กรุงเทพฯ 31 ส.ค. – ขสมก. เปิดรับฟังความเห็นทุกภาคส่วนพบส่วนใหญ่ หนุน แผนฟื้นฟู ขสมก.ฉบับใหม่ โดนใจ ราคา 30บาท/คน/วัน พบช่วยแบ่งเบาค่าใช้จ่ายผู้โดยสารได้ พร้อมเสนอแนะ นำรถร่วมเอกชน เข้าในแผนฟื้นฟูให้ได้ ขณะที่ สคบ.หนุน แผนฟื้นฟูฯ เช่นกัน
นายสุระชัย เอี่ยมวชิรสกุล ผู้อำนวยการองค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ เป็นประธานในที่ประชุมได้ชี้แจงเรื่องวัตถุประสงค์การปรับปรุงแผนฟื้นฟูกิจการองค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ โดยมีแผนการจัดหารถโดยสารโดยการเช่าจำนวน 2,511 คัน การจ้างเอกชนเดินรถจำนวน 1,500 คัน ในเส้นทางเดินรถของเอกชนที่ได้รับใบอนุญาตจำนวน 54 เส้นทาง การเก็บค่าโดยสาร 30 บาท/คน/วัน ไม่จำกัดจำนวนเที่ยว เพื่อลดภาระค่าครองชีพของประชาชน และเพื่อให้ผู้โดยสารเดินทางได้สะดวก รวดเร็วขึ้นด้วยราคาที่เป็นเครือข่ายเดียวกันโดยละเอียด
นางสาวปนัดดา ประสิทธิเมกุล ภาคประชาชนผู้ใช้รถเมล์ กล่าวว่า โดยความเห็นส่วนตัวสนับสนุนแผนฟื้นฟูฉบับใหม่ ที่กำหนดเหมาจ่าย 30 บาท/คน/วัน เพราะระยะทางของการวิ่งจะสั้นลง เพื่อให้ไม่ทับซ้อนเส้นทาง พนักงานขับรถไม่เครียด เป็นค่าใช้จ่ายที่พอรับได้ หากซื้อตั๋วเดือน ตั๋วนักเรียน นิสิต นักศึกษา และผู้สูงอายุ ก้อจะได้ลดลงไปอีก รถที่ใช้บริการประชาชนก็เป็นรถใหม่ ใช้พลังงานที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม โลกร้อนขึ้นไปทุกวัน หากได้ใช้รถเมล์แอร์ จะทำให้คุณภาพชีวิตประชาชนดีขึ้น
“ปัจจุบันคนนิยมทานอาหารแบบบุฟเฟ่ มากกว่าอลาคาส เพราะเลือกทานได้มากกว่า แม้บางอย่างไม่ได้ทาน ก็ยังคุ้มค่าอยู่ คนจึงเลือกไปทานแบบบุฟเฟ่ เรื่องฟื้นฟูรถเมล์ตามแผนฟื้นฟูฉบับใหม่ ให้เหมารายวัน 30บาท/คน/วัน ก็เช่นกัน” นางสาวปนัดดา กล่าว
นางสาวปนัดดา กล่าวด้วยว่า ส่วนที่จะเป็นช่องโหว่ คือการประสานงาน ระหว่างหน่วยงาน เช่น กรุงเทพมหานคร ทำป้ายอัจฉริยะ แต่ไม่มีการหารือกันเรื่องการเชื่อมต่อ จีพีเอส ของรถ ขสมก. แม้แต่เรื่องป้ายรถเมล์ที่เป็นมิตรกับคนสูงอายุและคนพิการ ก็ต้องประสานงานร่วมกันให้เขาได้ใช้ อันนั้นก็เป็นสิ่งที่ต้องปรับปรุงให้ดีขึ้น
