัวเลขการส่งออกจะหดตัวร้อยละ 6
สำหรับการส่งออกสินค้าทางเรือไปยังสหรัฐอเมริกา ตั้งแต่เดือนมกราคม-พฤศจิกายน ปี 2563 ผลิตภัณฑ์ยางเติบโตร้อยละ 33.3 รถยนต์และอุปกรณ์ส่วนประกอบเติบโตร้อยละ 68.3 อาหารทะเลกระป๋องและแปรรูปเติบโตร้อยละ 12.8 อัญมณีและเครื่องประดับเติบโตร้อยละ 12.9 ส่วนการส่งออกไปยังสหภาพยุโรปหดตัวร้อยละ 8.5 จีนหดตัวร้อยละ 8.9 อาเซียนหดตัวร้อยละ 15 ส่วนกลุ่มประเทศ CLMV หดตัวร้อยละ 13.0
สภาผู้ส่งออกสินค้าทางเรือแห่งประเทศไทย ยังระบุด้วยว่า นับตั้งแต่ปี 2560-2563 ผลไม้สดแช่เเข็ง แช่เย็นมีมูลค่าการส่งออกมากที่สุดถึง 3,823 ล้านเหรียญสหรัฐ เติบโตร้อยละ 12.3 ส่วนการล็อคดาวน์ 5 จังหวัดคือ สมุทรสาคร ชลบุรี ระยอง จันทบุรีและตราด การส่งสินค้าทางเรือในไตรมาสที่ 1/2021 อาจจะยังทรงตัวหรือหดตัวเมื่อเปรียบเทียบกับไตรมาสที่ 1/2020 เนื่องจากเป็นคำสั่งซื้อล่วงหน้าแต่หลังจากนั้นอาจจะมีการหดตัวซึ่งผลกระทบที่เกิดขึ้นในประเทศไทยจะอยู่ในกลุ่มค้าปลีกเท่านั้นเพราะโดยปกติภาคธุรกิจส่งออกสินค้าทางเรือจะทำธุรกิจโดยตรงจากฟาร์มหรือสวนผลไม้ขนาดใหญ่มากกว่าการซื้อจากตลาดกลาง อย่างไรก็ตามปัญหาที่จะตามมาคือการขาดแคลนแรงงานในกลุ่มเกษตรและอุตสาหกรรมการเกษตร ประมงและอาหารแปรรูปเนื่องจากต้องพึ่งพาแรงงานต่างด้าวในกระบวนการผลิตค่อนข้างมาก
ทั้งนี้ทางสภาผู้ส่งออกสินค้าทางเรือ คาดปี 2564 การส่งออกจะขยายตัวร้อยละ 3 – 4 สินค้าที่มีแนวโน้มจะส่งออกได้มากขึ้น คือ สิ่งทอและเครื่องนุ่งห่ม เครื่องจักร อุปกรณ์ส่วนประกอบรถยนต์ น้ำมันสำเร็จรูปและข้าว โดยคาดการณ์ว่าการส่งข้าวทางเรือจะเติบโตร้อยละ 15 ยางพาราร้อยละ 5 มันสำปะหลังร้อยละ 5 ส่วนน้ำตาลทรายการส่งออกจะหดตัวร้อยละ 11 ขณะที่สินค้ากลุ่มยานพาหนะจะเติบโตร้อยละ 5
ส่วนปัจจัยที่ส่งผลกระทบต่อการส่งออกไทยในปี 2564 คือ การกลับมาของโควิด-19 ปัญหาตู้สินค้าขาดแคลนและค่าระวางเรือที่ปรับตัวสูงขึ้น ค่าเงินบาทที่มีทิศทางปรับตัวแข็งค่าขึ้นโดยอัตราแลกเปลี่ยนเงินบาทไทยกับเงินดอลลาร์สหรัฐ ณ วันที่ 2 มกราคม 2564 อยู่ที่ 29.99 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ ราคาน้ำมันที่ทรงตัวในระดับต่ำกว่าปี 2562 ซึ่ง ทาง สรท.มีข้อเสนอแนะให้รัฐบาลออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ เร่งพัฒนาประเทศไปสู่สังคมดิจิตอล เทคโนโลยี ผู้ประกอบการต้องใช้เทคโนโลยีเข้ามาช่วยให้มากยิ่งขึ้น และส่งเสริมให้ไทยเป็นศูนย์กลางการพัฒนาต่อและซ่อมตู้คอนเทนเนอร์สำหรับส่งสินค้า . – สำนักข่าวไทย