กรุงเทพฯ 8 ก.ค. – หุ้นไทยร่วงนี้ หลัง “ทรัมป์” ยืนกรานเก็บภาษีไทย 36% นักวิเคราะห์คาดเป็นกลไกต่อรองภาษีเพิ่มเติม แนะรัฐบาลตั้งวอร์รูม ประสานเป็นเสียงเดียวต่อรองกับสหรัฐ “give and take” และพิจารณาถึงผลกระทบในแต่ละทางเลือกอย่างรอบด้าน และหาทางชดเชยผลกระทบ
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า หุ้นไทยเช้านี้ เปิดตลาดร่วงกว่า 10 จุด แต่หลังจากนั้นหุ้นไทยขยับดีขึ้น โดยเมื่อเวลา 11.21 น. หุ้นไทยลดลง 4.86 จุด ดัชนีเคลื่อนไหว 1,118 จุด หลังนายโดนัลด์ ทรัมป์ ประธานาธิบดีสหรัฐ ได้ส่งจดหมายแจ้ง 14 ประเทศ โดยในส่วนไทยคงอัตราเรียกเก็บภาษีตอบโต้ 36% มีผล 1 ส.ค.นี้ โดยปีที่แล้วไทยเกินดุลสหรัฐมูลค่า 46,000 ล้านดอลลาร์ (ราว 1.48 ล้านล้านบาท)
นายวีระวัฒน์ วิโรจน์โภคา ผอ.อาวุโส ฝ่ายวิเคราะห์ฯ บลป. เอฟเอสเอส อินเตอร์เนชั่นแนล กล่าวว่า ตัวเลขภาษีที่สหรัฐระบุจะเก็บจากไทยที่ 36 % สะท้อน คือ ดีลข้อเสนอของไทยยังไม่เป็นที่น่าพอใจ เป็นลักษณะที่เรียกร้องให้ไทยเสนอผลประโยชน์สหรัฐเพิ่มเติมแก่สหรัฐ ซึ่งน่ากังวลเมื่ออัตราภาษี ของไทยเมื่อเทียบกับคู่แข่ง เช่น เวียดนาม มาเลเซีย อินโดนีเซีย ไทยค่อนข้างสูงกว่า กระทบความสามารถด้านการแข่งขัน ก็เชื่อว่าเป็นกลยุทธ์สหรัฐที่ต้องการให้รัฐบาลไทยเสนอผลประโยชน์เพิ่มเติม เพื่อลดผลกระทบต่อการส่งออกของไทย ซึ่งหากอัตราภาษีไม่ลดลงเลย จะกระทบหลายกลุ่มหนักสุด คือ กลุ่มอาหาร อิเล็กทรอนิกส์ เกษตร ซึ่งคาดว่าไทยคงต้องเปิดนำเข้าเนื้อสัตว์ในอัตราภาษีที่ลดลง นอกจากนี้หากภาษีไทยสูงก็จะกระทบต่อการตัดสินใจเข้ามาตั้งโรงงานในไทยก็จะกระทบต่อ กลุ่มนิคมอุตสาหกรรมต่างๆ

นายศรพล ตุลยะเสถียร รองผู้จัดการ หัวหน้าสายงานวางแผนกลยุทธ์องค์กร ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) กล่าวว่า นักลงทุนได้รับทราบข้อมูลแล้ว ตั้งแต่สหรัฐเลื่อนวันบังคับใช้จาก 9 ก.ค. เป็น 1 ส.ค.ซึ่งทำให้ไทยยังมีเวลาที่เจรจากับสหรัฐ โดยจะเห็นได้ว่า ตลาดหุ้นเอเชียเช้านี้ ยังเปิดบวกอยู่ โดยตลาดฯ ติดตามสถานการณ์ แต่ยังไม่ได้มีมาตรการพิเศษที่รองรับในเรื่องนี้แต่อย่างใด เห็นว่านักลงทุนน่าจะมีข้อมูลเพียงพอ ไม่เหมือนครั้งที่สหรัฐฯ ประกาศเก็บภาษีตอบโต้ครั้งแรก
ด้าน บล.ยูโอบี เคย์เฮียน (ประเทศไทย) ระบุว่า สหรัฐส่งจดหมายเมื่อคืนนี้ วัตถุประสงค์หลักเชื่อว่าสหรัฐฯ ต้องการกดดันให้ประเทศต่างๆ ผ่อนคลายเพิ่มเติมต่อสินค้าสหรัฐฯ และสำหรับไทย อาจกดดันให้เปิดตลาดสินค้าเกษตร โดยเฉพาะเนื้อหมู ซึ่งหากสหรัฐฯ เรียกเก็บภาษีศุลกากรที่ 36% จะทำให้ GDP ปีนี้เติบโต 1.3%
นายพิพัฒน์ เหลืองนฤมิตชัย หัวหน้านักเศรษฐศาสตร์ กลุ่มธุรกิจการเงินเกียรตินาคินภัทร (KKP) วิเคราะห์ 4 ประเด็น ระบุไทยโดนภาษี 36% จากสหรัฐ เหมือนเป็นการบอกว่าสหรัฐยังไม่พอใจกับการเจรจา แต่ยังเปิดให้เจรจากันได้ต่อ นี่คงเป็นสิ่งที่นายโดนัลด์ ทรัมป์ ประธานาธิบดีสหรัฐ เรียกว่า the art of the deal
- เจ็บมากกว่ายอดส่งออกหาย ปัญหาคือสหรัฐอยู่ในสถานะที่ดีกว่าไทยในการเจรจา เพราะไทยพึ่งพาสหรัฐมากกว่าสหรัฐพึ่งพาไทย