ขณะที่นายกรวิชญ์ ขวัญอารีย์ แอดมินเพจเมล์เดย์ (Mayday) มีมุมมองเรื่องแผนฟื้นฟู โดยยืนยันว่าเป็นผู้ใช้บริการรถเมล์มาตั้งแต่ความจำได้ และปัจจุบันยังใช้บริการอยู่ มองว่าแผนฟื้นฟูฉบับใหม่มีเรื่องการลดภาระค่าครองชีพของประชาชนด้วยการควบคุมราคาค่าโดยสารสูงสุดให้ไม่เกิน 30 บาท/วัน จะแบ่งเบาค่าใช้จ่ายผู้โดยสารได้ดีขึ้น แต่ถ้าผู้โดยสารต้องต่อรถมากขึ้น วิธีนี้อาจจะทำให้ผู้โดยสารเสียเวลามากขึ้น และ ‘เวลา’ ก็เป็นต้นทุนอย่างหนึ่งในชีวิตของผู้โดยสาร ถ้าหากค่าโดยสาร 30 บาท/วัน ไม่สามารถต่อรองให้ใช้ร่วมกับรถเอกชนได้ จะยิ่งเป็นการสร้างภาระให้กับผู้โดยสาร ทั้งค่าใช้จ่ายที่เป็นเงินและเวลาที่เพิ่มสูงขึ้น
นายกรวิชญ์ กล่าวว่า การใช้เทคโนโลยีเข้ามาช่วยในการเดินรถ อย่างน้อยจะต้องทำให้ผู้โดยสารทราบตารางเวลาเดินรถและกำหนดระยะเวลาที่ตัวเองจะใช้เดินทางได้ มากไปกว่านั้นผู้โดยสารควรทราบได้แม้กระทั่งรถคันใดจะเป็นรถวิ่งตัดช่วง (เสริม) เพื่อบริหารเวลาการเดินทางได้ล่วงหน้าอีกด้วย
“ต้องการจะฝากถึง ผู้บริหาร ขสมก. ว่า การออกแบบเส้นทาง ที่ตอบโจทย์และครอบคลุมการเดินทางที่เปลี่ยนแปลงไปตามยุคสมัย การออกแบบตัวถัง ที่มีความปลอดภัยในทุกส่วน และเอื้อกับการใช้งานของผู้โดยสารทุกกลุ่ม การออกแบบบริการ ที่เป็นมิตรกับทุกเพศทุกวัย และคานึงความปลอดภัยดุจญาติมิตรอยู่เสมอ การออกแบบ interface เพื่อการเข้าถึงข้อมูล ที่เข้าใจง่ายและเชื่อถือได้ ไม่ว่าจะเป็น ระบบเลขสาย ป้ายบอกเส้นทาง สื่อประชาสัมพันธ์ ฯลฯ การออกแบบระบบโดยใช้เทคโนโลยีเข้ามาช่วย เช่น รักษาระยะห่างของรถแต่ละคัน เป็นต้น คำนึงถึงผู้ใช้บริการเป็นหลัก จะเสริมสร้างภาพลักษณ์ที่ดีกลับมาสู่องค์กรเอง และไม่หยุดที่จะหาหนทางใหม่ ๆ ในการพัฒนาคุณภาพการให้บริการอยู่เสมอ เพราะนั่นหมายถึงการพัฒนาองค์กรตัวเองในทางเดียวกัน”นายกรวิชญ์กล่าว
นอกจากนี้ ผู้เข้าร่วมในการประชุมครั้งนี้ ยังประกอบไปด้วย สำนักงานคณะกรรมการคุ้มครอบผู้บริโภค สำนักงานคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ศูนย์การดำรงชีวิตอิสระคนพิการจังหวัดนนทบุรี คณะกรรมการลานกีฬาพัฒน์ 1 คลองจั่น ชุมชนคนรักรถเมล์ รถเมล์ไทยดอทคอม กลุ่ม May Day ประชาชนทั่วไป
ขณะที่นายอาทิตย์ ฤทธิณรงค์ นิติกรชำนาญการ กองกฎหมายและคดี สำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค (สคบ.) ระบุว่า เห็นด้วยกับนโยบาย 30 บาท/คน/วัน ไม่จำกัดจำนวนเที่ยว เป็นโครงการที่มีประโยชน์ต่อผู้บริโภค ทำให้ผู้บริโภคประหยัดค่าใช้จ่าย สำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภคคาดหวังว่า ผู้บริโภคจะได้รับคุณภาพการบริการที่ดีมีมาตรฐาน และครอบคลุมเครือข่ายการเดินทางในกรุงเทพมหานคร และปริมณฑล . – สำนักข่าวไทย