กรุงเทพฯ 26 พ.ย. – เอกชนรอลุ้นประมูลโรงไฟฟ้าขยะ 400 เมกะวัตต์ รอฟัง ก.พลังงานจะลดค่า FIT หรือไม่ โดยตามแผนจะเปิดรับซื้อ เข้าระบบราวปี 2565 ด้าน TPIPP มั่นใจจะชนะ 2 โครงการหลักที่หน่วยงานท้องถิ่น สงขลา,นครราชสีมา เปิดซองยื่นประมูล เดือน ธ.ค.นี้
นายคมกฤช ตันตระวาณิชย์ เลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน ( สำนักงาน กกพ.) กล่าวถึงกรณี ว่า ในขณะนี้เอกชนสอบถามมาเป็นจำนวนมากว่าโรงไฟฟ้าขยะชุมชนที่ผ่านความเห็นชอบจากกระทรวงมหาดไทย(มท.) และเสนอมายัง สำนักงาน กกพ. 21 โครงการ ราว 168 เมกะวัตต์ จะได้ลงทุน ก่อสร้างโรงไฟฟ้าเมื่อใดนั้น ก็ขอชี้แจงว่า เมื่อแผนพัฒนากำลังไฟฟ้าระยะยาว(พีดีพี ) ปี 2561-2580 ฉบับปรับปรุง ครั้งที่ 1 ผ่านความเห็นชอบจาก ครม.แล้ว ขั้นตอนต่อไป ก็ต้องรอทางกระทรวงพลังงาน ทบทวนกรอบการประกาศรับซื้อทั้งหมด เงินอุดหนุนการรับซื้อ หรือ FIT จะเป็นเท่าใด จะลดลงตามเทคโนโลยีที่เปลี่ยนแปลงหรือไม่ ซึ่ง กรอบฯเหล่านี้ ต้องผ่านความเห็นชอบจากคณะกรรมการบริหารนโยบายพลังงาน (กบง.) และคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ (กพช. ) เสียก่อน
“ขั้นตอนการรับซื้อโรงไฟฟ้าขยะชุมชน นั้น จะต้องรอทางนโยบาย ของกระทรวงพลังงานเมื่อ กพช.ประกาศFIT และเกณฑ์ทั้งหมด แล้ว ทางกกพ.ก็จะประกาศรับซื้อต่อไป โดยโครงการที่จะพิจารณาก็ต้องผ่านความเห็นชอบจาก มท. ในฐานะหน่วยงานกำกับดูแลองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นเสียก่อน ซึ่งกรณี 21 โครงการที่เสนอมาก่อนหน้านี้ ทาง สำนักงาน กกพ.ได้ส่งกลับไป มท.ไปแล้ว และรอให้เสนอมาใหม่ หลัง กพช.เห็นชอบ” นายคมกฤชกล่าว
ทั้งนี้ ตามแผนพีดีพี ฉบับปรุงครั้งที่ 1 กำหนดการรับซื้อไฟฟ้าขยะชุมชน 400 เมกะวัตต์ และขยะอุตสาหกรรม 44 เมกะวัตต์ โดยกำหนดผลิตไฟฟ้าเข้าระบบในปี 2565 โดยก่อนหน้านี้ นายสุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์ รองนายกรัฐมนตรีและ รมว.พลังงาน คาดว่าจะเปิดประกาศรับซื้อได้ในไตรมาส 3/64 ในขณะที่ ค่าFIT ขยะในปัจจุบัน อยู่ที่โรงไฟฟ้าวีเอสพีพีเฉลี่ 5.60 บาท/หน่วย และเอสพีพีอยู่ที่ 3.66 บาท/หน่วย
นายวรวิทย์ เลิศบุษศราคาม รองผู้จัดการใหญ่อาวุโส ฝ่ายโรงงาน บริษัท ทีพีไอ โพลีน เพาเวอร์ จำกัด (มหาชน) หรือ TPIPP กล่าวว่า ทาง บริษัท ได้ร่วมกับองค์กรปกรครองส่วนท้องถิ่นในการเตรียมพร้อม ร่วมประมูลคัดเลือกเอกชนก่อสร้างโรงไฟฟ้าขยะชุมชน โดยในเดือน ธันวาคม 2563นี้ จะมีการเปิดยื่นซองประมูล 2 โครงการ คือ จังหวัดสงขลา 8 เมกะวัตต์ และนครราชสีมา 9.9 เมกะวัตต์ ซึ่งบริษัทมั่นใจว่าจะชนะประมูลโครงการนี้ หากก่อสร้างจะใช้เงินลงทุนราว 2,000 ล้านบาท/แห่ง ในขณะเดียวกัน ก็ได้เตรียมพร้อมลงทุนโรงไฟฟ้าขยะประเภท เอสพีพี 40 เมกะวัตต์ ในพื้นที่ทับกวาง จ.สระบุรี โดยรูปแบบเป็นคลัสเตอร์ ขยะ ซึ่งโครงการนี้ก็ได้เสนอกระทรวงมหาดไทยไปแล้ว
ส่วนการที่กระทรวงพลังงานจะทบทวนอัตรารับซื้อ FIT ใหม่ หาก กำหนดในอัตราต่ำเกินไป ก็จะกระทบต่อผลตอบแทนการลงทุนของโครงการ ซึ่งกระทบไปยัง องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และเอกชนผู้ลงทุน ที่ต้องปรับรูปแบบการบริหารจัดการใหม่ โดยอาจจะต้องไปปรับเพิ่มค่ากำจัดขยะที่ขณะนี้อยู่ที่ราว 400 บาท/ตัน ซึ่งเรื่องนี้ ก็อาจทำให้องค์กรท้องถิ่นขนาดเล็ก ที่รายได้ต่ำมีผลกระทบเรื่องค่ากำจัดตามไปด้วย ดังนั้น ก็อยากให้กระทรวงพลังงานพิจารณาให้รอบด้านทั้งเรื่องการลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม และต้นทุนค่าไฟฟ้าที่มีผลต่อค่าไฟฟ้าของประชาชน
นายวรวิทย์ ยังกล่าวด้วย ศักยภาพของ TPIPP มีความพร้อมในการร่วมกับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นในการดำเนินโครงการโรงไฟฟ้าขยะอีกหลายโครงการ เพราะมีความร่วมมือในการจัดตั้งโรงงานอัดเชื้อเพลิงขยะ หรือ RDF อยู่แล้ว มีความสามารถผลิตไฟฟ้าโรงละ 9 เมกะวัตต์ ในอีก 5 พื้นที่ ได้แก่ จ. สมุทรสาคร,จ.จันทบุรี,อ.บางไทร จ.พระนครศรีอยุธยา ,ตำบลบ่อวิน อ.ศรีราชา จ.ชลบุรี และ อ.บ้านบึง จ.ชลบุรี . – สำนักข่าวไทย