กรุงเทพฯ 5 ส.ค. – KKP เผยตลาดรถยนต์ป้ายแดงไทยปีนี้หดตัว 35% จากพิษโควิด คาดไม่เห็นยอดขายระดับเกิน 1 ล้านคันไปอีก 10 ปี
KKP Research โดยกลุ่มธุรกิจการเงินเกียรตินาคินภัทร หรือ KKP เปิดเผยผ่านเอกสารเผยแพร่ว่า ตลาดรถยนต์ไทยได้รับผลกระทบจากทั้งรอบวัฏจักรการเปลี่ยนรถยนต์ที่ได้ผ่านพ้นไปแล้วและจากวิกฤตการณ์โควิด ส่งผลให้ตลาดรถยนต์ใหม่จะหดตัว 35% ตามภาวะเศรษฐกิจที่ได้รับผลกระทบหนักจากสถานการณ์โควิด-19 ในปีนี้ KKP Research พบว่าวัฏจักรการเปลี่ยนรถยนต์ของผู้ใช้รถในไทยอยู่ที่ประมาณ 74 เดือน หรือประมาณ 6 ปี และมีแนวโน้มสั้นลงเรื่อย ๆ
โดยรอบใหญ่ของการซื้อรถยนต์เกิดขึ้นระหว่างปี 2555-2556 ซึ่งส่วนใหญ่เป็นรถขนาดต่ำกว่า 1,500 ซีซี และรถกระบะเพื่อใช้สิทธิ์คืนภาษีสรรพสามิตตามโครงการรถคันแรกของภาครัฐในขณะนั้น ส่งผลให้รอบการเปลี่ยนรถที่เคยใช้สิทธิ์จากโครงการฯ เกิดขึ้นอีกครั้งในปี 2561 และตลาดรถยนต์ใหม่หรือรถป้ายแดงขยายตัวได้ถึง 20%
อย่างไรก็ตาม ตลาดรถยนต์ใหม่เริ่มแผ่วลงหลังจากนั้น ก่อนถูกซ้ำเติมจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 ทำให้กำลังซื้อของประชากรลดลงจากผลกระทบต่อรายได้และความเสี่ยงจากการถูกเลิกจ้าง เป็นผลให้ในช่วง 6 เดือนแรกของปีนี้ ตลาดรถใหม่หดตัวแล้วถึง 37% โดยตลอดปี 2563 KKP Research คาดว่ายอดขายรถยนต์ใหม่จะลดลงเหลือเพียง 651,000 คัน คิดเป็นการหดตัวถึง 35% จากยอดขายในปีที่แล้วที่ 1 ล้านคัน
สำหรับระยะ 10 ปีข้างหน้าตลาดรถยนต์ใหม่ในประเทศอาจไม่กลับมามียอดขายเกิน 1 ล้านคันต่อปีได้อีก โดยยอดขายรถยนต์ใหม่ในประเทศในทศวรรษที่ผ่านมายืนอยู่ในระดับเฉลี่ย 970,000 คันต่อปี และสามารถทะลุระดับ 1 ล้านคันได้ในช่วงปี 2555-2556 และ 2561-2562 ตามลำดับ ประเมินว่าแนวโน้มเศรษฐกิจไทยที่มีศักยภาพการเติบโตระดับต่ำลง โดยคาดว่ายอดขายรถใหม่ต่อปีของไทยในช่วง 10 ปีข้างหน้าอาจอยู่ในระดับเฉลี่ยประมาณ 660,000-870,000 คันเท่านั้น
ขณะที่ตลาดรถยนต์โลกกำลังหดตัวต่อเนื่องเป็นปีที่ 3 ติดต่อกันและอาจถึงจุดอิ่มตัวแล้ว ขณะที่ปี 2563 ตลาดรถยนต์โลกมีแนวโน้มจะหดตัวกว่า 20% ขณะที่ยอดขายรถในตลาดที่เคยเติบโตสูงในระหว่างปี 2550-2560 อย่างจีน อินโดนีเซีย และอินเดีย ต่างกลับมาหดตัวในระหว่างปี 2560-2562 และมีแนวโน้มหดตัวต่อเนื่องในปีนี้
ส่วนยอดขายรถยนต์มีแนวโน้มหดตัว 3 ปีติดต่อกันบ่งชี้ว่าตลาดรถยนต์โลกกำลังถึงจุดอิ่มตัว และในอนาคตอาจไม่กลับมาเติบโตได้ดีดังเดิมแม้ว่าสถานการณ์โควิด-19 จะคลี่คลายลงไป จากแนวโน้มใหญ่ทั้งด้านเทคโนโลยีและพฤติกรรมการใช้รถยนต์ที่เปลี่ยนไป ส่งผลกระทบต่ออุตสาหกรรมรถยนต์ไทยที่ปัจจุบันมีการผลิตเป็นอันดับที่ 11 ของโลก จ้างงานกว่า 750,000 คน และพึ่งพาการส่งออกถึงกว่าครึ่งหนึ่งของยอดการผลิตทั้งหมด
อย่างไรก็ตาม แม้ว่ายอดขายรถยนต์ป้ายแดงจะหดตัวแล้วถึง 37% ตลอดครึ่งปีแรก แต่ยอดขายรถมือสองที่วัดจากยอดโอนกรรมสิทธิ์รถยนต์ลดลงเพียง 15% สะท้อนให้เห็นสภาวะตลาดรถยนต์มือสองที่ยังคงแข็งแกร่งและยืดหยุ่นกว่าตลาดรถใหม่.-สำนักข่าวไทย