จันทบุรี 25 ส.ค.-นายกรัฐมนตรี เปิดโครงการนำร่อง นำยางพารามาใช้เพื่อปรับปรุงเพิ่มความปลอดภัยทางถนน “ทล.”-“ทช.” ตั้งเป้าหมาย 3 ปี ทำ “แบริเออร์ ยางพารา” ไม่น้อยกว่า 1.2 หมื่นกิโลเมตรทั่วไทย
พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมเป็นประธานในพิธีเปิดโครงการนำร่องการนำยางพารามาใช้เพื่อปรับปรุงเพิ่มความปลอดภัยทางถนน (kick off) โครงการในจังหวัดจันทบุรี
นายกรัฐมนตรี กล่าวว่าในการเปิดโครงการนำร่องการนำยางพารามาใช้เพื่อปรับปรุงเพิ่มความปลอดภัยทางถนน ว่า ได้รับทราบแนวทางการนำยางพารามาใช้เพื่อปรับปรุงเพิ่มความปลอดภัยดังกล่าว โดยใช้ “แผ่นยางธรรมชาติครอบกำแพงคอนกรีต” (Rubber Fender Barrier : RFB) และ “หลักนำทางยางธรรมชาติ” (Rubber Guide Post : RGP) เพื่อเพิ่มความปลอดภัยบนท้องถนนให้แก่ประชาชน โดยมุ่งเน้นให้ใช้ยางพาราเป็นวัสดุในการปรับปรุง ก่อสร้าง เพื่อส่งเสริมการใช้น้ำยางพาราในประเทศ และสร้างสมดุลราคายางพาราให้เหมาะสม ทั้งนี้ สิ่งที่รัฐบาลต้องการในวันนี้ คือ ผลผลิตของยางพาราให้มีราคาสูงขึ้นซึ่งปัจจุบันราคายางพาราเพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง แต่ยังไม่เป็นที่พอใจเนื่องจากรัฐบาลยังต้องจ่ายค่าประกันให้กับเกษตรกรอยู่ภายใต้งบประมาณที่จำกัด แต่ในอนาคตจะต้องดำเนินการให้ยางพารามีราคาสูงโดยการใช้อย่างในประเทศถือเป็นอีกวิธีหนึ่งที่จะทำให้ยางพารามีราคาสูงขึ้นซึ่งถือว่า เป็นวิธีที่ดีที่สุดในการดำเนินการกว่าการใช้วิธีอื่น
นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม กล่าวว่า การใช้กำแพงคอนกรีตหุ้มด้วยแผ่นยางธรรมชาติ และหลักนำทางยางธรรมชาติ ถือเป็นการปักหมุดโครงการนี้ ในประเทศไทย โดยการคิกออฟโครงการ มีนิทรรศการเสมือนจริง ในการสาธิต ขั้นตอนต่าง ๆ อย่างละเอียด ตั้งแต่การผสมยาง การขึ้นแบบ การอบ จนถึงการทาสีอุปกรณ์ทั้ง 2 ชนิด พร้อมรับชมการติดตั้งใช้งาน บนถนนจริง ด้วยเวลาอันรวดเร็ว
ขณะที่นางสาว มนัญญา ไทยเศรษฐ์ เป็นรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ยืนยันว่า กรมส่งเสริมสหกรณ์ จะควบคุมกลไกในการรับซื้อและผลิตยางพาราเพื่อป้อนให้แก่กระทรวงคมนาคม และกลุ่มสหกรณ์ต่างๆ ก็จะรับซื้อในราคาที่สูงกว่าราคากลาง ของการยางแห่งประเทศไทย ซึ่งก็จะส่งผลดีในระยะยาว ช่วยให้ราคายางพาราในประเทศปรับตัวสูงขึ้น ขณะที่รัฐบาล ก็ไม่ต้องนำงบประมาณหรือแหล่งเงินไปใช้ในโครงการประกันราคา เกิดประโยชน์ในเรื่องของทิศทางราคาอย่างยั่งยืน
นายสราวุธ ทรงศิวิไล อธิบดีกรมทางหลวง (ทล.) เปิดเผยว่า ทล.ได้นำร่องนำยางพารามาใช้เพื่อปรับปรุงเพิ่มความปลอดภัยทางถนน โดยการใช้ “แผ่นยางธรรมชาติครอบกำแพงคอนกรีต” (Rubber Fender Barrier : RFB) มาติดตั้งบนถนน ทางหลวงหมายเลข 3249 ตอนเขาไร่ยา-แพร่งขาหยั่ง อำเภอเมือง จังหวัดจันทบุรี หรือถนนบำราศนราดูร จันทบุรี-เขาคิชฌกูฏ จังหวัดจันทบุรี ช่วงก่อนถึงโค้งวัดชำโสม ขนาด 4 ช่องจราจร ไป-กลับ เป็นเกาะสี ระยะทาง 400 เมตร วงเงินประมาณ 2-3 ล้านบาท ทั้งนี้ เพื่อเป็นการเพิ่มประสิทธิภาพด้านความปลอดภัย และเพิ่มการผลิตให้กับชาวสวนยางด้วย
