กรุงเทพฯ 21 ก.พ.-กลุ่ม
ปตท.นำเงินส่งรัฐทั้งส่วนภาษีและเงินปันผลสำหรับผลประกอบการปี 2560 วงเงินรวมกว่า
70,000 ล้านบาท เตือนคนไทยรับมือน้ำมันแพงขึ้นโดยปรับประมาณการณ์ราคาน้ำมันดิบเพิ่มจาก
55 ดอลลาร์สหรัฐ/บาร์เรลเป็น 60-65 ดอลลาร์/บาร์เรล
ย้ำซื้อหุ้นไออาร์พีซีจากออมสิน เป็นการลงทุนระยะยาวในเครือบริษัทที่เป็น Flag Ship คาดกระจายหุ้น
PTTOR เร็วสุดกลางปีหน้า ส่วนการแตกพาร์ 1ต่อ 10
เพื่อให้รายย่อยถือหุ้น ปตท.ได้เพิ่ม มี 5,000 บาทก็ซื้อได้
นายเทวินทร์ วงศ์วานิช
ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) เปิดเผยว่า
จากผลประกอบการที่ดีขึ้นในปี 2560
เป็นผลมาจากเศรษฐกิจโลกที่ดีขึ้นและการเพิ่มประสิทธิภาพการทำงานของทั้งกลุ่มปตท.
ซึ่งจะเสนอที่ประชุมผู้ถือหุ้นเพื่อจ่ายเงินปันผลรวมสำหรับผลการดำเนินงานปี
2560 ในอัตรา 20 บาทต่อหุ้น กระทรวงการคลังและกองทุนวายุภักษ์ซึ่งถือหุ้นรวมในปตท.กว่าร้อยละ
60 จะได้รับเงินปันผลรวมประมาณ 36,700 ล้านบาทและเมื่อรวมกับภาษีเงินได้นิติบุคคลของปตท.และบริษัทในเครืออีกประมาณ
34,600 ล้านบาท รวมเป็นรายได้นำส่งรัฐประมาณ 71,300 ล้านบาท เพื่อที่รัฐบาลจะได้นำเงินไปพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศต่อไป
ทั้งนี้ ผลประกอบการ ปตท.ปี 2560 มีรายได้จากการขายและให้บริการรวม
1.559 ล้านล้านบาท มีกำไรจากการดำเนินงาน 74,552 ล้านบาท
และเมื่อรับรู้ผลกำไรของบริษัทในกลุ่มตามสัดส่วนการถือหุ้นอีก 60,628 ล้านบาท
ทำให้ ปตท. และบริษัทย่อยมีรายได้รวม 1.996 ล้านล้านบาท (เพิ่มขึ้นจากปีก่อนร้อยละ
16.1) และมีกำไรสุทธิรวม 135,180 ล้านบาท (เพิ่มขึ้นจากปีก่อนร้อยละ 42.9)
คิดเป็นกำไร 46.74 บาทต่อหุ้น ซึ่งปัจจัยสำคัญที่ทำให้ผลการดำเนินงานของ ปตท.
