กรุงเทพฯ 27 ต.ค. – กรมชลประทานทำงานตลอด 24 ชั่วโมง ตรวจหาจุดรั่วใต้ฐานเขื่อนห้วยยาง อัดฉีดน้ำปูนลดการรั่วซึมเป็นผล เร่งหาจุดรั่วเพิ่มเพื่ออุดทุกจุด ให้กลับมาใช้งานได้เร็วที่สุด
นายสัญญา แสงพุ่มพงษ์ ผู้ตรวจราชการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ รักษาราชการแทนอธิบดีกรมชลประทาน พร้อมด้วยรองอธิบดีฝ่ายก่อสร้างและฝ่ายวิชาการควบคุมการซ่อมแซมเขื่อนห้วยยางตลอดคืนที่ผ่านมา โดยเจ้าหน้าที่เร่งเจาะสำรวจหาพิดกัดจุดที่รั่วซึมบริเวณใต้ฐานเขื่อนห้วยยาง โดยวิธีอัดฉีดน้ำปูน (Grout) รวมระยะเวลากว่า 120 ชั่วโมง นับตั้งแต่วันที่ 22 ตุลาคม จนเวลาประมาณ 21.00 น. วันที่ 26 ตุลาคม ได้รับรายงานจากนายกัมปนาท ขวัญศิริกุล ผู้อำนวยการส่วนวิศวกรรมธรณีว่า ทีมสำรวจด้านวิศวกรรมชลประทานและธรณีวิทยา พบรูที่มีน้ำซึมผ่านร่องหินใต้ฐานเขื่อนแล้ว จึงทดสอบซีเมนต์ผสมโซเดียมซิลิเกตอัดฉีดลงไปในรูดังกล่าว ทำให้น้ำที่รั่วออกมาลดลงอย่างเห็นได้ชัด โดยสามารถลดอัตราการไหลลงได้ประมาณ 100 ลิตรต่อวินาที ปัจจุบันอัตราการรั่วซึมเฉลี่ย 10 ลิตร/วินาที หลังจากนี้หาจุดที่มีการรั่วซึมเพิ่มเติม เพื่อปิดช่องรอยรั่วให้ได้ทุกจุด
สำหรับสถานการณ์น้ำในเขื่อนห้วยยาง ปัจจุบันมีปริมาณน้ำในอ่าง 47.960 ล้านลูกบาศก์เมตร ระบายน้ำผ่านท่อกาลักน้ำ อาคารท่อระบายน้ำลงลำน้ำเดิมและท่อส่งน้ำ 1 วันที่ผ่านมารวม 1.224 ล้านลูกบาศก์เมตร ระดับน้ำลดลง 8 เซนติเมตร มีปริมาณน้ำไหลลงอ่าง 104,000 ลูกบาศก์เมตร รายงานสถานการณ์น้ำในพื้นที่ท้ายอ่าง พบผลกระทบจากคลองฝั่งขวา 7 แห่ง น้ำท่วมผิวถนนเลียบคลองสูงเฉลี่ย 10 เซนติเมตร ความยาวเฉลี่ยจุดละ 300 เมตร ส่วนคลองฝั่งซ้ายและคลองห้วยยางยังไม่มีผลกระทบ
ทั้งนี้ เจ้าหน้าที่กรมชลประทานได้นำเครื่องจักร-เครื่องมือ ติดตั้งในจุดต่าง ๆ เพื่อช่วยเหลือประชาชนในพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบแล้ว.-สำนักข่าวไทย