กรุงเทพฯ 30 ต.ค. – รมว.ทส.ขอให้ประชาชนร่วมประเพณีลอยกระทงด้วยการใช้วัสดุจากธรรมชาติ เผยรณรงค์ต่อเนื่องได้ผล 2 ปีที่ผ่านมาใช้วัสดุที่ก่อปัญหาขยะย่อยสลายยากมาทำกระทงลดลง สะท้อนคนไทยให้ความสำคัญกับสิ่งแวดล้อมมากขึ้น
นายวราวุธ ศิลปอาชา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ทส.) กล่าวว่า วันที่ 31 ตุลาคม ซึ่งเป็นวันลอยกระทง ขอให้ประชาชนใช้กระทงที่ทำจากวัสดุธรรมชาติ จากสถิติปริมาณกระทงในกรุงเทพมหานครย้อนหลัง 8 ปี พบว่า ปริมาณกระทงมีแนวโน้มลดลง รวมทั้งกระทงที่ทำจากโฟมมีแนวโน้มลดเช่นกัน ปี 2562 ปริมาณกระทงภาพรวมลดลงกว่าปีก่อนหน้า 339,000 ใบ หรือกว่า 40.33% และมีการใช้กระทงที่ทำจากวัสดุธรรมชาติเพิ่มขึ้น สะท้อนให้เห็นว่าคนไทยให้ความสำคัญกับสิ่งแวดล้อมมากขึ้น
ทั้งนี้ ทส.มุ่งแก้ไขปัญหาขยะตกค้างในสิ่งแวดล้อมอย่างเป็นระบบ ซึ่งที่ผ่านมาไทยประสบความสำเร็จดี โดยพบว่าสามารถลดการใช้ถุงพลาสติกกว่า 25,284 ล้านใบ คิดเป็น 228,820 ตัน ยกเลิกการใช้พลาสติกหุ้มฝาขวดน้ำดื่มได้ 100% ส่วนอันดับประเทศที่มีปัญหาด้านการจัดการขยะพลาสติกในทะเลดีขึ้น จากอันดับที่ 6 เป็นอันดับที่ 10
นายจตุพร บุรุษพัฒน์ ปลัด ทส. กล่าวว่า ทส.ร่วมกับกรุงเทพมหานครรณรงค์การทำกระทงจากวัสดุจากธรรมชาติต่อเนื่อง สำหรับปี 2563 ทางกรุงเทพมหานครเตรียมพื้นที่สำหรับลอยกระทงบริเวณท่าน้ำหลายพื้นที่ เช่น วัดโพธิ์ วัดอรุณฯ วัดระฆังฯ วัดกัลยาณมิตรฯ สุขสยาม ณ ไอคอนสยาม เป็นต้น จึงกำชับอธิบดีกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช และอธิบดีกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง ให้จัดเจ้าหน้าที่อำนวยความสะดวกและดูแลความปลอดภัยบริเวณที่เป็นจุดลอยกระทงที่เป็นพื้นที่รับผิดชอบของหน่วยงานทั้งสอง ให้มีเจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัยและให้คำแนะนำในการใช้วัสดุจากธรรมชาติไม่เป็นพิษต่อสิ่งแวดล้อมมาเป็นกระทง
นายโสภณ ทองดี อธิบดีกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง กล่าวว่า ทะเลคือจุดสุดท้ายที่กระทงตกค้าง จัดเก็บไม่หมดไปสะสมกลายเป็นขยะ หากเป็นกระทงที่ผลิตจากวัสดุธรรมชาติสามารถย่อยสลายไปตามกาลเวลา สำหรับโฟมหรือพลาสติกจะคงตกค้างอยู่ในทะเลนับร้อยปี ส่งผลกระทบต่อระบบนิเวศทางทะเลและสัตว์ทะเลอย่างเป็นลูกโซ่ ขอให้ทุกคนช่วยกันรณรงค์และร่วมกันแก้ไข เพื่อสมดุลของระบบนิเวศให้คงอยู่อย่างยั่งยืนตลอดไป.-สำนักข่าวไทย