กรุงเทพฯ 28 ต.ค. – ศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจฯ ม.หอการค้าไทยเผยลอยกระทงปีนี้เงียบเหงา คาดเงินสะพัด 9,400 ล้านบาท ต่ำสุดในรอบ 9 ปี คาดปีนี้จีดีพีติดลบร้อยละ 7.5-8.5 แต่ปีหน้าบวกได้ร้อยละ 3.5-4.5
นายธนวรรธน์ พลวิชัย อธิการบดีมหาวิทยาลัยหอการค้าไทยและประธานที่ปรึกษาศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ เปิดเผยถึงผลสำรวจการใช้จ่ายในช่วงวันลอยกระทง 2563 กลุ่มตัวอย่าง 1,222 คน พบว่า ประชาชนส่วนใหญ่ ร้อยละ 42.7 วางแผนไปลอยกระทง แต่ลดลงมากเมื่อเทียบกับปีก่อน โดยมีร้อยละ 36.3 ไม่คิดไปลอยกระทง โดยมองว่าเศรษฐกิจยังไม่ดี กลัวอันตรายจากการชุมนุมและโควิด-19 ส่งผลต่อเงินสะพัดในช่วงวันลอยกระทงปีนี้ขยายตัวติดลบร้อยละ 1.5 โดยมีมูลค่าเงินสะพัดเพียง 9,429 ล้านบาท ต่ำสุดในรอบ 9 ปี นับตั้งแต่ปี 2555
อย่างไรก็ตาม แม้มีมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของภาครัฐในช่วงปลายปีไม่ว่าจะเป็นโครงการเราเที่ยวด้วยกัน โครงการคนละครึ่ง และช้อปดีมีคืน ไม่ได้มีผลต่อการกระตุ้นเศรษฐกิจมากนัก ประชาชนยังคงระมัดระวังการใช้จ่าย รัฐบาลยังจำเป็นต้องมีการอัดฉีดงบประมาณการลงทุน เพื่อให้เกิดเม็ดเงินหมุนเวียนในระบบเศรษฐกิจ แต่เวลานี้สถานการณ์ทางการเมืองเริ่มส่งผลกระทบต่อการฟื้นตัวของเศรษฐกิจมากขึ้น โดยมองว่าการฟื้นตัวอาจล่าช้าไปอยู่ในช่วงไตรมาส 3 จากเดิมศูนย์พยากรณ์ฯ มองว่าเศรษฐกิจน่าจะฟื้นตัวตั้งแต่ปลายไตรมาส 2 แต่หากการชุมนุมยืดเยื้อจนถึงสิ้นปีจะมีผลกระทบกับเศรษฐกิจทำให้ติดลบมากขึ้น เนื่องจากการเมืองจะทำให้ยอดขาย กำลังซื้อ รวมถึงการจ้างงานภายในประเทศแย่ลง หากมีผลจากการชุมนุมที่รุนแรง
นายธนวรรธน์ กล่าวว่า ความไม่สงบภายในประเทศยังมีผลต่อการตัดสินใจซื้อ รวมถึงกำลังซื้อของประชาชนจากมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาลในช่วงปลายปีไม่เห็นผลเท่าที่ควรอาจทำให้มีการชะลอการใช้จ่ายไม่มีผลต่อการกระตุ้นเศรษฐกิจ โดยทางศูนย์พยากรณ์ฯ ยังคงประมาณการตัวเลขเศรษฐกิจปีนี้ติดลบร้อยละ 7.5-8.5 และเศรษฐกิจปี 2564 ขยายตัวร้อยละ 3.5-4.5 หรือเฉลี่ยเติบโตร้อยละ 4
นอกจากนี้ ผลสำรวจความเชื่อมั่นทางด้านเศรษฐกิจของภาคธุรกิจต่อสถานการณ์ปัจจุบัน พบว่า ปัจจัยทางเศรษฐกิจที่มีผลกระทบต่อธุรกิจอันดับ 1 คือ ปัญหาโควิด-19 รองลงมา คือ จำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติ สถานการณ์ทางการเมือง สภาพคล่องทางการเงิน โดยมีผู้ประกอบการ ร้อยละ 28.33 มองว่าธุรกิจมีความเสี่ยงมากถึงขั้นปิดกิจการ โดยสามารถประคองธุรกิจอีกไม่เกิน 4.6 เดือน โดยสิ่งที่ต้องการได้จากรัฐบาลมากที่สุด คือ สินเชื่อเพื่อเสริมสภาพคล่องให้กับธุรกิจ การเพิ่มจำนวนนักท่องเที่ยวต่างประเทศ การหาตลาดใหม่ และการลดภาระหนี้
ขณะที่ความเชื่อมั่นต่อเศรษฐกิจและธุรกิจในสถานการณ์ทางการเมืองปัจจุบันนั้น พบว่าภาคธุรกิจเริ่มให้น้ำหนักกับ การเมืองมากขึ้น หลังจากก่อนหน้านี้ให้ความสำคัญกับปัญหาโควิด-19 โดยกังวลต่อการยกระดับความรุนแรงของการชุมนุมที่ส่งผลถึงความปลอดภัย การส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจและความมั่นคงของประเทศ แนวร่วมการชุมนุมที่ขยายวงกว้างและระยะเวลาในการชุมนุมยาวนานมากขึ้น ซึ่งอาจมีผลกระทบต่อการแพร่ระบาดของโควิด-19 ภายในการชุมนุมได้ และมองว่าความขัดแย้งและความเห็นต่างทางความคิดส่งผลกระทบต่อสังคมทัศนคติและความสามัคคีภายในประเทศ ทำให้ภาพลักษณ์และความน่าเชื่อถือของประเทศไทยลดลง.-สำนักข่าวไทย