และบริษัทในกลุ่มดีขึ้น ได้แก่ ราคาน้ำมันดิบสูงขึ้นโดยน้ำมันดิบดูไบเฉลี่ยเพิ่มขึ้นจาก
41.3 ดอลลาร์สหรัฐเป็น 53.2 ดอลลาร์ ต่อบาร์เรล (เพิ่มขึ้นร้อยละ 28.8)
ส่วนต่างราคาผลิตภัณฑ์น้ำมันและปิโตรเคมีเพิ่มขึ้น
จากสภาวะเศรษฐกิจโลกที่ดีขึ้น
เพิ่มประสิทธิภาพการทำงาน (productivity improvement) สร้างกำไรก่อนหักดอกเบี้ยและภาษี
(EBIT) สูงถึง 3.0 หมื่นล้านบาท
ทั้งการเพิ่มรายได้และลดค่าใช้จ่ายดำเนินการและค่าใช้จ่ายลงทุนรับเงินปันผลและกำไรจากการจำหน่ายหน่วยลงทุนได้แก่
หน่วยลงทุนในกองทุนดัชนีพลังงานและปิโตรเคมี (EPIF) และหุ้น SPRC
รวม 6,800 ล้านบาท เงินบาทแข็งค่าในช่วงปลายปี
ทำให้มีกำไรทางบัญชีจากอัตราแลกเปลี่ยน 13,700 ล้านบาท
นายเทวินทร์ กล่าวอีกว่า จากราคาน้ำมันดิบในช่วงต้นปี 2561 ที่แตะ 70
ดอลลาร์สหรัฐ/บาร์เรล ขณะที่เศรษฐกิจโลกขยายตัวและกลุ่มโอเปกและนอกโอเปก
ลดกำลังผลิตต่อเนื่อง
จึงคาดว่าราคาน้ำมันและก๊าซธรรมชาติปีนี้จะสูงกว่าปีที่แล้ว
ปตท.จึงปรับคาดการณ์ปีนี้ใหม่จากเดิมคาดว่า 55 ดอลลาร์สหรัฐ/บาร์เรล เป็น 60-65
ดอลลาร์/บาร์เรล
ส่วนราคาก๊าซธรรมชาติราคาสป็อต(JKM) คาดจะอยู่ที่ 6.7-8.7 ดอลลาร์สหรัฐ/ล้านบีทียู
และราคาก๊าซแหล่ง Henry Hub อยู่ที่ 2.9-3.3 ดอลลาร์สหรัฐ/ล้านบีทียู
ขณะที่ค่าการกลั่นอาจลดลงจากปี2560 จาก 7.09 ดอลลาร์สหรัฐ/บาร์เรล ลงมาอยู่ที่
6.8-7.0 ดอลลาร์สหรัฐ/บาร์เรล และราคาปิโตรเคมีมีทั้งขยับขึ้นและลดลง
สำหรับผลการดำเนินงานที่ดีขึ้นอย่างต่อเนื่องใน 3 ปีที่ผ่านมา ปตท.
ได้จัดทำแผนการลงทุน 5 ปี (2561-2565) ในวงเงิน 340,000 ล้านบาท
ครอบคลุมการขยายโครงสร้างพื้นฐานเพื่อสร้างความมั่นคงด้านพลังงาน ได้แก่
ระบบท่อส่งก๊าซธรรมชาติเส้นที่ 5 คลังรับก๊าซธรรมชาติเหลว (LNG) การปรับโครงสร้างธุรกิจค้าปลีก
การขยายธุรกิจไปต่างประเทศ รวมทั้งการศึกษาธุรกิจใหม่ที่จะเป็น New S-Curve
ในอนาคต อาทิ โครงการ Ethane Extraction โครงการความร่วมมือกับองค์การเภสัชกรรม
และ Electricity Value Chain ซึ่งส่วนใหญ่จะอยู่ในพื้นที่ EEC
ตามนโยบายไทยแลนด์ 4.0
โดยได้เตรียมงบประมาณสำรองในส่วนนี้เพิ่มอีกประมาณ 240,000 ล้านบาท
นางนิธิมา เทพวนังกูร ประธานเจ้าหน้าที่บริหารการเงิน ปตท. กล่าวว่า ปตท.ยังมีกระแสเงินสดเหลือประมาณ
100,000 ล้านบาท หลังจากที่จ่ายเงินปันผลและจ่ายภาษีรวมทั้งจ่ายเงินซื้อหุ้น
บมจ.ไออาร์พีซีจากธนาคารออมสิน ในสัดส่วนอีกเกือบร้อยละ 10 ในราคาหุ้น 7.10 บาท/หุ้น ปตท.วงเงิน 14,000
ล้านบาทแล้ว ทำให้ ปตท.ถือหุ้นไออาร์พีซีเพิ่มจากร้อยละ 38 เป็นร้อยละ 48 ก็เป็นไปตามนโยบายของ
ปตท.ที่จะถือหุ้นในบริษัทหลักหรือFlag Ship เช่น ไทยออยล์และ พีทีทีจีซี ในสัดส่วนร้อยละ 48-49
และจากที่บริษัทหลักมีความแข็งแรง ทาง ปตท.จึงไม่มีแผนควบรวมกิจการบริษัทในเครือแต่อย่างใด
โดยจากแผนบริหารประสิทธิภาพร่วมกันก็ทำให้ร่วมลดรายจ่ายเพิ่มรายได้ด้วยกันอยู่แล้ว
นางนิธิมา กล่าวด้วยว่า ในส่วนของการโอนทรัพย์สินจาก ปตท.ไปให้บริษัท
ปตท.น้ำมันและการค้าปลีก จำกัด หรือพีทีทีโออาร์ (PTTOR) ตั้งเป้าหมายจะโอนเสร็จสิ้นในวันที่
1 กรกฎาคม2561 มูลค่ากว่าแสนล้านบาท หลังจากนั้นยื่นแบบแสดงรายการข้อมูล (Filing)
ต่อสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.)
