กรุงเทพฯ 19 ต.ค.-ค่าเงินบาทกลับมาแข็งค่าอีก กสิกรไทยมองสัปดาห์หน้า เคลื่อนไหว30.20-30.50 บาทต่อดอลลาร์ฯ หุ้นไทยมีแนวรับที่ 1,620 และ 1,610 จุด แนวต้าน 1,650 และ 1,675 จุด ตามลำดับ
บริษัท ศูนย์วิจัยกสิกรไทย จำกัด รายงานว่าสัปดาห์ที่ผ่านมา (15-18 ต.ค.) เงินบาทแข็งค่าเข้าใกล้ระดับ 30.25 บาทต่อดอลลาร์ฯ อีกครั้ง โดยเงินบาทอ่อนค่าลงช่วงสั้นๆ ในช่วงต้น-กลางสัปดาห์สอดคล้องกับทิศทางของสกุลเงินอื่นๆ ในภูมิภาคท่ามกลางความกังวลเกี่ยวกับแนวโน้มการชะลอตัวของเศรษฐกิจโลก อย่างไรก็ดี เงินบาทดีดตัวกลับมาแข็งค่าขึ้นในช่วงที่เหลือของสัปดาห์ ขณะที่เงินดอลลาร์ฯ เผชิญแรงกดดันจากตัวเลขเศรษฐกิจสหรัฐฯ ที่ออกมาอ่อนแอกว่าที่คาด ซึ่งกระตุ้นการคาดการณ์เกี่ยวกับความเป็นไปได้ที่เฟดจะลดดอกเบี้ยต่อเนื่องในการประชุม ธนาคารกลางสหรัฐ ช่วงปลายเดือน ต.ค.นี้ นอกจากนี้สัญญาณบวกของข้อตกลง BREXIT ก็เป็นอีกปัจจัยที่กดดันเงินดอลลาร์ฯ เพิ่มเติมด้วยเช่นกัน
ในวันศุกร์ (18 ต.ค.) เงินบาทอยู่ที่ 30.29 บาทต่อดอลลาร์ฯ เทียบกับระดับ 30.40 บาทต่อดอลลาร์ฯ ในวันศุกร์ก่อนหน้า (11 ต.ค.)
ด้านดัชนีตลาดหุ้นไทยปิดปลายสัปดาห์ที่ระดับ 1,631.43 จุด เพิ่มขึ้นร้อยละ 0.33 จากสัปดาห์ก่อน ขณะที่มูลค่าการซื้อขายเฉลี่ยต่อวันอยู่ที่ 56,463.19 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 22.02 จากสัปดาห์ก่อน ส่วนตลาดหลักทรัพย์ mai เพิ่มขึ้นร้อยละ
0.06 จากสัปดาห์ก่อน มาปิดที่ 336.74 จุด
ดัชนีตลาดหุ้นไทยแกว่งตัวในกรอบแคบ ก่อนจะดีดตัวขึ้นช่วงกลางสัปดาห์ ท่ามกลางความคาดหวังเชิงบวกต่อประเด็น BREXIT หลังมีรายงานว่ายังมีความเป็นไปได้ที่อังกฤษและสหภาพยุโรปจะตกลงกันได้ภายในสัปดาห์นี้ อย่างไรก็ดี ดัชนีฯ ย่อตัวลงในเวลาต่อมา เนื่องจากนักลงทุนเพิ่มความระมัดระวังระหว่างรอความชัดเจนเกี่ยวกับข้อตกลงการค้าสหรัฐฯ-จีน รวมถึงการเดินหน้าข้อตกลง BREXIT ในรัฐสภาของอังกฤษและสหภาพยุโรป นอกจากนี้ ตัวเลขจีดีพีไตรมาส 3/62 ของจีนที่ออกมาอ่อนแอ ยังเป็นปัจจัยลบที่กดดันตลาดช่วงปลายสัปดาห์
สัปดาห์ถัดไป (21-25 ต.ค.) ธนาคารกสิกรไทยประเมินกรอบการเคลื่อนไหวของเงินบาทที่ 30.20-30.50 บาทต่อดอลลาร์ฯบริษัทหลักทรัพย์กสิกรไทย จำกัด มองว่า ดัชนีหุ้นไทยมีแนวรับที่ 1,620 และ 1,610 จุด ขณะที่แนวต้านอยู่ที่ 1,650 และ 1,675 จุด ตามลำดับ โดยปัจจัยสำคัญที่ต้องติดตาม คงได้แก่ ผลประกอบการของบริษัทจดทะเบียนไตรมาส 3/62 ประเด็นการค้าสหรัฐฯ-จีน ข้อสรุป BREXIT และสถานการณ์หลังสหรัฐฯ เรียกเก็บภาษีต่อสินค้านำเข้าจากสหภาพยุโรปกรณีอุดหนุนบริษัท Airbus ส่วนข้อมูลเศรษฐกิจสหรัฐฯ ที่สำคัญ ได้แก่ ยอดขายบ้านใหม่และบ้านมือสอง ยอดสั่งซื้อสินค้าคงทนเดือน ก.ย. ขณะที่ ปัจจัยต่างประเทศที่สำคัญอื่นๆ ได้แก่ การประชุมนโยบายการเงินของธนาคารกลางยุโรป ดัชนี PMI Composite (เบื้องต้น) เดือนต.ค. ของสหรัฐฯ ยูโรโซน และญี่ปุ่น-สำนักข่าวไทย