กรุงเทพฯ 30 ก.ค. – บีซีพีจี สบช่องเตรียมซื้อ โซลาร์แอดเดอร์ ที่เร่ขาย 300 – 400 MW. มั่นใจมีโอกาสขยายกำลังผลิต ใน สปป.ลาวเป็น 2,500 MW เน้นขายไปเวียดนาม
นายบัณฑิต สะเพียรชัย กรรมการผู้จัดการใหญ่ บมจ.บีซีพีจี (BCPG) เปิดเผยว่า โครงการลงทุนในไทยเป็นไปตามแผน มีกำลังการผลิตเข้าระบบ( COD) แล้ว 151.2 เมกะวัตต์ ทั้งโครงการโซลาร์ และพลังงานลม ขณะที่อยู่ระหว่างพัฒนาโครงการโซลาร์อีก 15.5 เมกะวัตต์ และยังมองโอกาสการลงทุนโครงการโซลาร์รุ่นเก่าที่มีผู้เสนอขายออกมามากในช่วงนี้รวมประมาณ 300-400 เมกะวัตต์ หลังจากที่เกิดสถานการณ์โควิด-19 ทำให้หลายรายมีความต้องการเงินสดมากขึ้น ซึ่งบริษัทจะเข้าไปปรับปรุงประสิทธิภาพการผลิตคาดว่าน่าจะยังคงได้รับอัตราผลตอบแทนการลงทุนในระดับราว 10% ซึ่งยังคุ้มค่ากับการลงทุน ก็น่าจะสามารถปิดดีลได้ในเร็ววันนี้ ในขณะเดียวกันยังมีแนวโน้มในลงทุนจากแผนเปิดรับซื้อไฟฟ้าโครงการพลังงานลมอีก 90 เมกะวัตต์หากคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) เปิดรับซื้อและ อาจจะนำโครงการพลังงานลมเก่าบริเวณเขาค้อ กำลังการผลิตรวม 100-200 เมกะวัตต์ ที่ ยึดสัญญาไฟฟ้า PPA กลับคืนจากรายเดิมไปแล้วออกมาประมูลใหม่
“โควิด-19 ที่เกิดขึ้นไม่มีผลกระทบต่อโรงไฟฟ้าที่ COD แล้ว แต่อาจจะกระทบต่อโรงไฟฟ้าที่อยู่ระหว่างการพัฒนา เพราะทำให้การเข้าพื้นที่ทำได้ลำบากก็อาจจะมีบางโครงการที่ล่าช้าไปเล็กน้อย อย่างในญี่ปุ่นที่อาจจะสุดไปบ้างในช่วง 3 เดือนที่ผ่านมาที่มีการล็อกดาวน์เพื่อสกัดการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 แต่เชื่อว่าคงไม่ถึงขั้นเลื่อนกำหนดการ COD “นายบัณฑิต กล่าว
นายบัณฑิต กล่าวว่า มีแผนขยายการผลิตไฟฟ้าในลาว เพื่อขายไฟฟ้าไปยังเวียดนาม ซึ่งเบื้องต้นมองโอกาสมีศักยภาพรวมกันได้สูงถึง 2,500 เมกะวัตต์ (MW) ซึ่งจะเข้ามาช่วยปิดความเสี่ยงจากโซลาร์ฟาร์มในไทยของบริษัท ที่ได้รับค่าไฟฟ้าส่วนเพิ่ม (adder) จะทยอยหมดอายุในช่วงปี 3-4 ปีข้างหน้า และการขยายลงทุนดังกล่าวจะช่วยหนุนผลการดำเนินงานในอีก 5 ปีข้างหน้า หรือจนถึงปี 68 ที่วางเป้าหมาย COD โรงไฟฟ้าในมือครบ 841.9 เมกะวัตต์ หรือเทียบเท่ากำลังการผลิตไฟฟ้าจากโซลาร์ที่ระดับ 2,200 เมกะวัตต์ จากปัจจุบันที่ COD แล้ว 451.8 เมกะวัตต์ หรือเทียบเท่ากำลังการผลิตไฟฟ้าจากโซลาร์ 1,450 เมกะวัตต์ ใน 6 ประเทศ ได้แก่ ไทย ลาว เวียดนาม ญี่ปุ่น อินโดนีเซีย และฟิลิปปินส์