เพื่อเสนอขายหุ้นสามัญเพิ่มทุนแก่ประชาชนเป็นครั้งแรก (IPO) ซึ่งตามหลักเกณฑ์จะได้รับอนุมัติภายใน
6-8 เดือน ดังนั้นจึงคาดว่าจะกระจายหุ้นได้เร็วที่สุดในกลางปี 2562
ส่วนการจัดตั้งบริษัทปตท. ศูนย์บริหารเงิน จำกัด (PTT Treasury Center Company
Limited : PTT TCC) นั้น
ก็เพื่อความคล่องตัวและลดต้นทุนบริหารการเงิน
เพราะรัฐบาลให้สิทธิประโยชน์ด้วยการลดภาษีเงินได้นิติบุคคล
และยกเว้นภาษีเงินได้สำหรับการขายหุ้นกู้ให้กับนักลงทุนต่างประเทศ ซึ่ง ปกติแล้ว
ปตท.ต้องจ่ายแทนในอัตราร้อยละ 10-15 โดยในปีนี้
ปตท.จะมีการบริหารการเงินผ่านศูนย์นี้ประมาณ 700-800 ดอลลาร์สหรัฐ ทั้งเพื่อการลงทุนและการรีไฟแนนซ์เงินกู้ด้วย
ส่วนการที่คณะกรรมการปตท.อนุมัติการเปลี่ยนแปลงมูลค่าหุ้นที่ตราไว้
(พาร์) จากหุ้นละ 10 บาท เป็นหุ้นละ 1 บาท ทั้งนายเทวินทร์ และ นางนิธิมา กล่าวว่า
เพื่อให้ผู้ถือหุ้นรายย่อยเข้ามาเป็นผู้ถือหุ้น ปตท.ได้เพิ่มขึ้น เพราะจากราคาหุ้นปตท.ที่ขึ้นมาถึงระดับกว่า
500 บาททำให้ รายย่อยซื้อหุ้นได้ยาก เพราะต้องใช้เงินหุ้นแต่ละครั้ง 100 หุ้น
ต้องใช้เงินถึงกว่า 50,000 บาท แต่เมื่อแตกพาร์แล้ว
เท่ากับราคาหุ้นจะเหลือประมาณ 50 บาท รายย่อยก็จะใช้เงินซื้อหุ้น แต่ละครั้ง 100
หุ้นเพียง 5,000
บาทเท่านั้น จึงคาดว่า จะทำให้รายย่อยเข้ามาถือหุ้นใน ปตท.เพิ่มเป็นร้อยละ 6
จากเดิมในช่วง 2 ปีที่ผ่านมาราคาหุ้น ปตท.ขยับจาก 300 บาทมาเป็นกว่า 500 บาท
รายย่อยถือหุ้นลดลงจากร้อยละ 6-7 เหลือร้อยละ 4 เท่านั้น โดยคาดว่าจะสามารถแตกพาร์เสร็จสิ้นและประชาชนซื้อหุ้นแตกพาร์ได้ในปลายเดือนเมษายนถึงต้นเดือนพฤษภาคมนี้-สำนักข่าวไทย