กรุงเทพฯ 10 ต.ค. – คปภ.เผยทิศทางกำกับดูแลอุตสาหกรรมประกันภัยหลังโควิด-19 พร้อมรับมือกับความเสี่ยงและการเปลี่ยนแปลง พัฒนาระบบประกันภัยด้วยเทคโนโลยี รองรับนวัตกรรมใหม่ในอนาคต มุ่งคุ้มครองสิทธิประโยชน์ประชาชนเป็นสำคัญ
นายสุทธิพล ทวีชัยการ เลขาธิการคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (คปภ.) เปิดเผยว่า อุตสาหกรรมประกันภัยไทยพบกับบททดสอบใหม่ที่แตกต่างไปจากเดิม เนื่องจากระบบเศรษฐกิจโลกเข้าสู่การเปลี่ยนแปลงของโลกยุคใหม่ (New Normal) ขณะเดียวกันโลกต้องเผชิญกับการแพร่ระบาดของโควิด 19 ส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจและสังคมวงกว้าง ทำให้อุตสาหกรรมประกันภัยไทยต้องเผชิญกับการเปลี่ยนแปลงรูปแบบอย่างที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน
นายสุทธิพล กล่าวว่า ปัจจุบันการเปลี่ยนแปลงด้านเทคโนโลยีมีส่วนสำคัญในการดำรงชีวิตของคนในสังคม คปภ.จึงได้จัดทำฐานข้อมูลกลางด้านการประกันวินาศภัยและกำลังขยายผลด้านการประกันชีวิต ซึ่งโครงการทั้ง 2 จะทำให้เกิดการแลกเปลี่ยนข้อมูลกลางด้านการประกันภัย เพื่อประโยชน์ทั้งด้านการกำกับดูแล ด้านการบริการและคุ้มครองสิทธิประชาชน รวมถึงเผยแพร่ให้บริษัทประกันภัยใช้ประโยชน์ร่วมกันได้อย่างเหมาะสม นอกจากนี้ ได้จัดตั้ง Center of InsurTech, Thailand (CIT) เพื่อเป็นศูนย์กลางการพัฒนาเทคโนโลยีด้านการประกันภัย และเทคโนโลยีประกันภัยในการกำกับดูแลธุรกิจประกันภัย ให้ตอบสนองการเปลี่ยนแปลงของเทคโนโลยีที่เกิดขึ้นในปัจจุบัน รวมทั้งผลักดันให้ประเทศไทยเป็น InsurTech Startup Hub
เลขาธิการ คปภ. กล่าวเพิ่มเติมว่า มีแนวทางปรับเปลี่ยนองค์กรมุ่งสู่ Smart OIC เป็น 3 กลุ่ม ได้แก่ 1. สำนักงานจะต้องเสริมสร้างพื้นฐานภายในให้แข็งแรง 2.การสร้างรูปแบบการทำงานใหม่ และ 3.การมุ่งเน้นสู่การเป็นหน่วยงานกำกับดูแลดิจิทัล และจัดทำร่างแผนพัฒนาการประกันภัย ฉบับที่ 4 แบ่งเป็น 4 ยุทธศาสตร์หลัก คือ ยุทธศาสตร์ที่ 1 พัฒนาและส่งเสริมให้ธุรกิจประกันภัย ปรับรูปแบบการดำเนินธุรกิจให้สอดรับกับสภาพแวดล้อมใหม่ ยุทธศาสตร์ที่ 2 สร้างวัฒนธรรมการบริหารความเสี่ยงด้านการประกันภัยให้ประชาชนและภาคเอกชนยุทธศาสตร์ที่ 3 ผลักดันให้ระบบประกันภัยมีบทบาทในการสนับสนุนระบบเศรษฐกิจและสังคมอย่างยั่งยืน และยุทธศาสตร์ที่ 4 พัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านการประกันภัยเพื่อส่งเสริมการดำเนินธุรกิจประกันภัย
“ยุค New Normal คปภ.เริ่มดำเนินการที่สำคัญไปแล้วหลายโครงการและหนึ่งในโครงการที่มีความสำคัญมาก คือ โครงการพัฒนาระบบสารสนเทศที่จะเชื่อมโยงฐานข้อมูลด้านการร้องเรียน งานไกล่เกลี่ยโดยผู้ชำนาญการ และงานอนุญาโตตุลาการ ซึ่งประชาชนจะสามารถสืบค้นสถานะเรื่องร้องรียนได้ทางออนไลน์ โดยจะดำเนินการเสร็จเดือนธันวาคมนี้ ดังนั้น โครงการนี้จะเป็นของขวัญปีใหม่ให้กับพี่น้องประชาชน” นายสุทธิพล กล่าว
อย่างไรก็ตาม การทำงานเพื่อคุ้มครองสิทธิประโยชน์ของประชาชนไม่ได้ขึ้นอยู่กับสายคุ้มครองสิทธิประโยชน์เพียงอย่างเดียว แต่ขึ้นอยู่กับการเชื่อมโยงของสายคุ้มครองสิทธิประโยชน์และสายงานอื่น ๆ โดยมีบูรณาการทำงานเป็นระบบทั้งด้านกฎหมาย คดี และคุ้มครองสิทธิประโยชน์ ด้านตรวจสอบ และด้านกำกับ และเชื่อมโยงทั้งในส่วนของระบบ IT และการบูรณาการทำงานกับภาคธุรกิจประกันภัย รวมถึงเพิ่มการมีส่วนร่วมของประชาชน ทำให้การทำงานมีประสิทธิภาพมากขึ้น โดยเป้าหมายความสำเร็จของ คปภ. อยู่ที่ความเชื่อมั่นของประชาชนต่อระบบประกันภัย.-สำนักข่าวไทย