กรุงเทพฯ 15 ก.ย. – “สุพัฒนพงษ์” แย้ม ต.ค.ประกาศหลักเกณฑ์โรงไฟฟ้าชุมชนได้ ยังคงกรอบ 100-200 เมกะวัตต์ แม้ชุมชนจะเสนอให้เดินหน้า 700 เมกะวัตต์ก็ตาม
นายสุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์ รองนายกรัฐมนตรีและ รมว.พลังงาน กล่าวว่า ในเรื่องการประกาศหลักเกณฑ์การรับซื้อไฟฟ้าจากโรงไฟฟ้าชุมชน ยอมรับว่าล่าช้าจากเป้าหมายเดิมที่ต้องการจะประกาศให้ได้ภายในเดือน กันยายนนี้ คงจะประกาศได้เดือนตุลาคม และจะพยายามให้ประกาศเปิดรับซื้อได้ภายในปลายปีนี้ ซึ่งสาเหตุที่กำหนดหลักเกณฑ์ล่าช้า เนื่องจากหลังเข้ารับตำแหน่งงานที่ดูแลมีงานหลากหลายด้านทั้งพลังงานและเศรษฐกิจภาพรวม โดยขอยืนยันว่ายังสนับสนุนการรับซื้อเช่นเดิม และหากผู้ร่วมดำเนินโครงการกับชุมชนจะเป็นบริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฯ ก็สามารถดำเนินการได้ หากเป็นไปตาม กรอบหลักเกณฑ์ที่จพกำหนดขึ้นมาใหม่ โดยเบื้องต้นทางนายกุลิศ สมบัติศิริ ปลัดกระทรวงพลังงาน รายงานว่าจะสามารถเปิดรับซื้อได้ 100-200 เมกะวัตต์ ส่วนในอนาคตจะเปิดรับซื้อมากกว่านี้ก็คงจะต้องไปดูความเหมาะสมต่อไป
สำหรับหลักเกณฑ์หลักของโรงไฟฟ้าชุมชนที่กำลังพิจารณา คือ จะทำอย่างไรให้เกิดประโยชน์กับเกษตรกร วิสาหกิจชุมชนที่เข้าร่วมโครงการอย่างแท้จริง เพราะต้องยอมรับว่า อัตราค่าไฟฟ้าสนับสนุนที่เป็น FIT เป็นต้นทุนค่าไฟฟ้าที่สูง ประโยชน์ก็ควรจะเป็นไปตามเป้าหมายคือ ชุมชนเป็นหลัก และที่สำคัญพืชพลังงานที่จะรับซื้อเข้าโครงการ ก็จะต้องให้ราคาที่สูงกว่า การจำหน่ายในท้องตลาดทั่วไป
“ปริมาณรับซื้อที่มีข้อเรียกร้องให้รับซื้อรวม 700 เมกะวัตต์นั้น ทางกระทรวงพลังงานก็รับฟัง แต่ขอให้รับซื้อในส่วนที่พร้อมที่มีสายส่งรองรับไปก่อน 100-200 เมกะวัตต์ ซึ่งส่วนนี้เป็นการนำร่องและหากอนาคตโรงไฟฟ้าชุมชนสามารถทำได้ตามเป้าหมาย คือ ชุมชนได้ประโยชน์แท้จริง ปริมาณการรับซื้อก็อาจเพิ่มขึ้นได้ ” นายสุพัฒนพงษ์ กล่าว
ผู้สื่อข่าวรายงานว่าเมื่อเร็ว ๆ นี้ ม.ร.ว.วรากร วรวรรณ ผู้ประสานงานและประธานกลุ่มวิสาหกิจชุมชน โครงการโรงไฟฟ้าชุมชนเพื่อเศรษฐกิจฐานราก จำนวน 10 แห่ง จากจังหวัดอุดรธานี, จังหวัดนครราชสีมา, จังหวัดบุรีรัมย์ และจังหวัดจันทบุรี ทำหนังสือถึงนายสุพัฒนพงษ์ เสนอให้ดำเนินการโครงการโรงไฟฟ้าชุมชน จำนวน 700 เมกะวัตต์ โดยไม่มีการลดปริมาณลง และจัดสรรผลประโยชน์ให้เกษตรกรและผู้ลงทุนอย่างเป็นธรรม โดยเห็นว่าโครงการนี้มีประโยชน์ต่อเกษตรกรอย่างแท้จริง โดยเกษตรกรจะได้รับผลประโยชน์ที่มากขึ้นจากการปลูกพืชพลังงานทดแทนของพืชเกษตรเดิม , ได้ส่วนแบ่งจากการถือหุ้น 10 % ในโรงไฟฟ้า และได้รับเงินส่วนแบ่งจากการขายไฟฟ้า จำนวน 2 ล้านบาทต่อเมกะวัตต์ หรือ 120 ล้านบาท ภายใน 20 ปี สำหรับโครงการโรงไฟฟ้าขนาด 3 เมกะวัตต์ เพื่อนำไปต่อยอดในการทำธุรกิจที่เกี่ยวข้อง เช่น การทำห้องเย็น , เลี้ยงวัวเนื้อเพื่อส่งออก , แปรรูปผลิตภัณฑ์อาหาร และอื่น ๆ เพื่อเป็นการพึ่งพาตัวเองอย่างยั่งยืน มั่นคง และ พัฒนา ควบคู่กันไปกับการสนับสนุนจากภาครัฐ
นางปรียนาถ สุนทรวาทะ นายกสมาคมผู้ผลิตไฟฟ้าเอกชนและประธานเจ้าหน้าบริหาร บมจ.บี.กริม เพาเวอร์ กล่าวว่า บริษัทเฝ้ารอดูนโยบายโรงไฟฟ้าชุมชนว่าจะออกมาในรูปแบบใด และพร้อมจะเข้าร่วมโครงการแน่นอน โดยที่ผ่านมาได้ดำเนินการศึกษาพร้อมวิสาหิจชุมชนในพื้นที่ที่มีศักยภาพไว้ 6-7 พื้นที่ ส่วนใหญ่จะอยู่ในพื้นที่ภาคใต้และภาคกลาง ขนาดกำลังการผลิตรวมกว่า 60 เมกะวัตต์ เน้นเชื้อเพลิงชีวมวลตามวัตถุดิบของแต่ละภาค
นางปรียนาถ กล่าวว่า เมื่อเร็ว ๆ นี้สมาคมผู้ผลิตไฟฟ้าเอกชน (APPP) ได้จัดสัมมนา “ร้อยใจผู้ผลิตไฟฟ้าไทย ปี 2563”โดยมีผู้แทนจากการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย , กลุ่มบริษัทมากกว่า 40 บริษัท ทั้งผู้ผลิตไฟฟ้าเอกชน รายใหญ่ (IPP), รายเล็ก (SPP) และผู้ผลิตพลังงานทดแทน (SPP Renewable) เพื่อสร้างความสัมพันธ์ สร้างความรู้และความเข้าใจอันจะเป็นประโยชน์ต่อการทำงานร่วมกันของผู้ผลิตไฟฟ้า แลกเปลี่ยนความคิดเห็น ซึ่งจะเป็นประโยชน์สูงสุดสำหรับประเทศ และจากเทคโนโลยีที่เปลี่ยนแปลงดิจิทัลมีบทบาทในธุรกิจไฟฟ้ามากขึ้น จึงได้เชิญผู้เชี่ยวชาญมาร่วมให้ความรู้ในหัวข้อ “5G กับการพัฒนาประเทศไปสู่ Smart Nation” -สำนักข่าวไทย