กรุงเทพฯ 7 ต.ค. – รมว.ทส.สั่งด่วน ทช.แก้ปัญหาชายหาดพระราชนิเวศน์มฤคทายวันฯ ถูกกัดเซาะ ย้ำรักษาระบบนิเวศและโบราณสถานอันทรงคุณค่า มอบหมายให้ศึกษาแนวทางแก้ไขตามหลักวิชาการ คาดเสร็จ มี.ค.64
นายวราวุธ ศิลปอาชา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ทส.) เดินทางไปตรวจปัญหาการกัดเซาะชายฝั่งบริเวณพระราชนิเวศน์มฤคทายวันฯ อ.ชะอำ จ.เพชรบุรี โดยกล่าวว่า กังวลอย่างมากเนื่องจากเป็นโบราณสถานมีสถาปัตยกรรมทรงคุณค่า ขณะนี้มีโครงสร้างป้องกันการกัดเซาะชายฝั่ง 5 ประเภท ทั้งเขื่อนกันทรายและคลื่น 2 ตัว เขื่อนป้องกันนอกชายฝั่งแบบใต้น้ำ รอดักทราย และกำแพงป้องกันคลื่นริมชายหาดความยาวกว่า 2,500 เมตร แม้เจตนารมณ์ของหน่วยงานที่ก่อสร้างมุ่งจะแก้ปัญหา แต่โครงสร้างดังกล่าวส่งผลกระทบต่อพื้นที่โดยรอบ จึงสั่งการให้กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งแก้ไขอย่างถูกหลักวิชาการ
ทั้งนี้ ในอนาคตโครงการต่าง ๆ ต้องนำมาพิจารณาให้ความเห็นชอบตามหลักวิชาการจากคณะอนุกรรมการบูรณาการด้านการจัดการการกัดเซาะชายฝั่งทะเลแต่งตั้งโดยคณะกรรมการนโยบายและแผนการบริหารจัดการทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งแห่งชาติก่อนขอรับการจัดสรรงบประมาณ ทาง ทส. แก้ไขปัญหาการกัดเซาะชายฝั่ง แต่บางพื้นที่ยังมีผลกระทบรวม 89 กิโลเมตร ซึ่งต้องบูรณาการแก้ไขปัญหาอย่างยั่งยืน
นายจตุพร บุรุษพัฒน์ ปลัด ทส. กล่าวว่า โครงสร้างต่าง ๆ ตามแนวชายฝั่งและนอกชายฝั่งพระราชนิเวศน์มฤคทายวันฯ ก่อสร้างโดยส่วนราชการอื่นปี 2549 เสร็จปี 2551 ภายหลังจากการก่อสร้างส่งผลกระทบต่อชายฝั่งบริเวณหน้าวัดไทรย้อยและหน้าโรงแรมรีเจ้นท์ ชะอำ บีช รีสอร์ท ส่งผลกระทบต่อการกัดเซาะทำให้บริเวณโดยรอบบดบังทัศนียภาพและกีดขวางการเดินเรือ จึงให้กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งเร่งรัดดำเนินการแก้ไขโดยเร่งด่วน
นายโสภณ ทองดี อธิบดีกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง (ทช.) กล่าวว่า ทช.ว่าจ้างมหาวิทยาลัย เกษตรศาสตร์จัดทำแนวทางการฟื้นฟูระบบนิเวศชายหาดในพื้นที่พระราชนิเวศน์มฤคทายวันฯ ให้สอดคล้องกับสภาพตามธรรมชาติใช้งบประมาณกว่า 2 ล้านบาท เริ่มลงนามในสัญญาตั้งแต่วันที่ 29 กันยายนที่ผ่านมา และมีกำหนดศึกษาเสร็จภายในวันที่ 27 มีนาคม 2564 พร้อมทั้งแต่งตั้งคณะผู้เชี่ยวชาญให้กำกับโครงการจ้างที่ปรึกษาศึกษา เพื่อจัดทำแนวทางการฟื้นฟูระบบนิเวศชายหาดให้สอดคล้องกับสภาพตามธรรมชาติ โดยมีผู้แทนจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ทั้งจากส่วนกลางและในพื้นที่ รวมทั้งผู้ทรงคุณวุฒิที่มีความเชี่ยวชาญและประสบการณ์ด้านการแก้ไขปัญหาโครงสร้างที่ส่งผลกระทบต่อการกัดเซาะชายฝั่งได้อย่างละเอียด รอบคอบ ถูกต้องตามหลักวิชาการ และก่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดต่อทุกฝ่าย โดยมุ่งเน้นความกลมกลืนกับธรรมชาติและความยั่งยืนของการแก้ไขปัญหา.-สำนักข่าวไทย