กรุงเทพฯ 24 ส.ค. – สถาบันคุ้มครองเงินฝากเผยสถิติคนแห่ฝากเงิน 6 เดือน รวม 80 ล้านราย วงเงิน 14.67 ล้านล้านบาท พุ่งขึ้นถึงร้อยละ 8 สูงสุดในรอบ 12 ปี เพื่อสำรองไว้ใช้จ่ายในอนาคต เพราะไม่มั่นใจในภาวะเศรษฐกิจจากพิษโควิด-19 และโยกมาฝากเงิน เพื่อความปลอดภัย มั่นคงสูง
นายทรงพล ชีวะปัญญาโรจน์ ผู้อำนวยการ สถาบันคุ้มครองเงินฝาก (สคฝ.) หรือ DPA กล่าวว่า จากการแพร่ระบาดของโควิด-19 ส่งผลกระทบต่อระบบเศรษฐกิจ ทำให้คนระมัดระวังการใช้จ่ายมากขึ้น และเก็บสภาพคล่อง ออมเงินเพื่อสำรองการใช้จ่ายในอนาคต เพราะกังวลในภาวะเศรษฐกิจที่ปรับตัวลง ประกอบกับความผันผวนในตลาดการเงิน ตลาดทุน ทำให้ผลตอบแทนลดลง นักลงทุนจึงโยกย้ายเงินลงทุนมาเข้าเงินฝากมากขึ้น เพื่อความปลอดภัย ส่งผลให้ครึ่งปี 2563 ระหว่างเดือนมกราคมถึงมิถุนายน พบว่า ประเทศไทยมีจำนวนผู้ฝากในระบบสถาบันการเงินภายใต้ความคุ้มครองของ สคฝ. รวม 80.82 ล้านราย โดยเพิ่มขึ้นร้อยละ 1.38 หรือประมาณ 1.1 ล้านราย และจำนวนเงินฝากที่ได้รับความคุ้มครอง มีจำนวนทั้งสิ้น 14.67 ล้านล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 8.12 เมื่อเทียบกับข้อมูล ณ สิ้นปี 2562 และสูงสุดในรอบ 12 ปี ตั้งแต่มีการจัดตั้งสถาบันคุ้มครองเงินฝากเมื่อปี 2551 โดยกว่าร้อยละ 98 เป็นผู้ฝากรายย่อยมีเงินฝากไม่เกิน 1 ล้านบาท
จากข้อมูลสถิติการฝากเงินในสถาบันการเงินภายใต้กฎหมายว่าด้วยการคุ้มครองเงินฝาก จากข้อมูลพบว่า ปัจจุบันปริมาณเงินฝากมีสัดส่วนเพิ่มขึ้นในกลุ่มผู้ฝากเกือบทุกกลุ่ม โดยปริมาณเงินฝากเพิ่มขึ้นสูงสุดในกลุ่มผู้ฝากบุคคลธรรมดา และผู้ฝากภาคธุรกิจ องค์กรภาครัฐ และกองทุนต่าง ๆ อีกทั้งมีการขยายตัวทุกระดับวงเงินฝาก โดยเกือบครึ่งเป็นการเพิ่มขึ้นของเงินฝากในระดับเงินฝากวงเงินสูงกว่า 25 ล้านบาท หากดูข้อมูลย้อนหลัง 3 ปี ระหว่างปี 2560 – 2562 จำนวนเงินฝากที่ได้รับความคุ้มครองเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง ปี 2560 จำนวน 12.54 ล้านล้านบาท ปี 2561 จำนวน 13.02 ล้านล้านบาท และปี 2562 จำนวน 13.56 ล้านล้านบาท
นายทรงพล กล่าวว่า ยังต้องติดตามสถานการณ์เงินฝากไตรมาส 3 และ 4 ปีนี้ว่าจะมีการปรับเปลี่ยนอย่างไร ซึ่งตามปกติอัตราการเติบโตของเงินฝากเฉลี่ยเติบโตประมาณร้อยละ 4-6 แต่ในครึ่งปีแรกโตถึงร้อยละ 8 แต่ว่าเชื่อว่าจะไม่เปลี่ยนแปลงมากนัก เพราะประชาชนยังระวังการใช้จ่าย แต่อาจมีบางส่วนที่มีการลดเงินฝากเพื่อไปลงทุนในทองคำมากขึ้น เพราะราคาทองคำปีนี้ให้ผลตอบแทนสูง ขณะที่ผู้ประกอบการบางรายนำเงินสดออกมาใช้จ่ายดำเนินธุรกิจหลังคลายล็อกดาวน์แล้ว
นายทรงพล ย้ำว่ามาตรการการคุ้มครองเงินฝากที่เป็นบัญชีเงินฝากสกุลเงินบาทภายในประเทศ มีความมั่นคงสูง ครอบคลุมบัญชีของผู้ฝากที่เป็นบุคคลธรรมดาและนิติบุคคลในสถาบันการเงินภายใต้การคุ้มครองทั้ง 35 แห่ง หากสถาบันการเงินภายใต้การคุ้มครองถูกปิดกิจการ สคฝ.จะคืนเงินฝากภายใน 30 วัน โดยปัจจุบันวงเงินคุ้มครองเงินฝากอยู่ที่ 5 ล้านบาท โดย สคฝ.มีเงินกองทุนสูงถึง 129,000 ล้านบาท ส่วนใหญ่สำรองในสินทรัพย์ที่มีสภาพคล่องคือพันธบัตรรัฐบาล และพัรธบัตรธนาคารแห่งประเทศไทย
จากข้อมูลผลตอบแทนตามประเภทสินทรัพย์เฉลี่ยย้อนหลัง 10 ปี ระหว่าง 2553 – 2562 พบว่า ผลตอบแทนการฝากเงินประเภทออมทรัพย์อยู่ที่ร้อยละ 0.72 ประเภทฝากประจำ 1 ปีอยู่ที่ร้อยละ 1.88 ประเภทพันธบัตร 3 ปีอยู่ที่ร้อยละ 2.41 ทองคำอยู่ที่ร้อยละ 2.31 JUMBO25 (หุ้น) อยู่ที่ร้อยละ 10.01 ทั้งนี้ แม้ว่าการฝากเงินยังเป็นช่องทางที่มั่นคงและมีความปลอดภัยสูง แต่ผู้ฝากยังสามารถพิจารณาการจัดสรรสินทรัพย์ (Asset Allocation) ตามความเหมาะสมและความต้องการของตนเอง โดยต้องพิจารณาและศึกษาการจัดสรรสินทรัพย์อย่างละเอียด เพื่อความปลอดภัยในการบริหารการเงินอย่างยั่งยืน ขณะนี้ สคฝ. อยู่ระหว่างการศึกษาผลิตภัณฑ์ทางการเงินต่าง ๆ เพื่อพิจารณาขยายการคุ้มครองในอนาคต.-สำนักข่าวไทย