– ส่งออก-สหรัฐฯ รับราว 18 % ของมูลค่าส่งออกไทย (กว่า 55 พันล้านดอลลาร์) ถ้าโดนภาษี 36 % คู่แข่งอย่างเวียดนาม-เม็กซิโกพร้อมเสียบ คำสั่งซื้ออาจหายทันที โดยเฉพาะอุตสาหกรรมอิเล็กโทรนิคส์ เครื่องจักร ผลิตภัณฑ์ยาง
– ภาคการผลิต ที่มีปัญหาความสามารถในการแข่งขันอยู่แล้ว อาจโดนซ้ำเติม แรงงานเสี่ยงโดนเลิกจ้าง หรือต้องย้ายสายการผลิตไปประเทศภาษีต่ำ
– เสน่ห์ FDI การลงทุนทางตรงหด หาย – นักลงทุนคงถามตรง ๆ ว่า “ตั้งโรงงานไทยแล้วต้องโดนภาษี 36 % ทำไมไม่ไปเวียดนาม?” เงินลงทุนเทคโนโลยี EV-AI อาจไหลออกตั้งแต่ยังไม่เปิดสายการผลิต - Tradeoff ที่ไม่ง่ายเลย
ไทย กำลังโดนบังคับให้เลือก (trade off) ระหว่างภาคส่งออกซึ่งสำคัญต่อเศรษฐกิจไทย กับเปิดตลาดให้สหรัฐเพิ่ม ซึ่งอุตสาหกรรมที่เราปกป้องมากที่สุดทั้งภาษีและมาตรการที่ไม่ใช่ภาษี (เช่น quota และ import bans) คือภาคเกษตร แม้มีสัดส่วนต่อเศรษฐกิจไม่มาก แต่จ้างงานจำนวนมาก และมีผลต่อธุรกิจใหญ่เล็กมหาศาล การเปิดตลาดคงกระทบต่อชีวิตคนจำนวนมากแน่ ๆ ส่วนอีกเงื่อนไขสำคัญ คือการป้องกันสินค้าจีนสวมสิทธิ์ ซึ่งอาจจะทำให้กระทบความสัมพันธ์กับจีน - การเมืองในบ้าน-ยากกว่าเจรจานอกบ้าน
ในภาวะที่การเมืองขาดเอกภาพ และเสถียรภาพ การทำงานสามกระทรวงหลักอยู่คนละพรรค คำถามคือใครจะเป็นคนเคาะ และจะเคาะได้หรือไม่ ยังไม่นับว่าบางข้อเสนออาจจะผ่านสภาอีก Internal negotiations อาจจะยากกว่า external negotiation เสียอีก การพิจารณาพูดคุยโดยมีส่วนร่วมของภาคเอกชนและประชาชน ไม่งั้นมีปัญหาแน่นอน - แล้วไทยควรต้องทำอย่างไร
ในเมื่อการเจรจาแบบ win-win น่าจะเป็นไปได้ยากในกรณีนี้ อาจจะต้องหาทาง give and take และพิจารณาถึงผลกระทบในแต่ละทางเลือกอย่างรอบด้าน และหาทางชดเชยผลกระทบ
– เข้าใจสิ่งที่สหรัฐต้องการก่อน เข้าใจว่าสหรัฐต้องการให้เราเปิดตลาดให้สินค้าสหรัฐ ลดภาษีนำเข้า ยกเลิก non tariff barrier และจัดการกับเรื่องสินค้าสวมสิทธิ์ ซึ่งเราคงต้องพิจารณาผลกระทบของแต่ละเรื่องอย่างเข้าใจจริง ๆ และเปรียบเทียบต้นทุนแต่ละทางเลือก และคงต้องหาทางออกเรื่อง transshipment แบบเอาจริง เงื่อนไขคืออะไร ทำได้จริงหรือไม่
– พิจารณาหาทางเปิดเสรีภาคเกษตรซึ่งเป็นอุตสาหกรรมที่ได้รับผลกระทบมากที่สุด อย่างค่อยเป็นค่อยไป และมีมาตรการลดผลกระทบ แต่วิธีชดเชยความเสียหายแบบเข้าใจจริง ๆ โดยต้องสื่อสารให้สาธารณชนเข้าใจประเด็น และเปิดโอกาสให้ภาคเอกชนมีส่วนร่วมในการพิจารณาทางเลือก และพูดคุย
– ไทยยังคงต้องพัฒนาความสามารถในการแข่งขัน ดึงลงทุนเทคโนโลยี-มูลค่าสูง สิทธิประโยชน์ R&D, เครดิตภาษี ให้ EV parts, AI hardware, data center มาตั้งฐานในไทย Upskill แรงงานสู่ทักษะดิจิทัล-หุ่นยนต์ เพิ่มค่าแรงเฉลี่ยและผลิตภาพ
– จัดตั้ง War-Room ให้เกิดเอกภาพความเป็นเป็นเสียงเดียว รวมคลัง-พาณิชย์-เกษตร-เอกชน ตัดสินรวดเร็ว ส่งสัญญาณชัดแก่สหรัฐฯ และนักลงทุนว่าประเทศ “เอาจริง”
– เร่งกระจายตลาดส่งออก ใช้ข้อตกลงต่างๆ เช่น RCEP, CPTPP, GCC เร่งทำ FTA กับกลุ่มประเทศใหญ่อย่าง EU เพื่อกระจายตลาดจากสหรัฐฯ. -511- สำนักข่าวไทย