“เวียดนามมีความต้องการไฟฟ้าสูง รัฐบาลลาวและเวียดนามมีเอ็มโอยูซื้อขายไฟฟ้าระหว่างกันถึง 5,000 เมกะวัตต์ การลงทุนของบริษัทจะร่วมกับพันธมิตรที่มีข้อตกลงขายไฟฟ้าแล้ว ก็ น่าจะมีผลตอบแทนที่ดีกว่าทั้งในส่วนรายได้ที่เป็นดอลลาร์สหรัฐ และสัญญาซื้อขายไฟฟ้าที่ยาวนานกว่า”นายบัณฑิตกล่าว
สำหรับการมองถึง ศักยภาพโครงการไฟฟ้า ใน สปป.ลาว ที่อาจมากถึง 2,500 เมกะวัตต์ จากปัจจุบันมีอยู่ 2 โครงการพลังน้ำ ทางตอนเหนือ รวม 114 เมกะวัตต์ คือ Nam San 3A ขนาด 69 เมกะวัตต์ และ Nam San 3B ขนาด 45 เมกะวัตต์ ปัจจุบัน COD จ่ายไฟฟ้าภายในประเทศ ก่อนจะเริ่มส่งไฟฟ้าไปเวียดนามในปี 65 และก่อสร้างสายส่ง 230 กิโลโวลต์ ) โดยสามารถส่งไฟฟ้าได้ถึง 500 เมกะวัตต์ ทำให้บริษัทมองโอกาสที่จะก่อสร้างโซลาร์ฟาร์ม 100-200 เมกะวัตต์
ส่วนทางตอนใตของพื้นที่ ปัจจุบันมีโครงการโรงไฟฟ้าพลังงานลม 600 เมกะวัตต์ ที่บริษัทร่วมทุน 45% กับพันธมิตร ทำให้มีกำลังการผลิตตามสัดส่วน 270 เมกะวัตต์ แต่ในอนาคตคาดว่าการถือหุ้นจะเพิ่มเป็นระดับ 50% โดยโครงการดังกล่าวอยู่ระหว่างรอเซ็นสัญญาซื้อขายไฟฟ้า (PPA) กับเวียดนาม คาดว่าจะลงนามได้ไม่เกินสิ้นปีนี้ พร้อมทั้งจะสร้างสายส่งขนาด 500 kV ไปยังเวียดนาม ซึ่งเพียงพอรองรับการส่งไฟฟ้าได้ถึง 2,000 เมกะวัตต์
สำหรับในญี่ปุ่น เป็นโครงการโซลาร์ฟาร์ม ปัจจุบันมีกำลังการผลิตตามสัดส่วนร่วมทุนที่ COD แล้วรวม 14.7 เมกะวัตต์ และอยู่ระหว่างพัฒนา 75 เมกะวัตต์ รวม 3 โครงการ คาดว่าจะ COD ได้ในปี 64
โครงการในฟิลิปปินส์ เป็นโครงการโรงไฟฟ้าพลังงานลม ปัจจุบันมีกำลังการผลิตตามสัดส่วนร่วมทุนที่ COD แล้วรวม 14.4 เมกะวัตต์ และอยู่ระหว่างพัฒนาอีก 5.6 เมกะวัตต์ โดยโครงการมีประสิทธิภาพอยู่ในระดับที่ดีตามกระแสลม และอยู่ระหว่างเจรจาปรับขึ้นค่าไฟฟ้าจาก 13 เซนต์/หน่วยในปัจจุบัน
โครงการในอินโดนีเซีย เป็นโครงการโรงไฟฟ้าพลังงานใต้พิภพ ปัจจุบันมีกำลังการผลิตตามสัดส่วนร่วมทุนที่ COD แล้วรวม 157.5 เมกะวัตต์ และอยู่ระหว่างเตรียมสรุปเพื่อพัฒนาเฟส 3-4 อีก 24 เมกะวัตต์ ซึ่งนับเป็นโครงการที่มีเสถียรภาพมาก และอยู่ระหว่างพิจารณาว่าจะเพิ่มประสิทธิภาพการดำเนินงานโครงการอย่างไร โดยเบื้องต้นจะรีไฟแนนซ์หนี้ราว 800 ล้านเหรียญสหรัฐ เพื่อลดต้นทุนการเงินให้ได้กำไรที่ดีขึ้น ซึ่งน่าจะเริ่มดำเนินการได้ในปีนี้ พร้อมทั้งอยู่ระหว่างเจรจาปรับขึ้นค่าไฟฟ้าด้วย . – สำนักข่าวไทย