ทำเนียบรัฐบาล 16 ม.ค.-คณะรัฐมนตรีไฟเขียวออกสมาร์ทวีซ่าหวังดึงผู้เชี่ยวชาญต่างชาติ
นักลงทุน เข้ามาพัฒนาประเทศ สำหรับผู้เชี่ยวชาญต่างชาติช่วยหนุน 10
กลุ่มอุตสาหกรรมเป้าหมาย
นายกอบศักดิ์ ภูตระกูล รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า
ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี เห็นชอบแผนจัดวีซ่าประเภทพิเศษ (สมาร์ทวีซ่า) เพื่อดึงดูด
นักวิจัย ผู้เชี่ยวชาญ ชาวต่างชาติ ผู้บริหารระดับสูง ผู้ประกอบการสตาร์ทอัพ
เข้ามาทำงานในไทย ใน 10 อุตสาหกรรมเป้าหมาย
อาทิ ยานยนต์แห่งอนาคต เทคโนโลยีอาหาร การบินแห่งอนาคต การท่องเที่ยว เพื่อสร้างโอกาสการเรีบนรู้เทคโนโลยีและแหล่งเงินทุนของคนไทย
หวังกระตุ้นให้เกิดการลงทุนในด้านเทคโนโลยีและนวัตกรรม
เสริมความสามารถในการแข่งขันเพิ่มขึ้น เพื่อก้าวสู่ไทยแลนด์ 4.0 เริ่มเปิดให้ขอวีซ่าได้ตั้งแต่วันที่ 1
กุมภาพันธ์นี้เป็นต้นไป
สำหรับคุณสมบัติและสิทธิประโยชน์ของสมาร์ทวีซ่า จะแบ่งเป็น 4 ประเภท
คือ กลุ่ม Smart T ซึ่งเป็นผู้เชี่ยวชาญทักษะสูงด้านวิทยาศาสตร์
เพราะเป็นสาขาที่ยังขาดแคลนในการพัฒนาด้านนวัตกรรม ได้รับวีซ่าเป็นเวลา 4 ปี
จากเดิม 90 วัน ต้องเป็นผู้ได้รับเงินเดือน 200,000 บาทต่อเดือน
มีสัญญาจ้างไม่น้อยกว่า 1 ปี มีใบรับรองจากหน่วยงานของรัฐ โดยไม่ต้องขออนุญาต
โดยคู่สมรส บุตร เข้ามาทำงานในประเทศได้ยกเว้นในสาขาห้ามคนต่างด้าวทำงาน 39 อาชีพ
เพื่อให้ครอบครัวติดตามเข้ามาอยู่อาศัยด้วย
ไม่เช่นนั้นผู้เชี่ยวชาญต่างชาติจะไม่เดินทางเข้ามาด้วย
กลุ่ม Smart I เป็นกลุ่มนักลงทุนต่างชาติในกลุ่มเป้าหมาย
ต้องลงทุนในนามบุคคลไม่น้อยกว่า 20 ล้านบาท ในกลุ่มเป้าหมาย
ต้องลงทุนในบริษัทที่ใช้เทคโนโลยีเป็นฐานในการทำธุรกิจและอยู่ในอุตสาหกรรมเป้าหมาย
เป็นต้น และกลุ่ม Smart E เป็นผู้บริหารระดับสูงทำงานในกิจการกลุ่มเป้าหมาย
เงินเดือนไม่ต่ำกว่า 200,000 บาทต่อเดือน มีประสบการณ์ไม่ต่ำกว่า 10 ปี
ดำรงตำแหน่งประธานกรรมการ กรรมการผู้จัดการ และกลุ่ม Smart S เพื่อส่งเสริมการลงทุนในสตาร์ทอัพ
ต้องทำการตั้งบริษัทภายใน 1 ปี ถือหุ้นในสัดส่วนร้อยละ 25 กลุ่ม อุตสาหกรรมเป้าหมาย ทั้งนาโนเทคโนโลยี
อิเล็คทรอนิกส์ โดยทั้ง 4
กลุ่มที่ต้องการส่งเสริมคาดว่าจะมีผู้เดินทางเข้ามาใช้สิทธิไม่เกินพันคน
จึงถือว่าไม่กระทบต่อแรงงานในประเทศ
และต้องการคนกลุ่มนี้เข้ามาช่วยพัฒนาด้านนวัตกรรม เทคโนโลยีของไทย
นายกอบศักดิ์ กล่าวอีกว่า นายกรัฐมนรีได้ย้ำในที่ประชุมคณะรัฐมนตรีว่า
รัฐบาลไม่ได้ลดบทบาทด้านพลังงานของบมจ.ปตท.และการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย(กฟผ).
ตามที่เป็นข่าว และยังต้องการส่งเสริมให้หน่วยงานด้านพลังงานดูแลรักษาความมั่นคงด้านพลังงาน
เพียงแต่ต้องการให้เกิดการแข่งขันเพิ่มขึ้น เพื่อประสิทธิภาพด้านพลังงาน
ดังนั้นกระแสข่าวการจำกัดบทบาทของหน่วยงานด้านพลังงานไม่เป็นความจริงและได้นำมติคณะรัฐมนตรีเดิมมาตีความบิดเบือน
จึงย้ำว่า ปตท.และกฟผ. ยังเป็นหน่วยงานหลักในการดูแลด้านพลังงาน.-สำนักข่าวไทย