นนทบุรี 18 ต.ค. – กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์พัฒนาเทคนิคตรวจโควิด-19 จากน้ำลายสำเร็จ เตรียมหารือเพื่อนำไปใช้ตรวจแรงงานต่างด้าวที่จะเข้ามาทำงานในไทย ค่าใช้จ่ายถูกกว่าการตรวจด้วยวิธีมาตรฐานที่ต้องจ่ายต่อคนครั้งละ 1,600 บาท เหลือ 400 บาท
นายแพทย์ศุภกิจ ศิริลักษณ์ อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ เปิดเผยว่า ขณะนี้กรมฯ ได้พัฒนาเทคนิคตรวจหาเชื้อโควิด-19 สำหรับการตรวจที่ไม่ใช่เพื่อการกักตัว เทคนิคที่พัฒนาขึ้นเป็นการตรวจหาเชื้อโควิด-19 จากน้ำลาย โดยจะนำน้ำลาย 6 คน มารวมกันเป็น 1 กลุ่มแล้วตรวจหาเชื้อ หากกลุ่มใดพบว่าติดเชื้อโควิด-19 ก็แยกตรวจตัวอย่างน้ำลายรายตัวของทั้ง 6 คนอีกครั้ง เพื่อหาผู้ที่ติดเชื้อต่อไป เทคนิคการตรวจด้วยน้ำลายนี้ มีความแม่นยำ 80-90% แต่มีค่าใช้จ่ายลดลง 3-4 เท่าจากที่ปัจจุบันการตรวจมาตรฐานมีค่าใช้จ่ายต่อคนต่อครั้ง 1,600 บาท ก็จะลดลงเหลือประมาณ 400 บาท ซึ่งกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์มีแนวคิดนำเทคนิคการตรวจน้ำลายนี้ไปใช้กับกลุ่มแรงงานต่างด้าวที่จะเข้ามาทำงานในประเทศไทยเพื่อลดภาระค่าใช้จ่าย
ส่วนการกักตัวคนไทยที่เดินทางมาจากต่างประเทศในสถานกักตัวของรัฐ ปัจจุบันมีค่าใช้จ่ายเฉลี่ยคนละประมาณ 30,000 บาท ในส่วนของแรงงานต่างด้าวและนายจ้างคนไทยก็ไม่สามารถที่จะจ่ายในวงเงินนี้ได้ ทำให้มีแรงจูงใจในการลักลอบเข้าเมือง ซึ่งจะเป็นอันตรายต่อสถานการณ์โควิด-19 ที่จะแพร่ระบาดได้ เพราะจากข้อมูลการจับกุมต่างด้าวลักลอบเข้าเมืองขณะนี้กว่า 10,000 ราย ถือเป็นหลักฐานเชิงประจักษ์ว่ามีการลักลอบเข้ามาในประเทศไทย ดังนั้น หน่วยงานภาครัฐของไทยจะต้องหารือร่วมกัน เพื่อหาทางออกเพื่อลดค่าใช้จ่ายในการตรวจและกักตัวแรงงานต่างด้าวที่จะเข้ามาทำงานในประเทศไทยให้ลดลงมา เช่น ค่าใช้จ่ายเหลือประมาณ 8,000 หรือ 6,000 บาท อย่างไรก็ตาม เรื่องนี้ศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) หรือ ศบค.ยังไม่ได้มีการพิจารณา
ส่วนที่มีข่าวต่างประเทศรายงานว่าเชื้อโควิด-19 สามารถอยู่บนพื้นผิวต่าง ๆ ได้นานนั้น ประชาชนหากมีการสัมผัสก็ขอให้ล้างมือด้วยสบู่หรือเจลอนามัยสำหรับล้างมือก็จะลดโอกาสการติดเชื้อลงได้ ส่วนเชื้อโควิด-19 ที่มีรายงานข่าวว่าปนเปื้อนมาในปลาแซลมอลนั้น กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์กำลังเตรียมระบบตรวจสอบแล้ว.-สำนักข่าวไทย