นนทบุรี 21 พ.ค. – กระทรวงพาณิชย์เร่งแก้ปัญหาสินค้านำเข้าไม่มีคุณภาพและธุรกิจต่างชาติเข้าข่ายฝ่าฝืนกฎหมาย โดยเฉพาะการดำเนินธุรกิจในลักษณะ “นอมินี” พร้อมตั้งคณะทำงานระดับจังหวัดทั่วประเทศ ตรวจสอบกลุ่มเสี่ยงกว่า 46,918 ราย ใน 6 กลุ่มธุรกิจหลัก และแต่งตั้ง “สุชาติ ชมกลิ่น” เป็นที่ปรึกษาคณะทำงาน เสริมประสิทธิภาพการปฏิบัติงาน
นายพิชัย นริพทะพันธุ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ ในฐานะประธานคณะกรรมการบริหารจัดการแก้ไขปัญหาสินค้าและธุรกิจต่างประเทศที่ฝ่าฝืนกฎหมาย เป็นประธานการประชุมเพื่อติดตามการแก้ปัญหาสินค้านำเข้าไม่มีคุณภาพและธุรกิจต่างชาติเข้าข่ายฝ่าฝืนกฎหมาย โดยเฉพาะการดำเนินธุรกิจในลักษณะ “นอมินี” ตามข้อสั่งการของนายกรัฐมนตรี
นายพิชัย ระบุว่า ในช่วง 9 เดือนที่ผ่านมา หน่วยงานที่เกี่ยวข้องภายใต้คณะกรรมการฯ ได้ดำเนินคดีกับสินค้าที่ไม่มีคุณภาพและผิดกฎหมายแล้วกว่า 39,186 คดี คิดเป็นมูลค่าความเสียหายกว่า 2,074 ล้านบาท พร้อมสามารถจัดเก็บภาษีมูลค่าเพิ่มจากสินค้านำเข้าที่ราคาต่ำกว่า 1,500 บาท ได้ถึง 1,796 ล้านบาท และมีการดำเนินมาตรการ “Notice and Takedown” ถอดสินค้าผิดกฎหมายจากแพลตฟอร์มออนไลน์แล้วกว่า 10,378 รายการ ในส่วนของการดำเนินคดีกับธุรกิจนอมินี มีจำนวนรวม 857 ราย คิดเป็นมูลค่าความเสียหายกว่า 15,288 ล้านบาท โดยรัฐบาลเน้นย้ำให้การดำเนินการต้องครอบคลุมทุกมิติ ทั้งการใช้กฎหมายที่มีอยู่ และการเสนอปรับปรุงกฎหมายให้ทันสมัยสอดรับกับการเปลี่ยนแปลงของระบบการค้าโลก
ทั้งนี้ เพื่อยกระดับการทำงานให้มีประสิทธิภาพ ที่ประชุมมีมติเห็นชอบแต่งตั้งนายสุชาติ ชมกลิ่น รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์ และ พล.ต.ท.พิทยา ศิริรักษ์ เป็นที่ปรึกษาคณะอนุกรรมการ 2 ชุด ได้แก่ คณะอนุกรรมการป้องกันธุรกิจอำพรางของคนต่างด้าว (Nominee) และคณะอนุกรรมการส่งเสริมและยกระดับ SME ไทย พร้อมแต่งตั้งนายนภินทร ศรีสรรพางค์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์ เป็นประธานที่ปรึกษาคณะทำงานปราบปรามสินค้าและธุรกิจต่างประเทศที่ฝ่าฝืนกฎหมาย โดยมีนายสุชาติ และ พล.ต.ท.พิทยา เป็นที่ปรึกษาคณะทำงานเพิ่มเติมอีกตำแหน่ง และแต่งตั้งรองอธิบดีกรมการปกครอง เป็นรองประธาน เพื่อขับเคลื่อนการปฏิบัติงานในระดับพื้นที่อย่างมีประสิทธิภาพ
นายนภินทร กล่าวว่า ปัญหาธุรกิจนอมินีสะสมในประเทศไทยมานานกว่า 10 ปี เนื่องจากกฎหมายไทยไม่สามารถเอาผิดกับบริษัทที่ใช้คนไทยถือหุ้นแทนชาวต่างชาติได้อย่างมีประสิทธิภาพ โดยคณะกรรมการฯ จะดำเนินการคัดกรองบริษัทที่มีต่างชาติถือหุ้นในสัดส่วน 0.01 – 49.99% แยกตามกลุ่มธุรกิจ 6 กลุ่ม ได้แก่ 1.การท่องเที่ยว 2.อสังหาริมทรัพย์ 3.อีคอมเมิร์ซ การขนส่ง และคลังสินค้า 4.โรงแรมและรีสอร์ท 5.การเกษตร และ 6.การก่อสร้าง
จากข้อมูลพบว่า มีกลุ่มเสี่ยงรวมกว่า 46,918 รายทั่วประเทศ โดยจะจัดตั้งคณะทำงานระดับจังหวัดขึ้นในทุกจังหวัด มีรองผู้ว่าราชการจังหวัดเป็นประธาน และพาณิชย์จังหวัดเป็นเลขานุการ ร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เช่น กรมการปกครอง กรมพัฒนาธุรกิจการค้า และหน่วยงานด้านความมั่นคง เพื่อตรวจสอบข้อเท็จจริงด้านแหล่งเงินทุน ความสามารถในการดำเนินธุรกิจ และความเชื่อมโยงกับชาวต่างชาติ
กระทรวงพาณิชย์จะเสนอร่างกฎหมายเพิ่มบทลงโทษกับธุรกิจนอมินีให้ถึงขั้นสามารถยึดทรัพย์ได้ และเสนอเข้าสู่การพิจารณาของคณะรัฐมนตรีโดยเร็ว พร้อมประสานทุกฝ่ายในสภาฯ เพื่อให้กฎหมายมีผลบังคับใช้โดยเร็วที่สุด ทั้งนี้ แต่ละจังหวัดจะต้องดำเนินการตรวจสอบให้แล้วเสร็จภายใน 3 เดือน และพื้นที่ที่มีจำนวนบริษัทกลุ่มเสี่ยงจำนวนมาก จะต้องรายงานความคืบหน้าเป็นรายไตรมาสต่อไป
นายพิชัย กล่าวย้ำว่า นายกรัฐมนตรีให้ความสำคัญกับปัญหานี้เป็นอย่างมาก โดยเน้นให้ดำเนินการเชิงรุกและเห็นผลอย่างเป็นรูปธรรมภายในระยะเวลาอันสั้น พร้อมบูรณาการกับหน่วยงานด้านการแข่งขันทางการค้า เพื่อส่งเสริมระบบเศรษฐกิจที่เป็นธรรม และยกระดับภาคธุรกิจไทย โดยเฉพาะ SME ให้สามารถแข่งขันได้อย่างยั่งยืนในตลาดโลก. -512-สำนักข่าวไทย