สำหรับเส้นทางถนน ทางหลวงหมายเลข 3249 ที่ ทล.นำร่องใช้ RFB ดังกล่าวนั้น มีความพร้อมมากที่สุด เนื่องจากได้รับความร่วมมือจากสหกรณ์ชาวสวนยาง จ.จันทบุรี และถือเป็นครั้งแรกของประเทศไทย โดยเส้นทางดังกล่าวนั้น มีประชาชนสัญจรเป็นจำนวนมาก เนื่องจากเป็นเส้นทางเชื่อมการท่องเที่ยวไปยังเขาคิชฌกูฏ เป็นสถานที่ท่องเที่ยวสำคัญ ซึ่งในแต่ละปีมีนักท่องเที่ยวเดินทางจำนวนมาก ประกอบกับเป็นทางโค้ง และมีสถิติการเกิดอุบัติเหตุบ่อยครั้ง ส่งผลให้รถวิ่งข้ามเลน นำไปสู่ความสูญเสียในชีวิตและทรัพย์สิน
นายสราวุธ กล่าวต่ออีกว่า ตามแผนงานของ ทล. ในปี 2563 ระยะแรกนั้น มีแผนที่จะใช้แผ่นยางธรรมชาติครอบกำแพงคอนกรีต บริเวณถนนที่ทีเกาะสี และเกาะร่อง ระยะทางประมาณ 200 กิโลเมตร (กม.) จากถนนที่มีอยู่ในแผน 3 ปี (2563-2565) รวมระยะทาง 1,029 กิโลเมตร (กม.) อย่างไรก็ตาม หลังจากการนำร่องที่จังหวัดจันทบุรีในวันนี้ จะขยายดำเนินการไปที่จังหวัดสตูล และจังหวัดบึงกาฬต่อไป เนื่องจากเป็นพื้นที่ที่มีแหล่งผลิตยางพาราที่สำคัญ ทั้งนี้ แนวทางการดำเนินการของ ทล. นั้น ภายหลังจากการได้รับการจัดสรรงบประมาณ จะไปซื้อผลิตภัณฑ์ยางพาราตรงกับชุมนุมสหกรณ์ โดยไม่ผ่านพ่อค้าคนกลาง
ด้านนายปฐม เฉลยวาเรศ อธิบดีกรมทางหลวงชนบท กล่าวว่า ในส่วนของกรมทางหลวง มีแผนงานที่จะใช้ แผ่นยางธรรมชาติครอบกำแพงคอนกรีต หรือ Rubber Fender Barrier นี้ ในระยะเวลา 3 ปีระหว่างปี 2563-2565 เป็นระยะทางบนถนนของกรมทางหลวงชบบท 768 กิโลเมตร พร้อมยืนยันว่า การใช้งานจะเกิดความยั่งยืน โดยใน 3 ปีแรก จะมีการใช้ยางพาราสดมากกว่า 1 ล้านตัน หลังจากนั้น 3 ปีตั้งแต่ปี 2556 ภารกิจของกรมทางหลวงและกรมทางหลวงชนบทจะมีการใช้ยางพาราในทุกปีไม่น้อยกว่า 336,000 ตัน ช่วยให้เกษตรกรชาวสวนยางมีรายได้มากกว่าปีละ 9,500 ล้านบาท
อย่างไรก็ตาม จากข้อมูลการใช้งานของกระทรวงคมนาคม สำหรับภารกิจของกรมทางหลวงและกรมทางหลวงชนบทมีเป้าหมายในการผลิตระหว่างปี 2563-2565 เป็นระยะทางถนนหลวงและถนนสายรองทั่วประเทศที่จะมีการใช้งาน “รับเบอร์ เฟนเดอร์ แบริเออร์ 12,282 กิโลเมตร ใช้งบประมาณรวมกว่า 83,421 ล้านบาท
รายงานข่าวจากกระทรวงคมนาคม ระบุว่า การประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) สัญจร ที่จังหวัดระยองในวันนี้นั้น ที่ประชุม ครม. ยังได้มีมติอนุมัติงบกลางประจำปี 2563-2564 วงเงิน 2,700 ล้านบาท เพื่อในการผลิต RFB และหลักนำทางยางธรรมชาติ (Rubber Guide Post : RGP) พร้อมนำมาใช้บนถนนของ ทล. วงเงิน 1,700 ล้านบาท และกรมทางหลวงชนบท (ทช.) วงเงิน 1,000 ล้านบาท .- สำนักข่าวไทย