กรุงเทพฯ 26 ก.ย. – ทุนจีนแห่ซื้อที่ดินสร้างโรงงาน รถยนต์ไฟฟ้า แบตเตอรี่ สถานีชาร์จ ดึงราคาที่ดินขยับขึ้น 2.3 เท่า กลุ่มอสังหาฯ แนะ ธปท.ลดดอกเบี้ย เสนอรัฐบาลออกมาตรการอุ้มอสังหาฯ กระตุ้นกำลังซื้อ
ดร.วิชัย วิรัตกพันธ์ ผู้ตรวจการธนาคารอาคารสงเคราะห์ และรักษาการผู้อำนวยการศูนย์ข้อมูลอสังหาริมทรัพย์ เปิดเผยว่า การเปลี่ยนแปลงราคาที่ดินเปล่าก่อนการพัฒนาในพื้นที่ EEC ประกอบด้วยจังหวัดชลบุรี จังหวัดระยอง และจังหวัดฉะเชิงเทรา ดัชนีราคาที่ดินเปล่าก่อนการพัฒนาในพื้นที่ EEC ในไตรมาส 2 ปี 2567 มีค่าดัชนีเท่ากับ 281.5 จุด เพิ่มขึ้นร้อยละ 8.3 เทียบกับปีก่อน การเติบโตของราคาที่ดินเปล่าก่อนการพัฒนายังคงปรับตัวขึ้นต่อเนื่อง แต่อยู่ในทิศทางที่ชะลอตัวลง หากเทียบกับการเพิ่มขึ้นเฉลี่ย 5 ปี ในช่วงก่อนเกิดวิกฤต COVID-19 เพราะเอกชนใช้ที่ดินน้อยลง เนื่องจากภาวะเศรษฐกิจและการลงทุนฟื้นตัวช้า
ประกอบกับปัจจัยลบ จากการยกเลิกมาตรการผ่อนปรน LTV ภาวะหนี้ครัวเรือนที่สูงเกินกว่าร้อยละ 90 ของ GDP ภาวะดอกเบี้ยนโยบายยังทรงตัวระดับสูงร้อยละ 2.50 ผู้ที่ต้องการซื้อที่อยู่อาศัยมีภาระค่าใช้จ่ายมากขึ้นแต่ความสามารถในการซื้อที่อยู่อาศัยลดลง ปัจจัยเหล่านี้ได้ส่งผลให้ภาคอสังหาริมทรัพย์เกิดการชะลอตัวมากในช่วงที่ผ่านมา อาจส่งผลให้ผู้ประกอบการ ต้องการซื้อที่ดินเพื่อสะสมลดลง เนื่องจากผู้ประกอบการจะต้องมีต้นทุนการถือครองที่ดินจากการชำระภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง โดยในปี 2567 รัฐไม่มีมาตรการลดภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง จึงเป็นอีกเหตุผลหนึ่งที่ทำให้อุปสงค์ของที่ดินในพื้นที่ EEC ชะลอตัวลง พื้นที่ส่วนใหญ่ยังเป็นพื้นที่ทางการเกษตรยังไม่เหมาะกับการนำมาพัฒนาเป็นโครงการที่อยู่อาศัย ในขณะที่พื้นที่อีกส่วนเป็นพื้นที่ที่นำไปพัฒนาเป็นนิคมอุตสาหกรรม
สำหรับดัชนีราคาที่ดินเปล่าก่อนการพัฒนาในพื้นที่ EEC ในไตรมาส 2 ปี 2567 เพิ่มขึ้นเพราะราคาที่ดินเปล่าในพื้นที่จังหวัดระยองมีค่าดัชนีเท่ากับ 230.8 จุด เพิ่มขึ้นมากที่สุดถึงร้อยละ 22.9 เนื่องมาจากมีทุนจีนเข้ามาซื้อที่ดินสร้างโรงงานเกี่ยวกับอุตสาหกรรมรถยนต์ไฟฟ้า เช่น แบตเตอรี่ ที่ชาร์จ ในทำเลนิคมอุตสาหกรรมในพื้นที่จังหวัดระยองจำนวนมาก และมีกลุ่มผู้ผลิตรถยนต์ไฟฟ้า รายใหญ่จากประเทศจีน อาทิ แบรนด์บีวายดี (BYD) ฉางอาน (Changan) เข้ามาลงทุนในพื้นที่นิคมอุตสาหกรรมระยอง โดยเฉพาะทำเลนิคมพัฒนาปลวกแดง ส่งผลให้ราคาที่ดินขยับขึ้นประมาณ 2.3 เท่า เมื่อเทียบกับปี 2558 ที่เป็นปีฐาน (100.0 จุด)
โดยนักลงทุนนิยมลงทุนในจังหวัดระยอง มากกว่าจังหวัดชลบุรี เนื่องจากราคาที่ดินในจังหวัดระยองยังมีราคาต่ำกว่าจังหวัดชลบุรีประมาณ 30 – 40%รองลงมาพื้นที่จังหวัดชลบุรีมีค่าดัชนีเท่ากับ 332.0 จุด สำหรับราคาที่ดินเพิ่มสูงสุด 5 อันดับแรก
อันดับ 1 ได้แก่ ที่ดินอำเภอบ้านฉาง อยู่ในจังหวัดระยอง ราคาที่ดินสูงขึ้นร้อยละ 52.5
อันดับ 2 ได้แก่ ที่ดินอำเภอแกลง อยู่ในจังหวัดระยอง ราคาที่ดินสูงขึ้น
ร้อยละ 34.5 เพื่อนำไปพัฒนาโครงการที่อยู่อาศัย
อันดับ 3 ได้แก่ ที่ดินอำเภอบางปะกง อยู่ในจังหวัดฉะเชิงเทรา สูงขึ้นร้อยละ 31.0 คนจากกรุงเทพมหานครให้ความสนใจเพิ่ม
อันดับ 4 ได้แก่ ที่ดินอำเภอสัตหีบ อยู่ในจังหวัดชลบุรี ราคาที่ดินสูงขึ้นร้อยละ 26.8
อันดับ 5 ได้แก่ ที่ดินทำเลอำเภอนิคมพัฒนา จังหวัดระยอง ราคาที่ดินสูงขึ้นร้อยละ 17.3
ที่ดินทั้ง 5 อันดับได้รับสิทธิประโยชน์เพิ่ม จากแผนผังการใช้ประโยชน์ที่ดิน ทำให้ที่ดินในพื้นที่ดังกล่าวใช้ประโยชน์ได้มากขึ้น จึงทำให้ราคาที่ดินมีมูลค่าเพิ่มขึ้นตามด้วย
ดร.วิชัย วิรัตกพันธ์ ผู้ตรวจการธนาคารอาคารสงเคราะห์ และรักษาการผู้อำนวยการศูนย์ข้อมูลอสังหาริมทรัพย์, นายอนะวัฒน์ นาวินธรรม อุปนายกสมาคมอาคารชุดไทย และนายเปรมสรณ์ ศรีวิบูลย์ชัย กรรมการผู้จัดการ บ.วีพี เรียบเอสเตท พร็อพเพอร์ตี้ ดีเวลล็อบเม้นท์ เสนอให้ ธปท.ลดดอกเบี้ยนโยบาย เพื่อลดภาระต้นทุนเงินกู้ทั้งผู้ประกอบการและผู้ซื้อบ้าน การหาช่องทางให้สถาบันการเงินผ่อนปรนเงื่อนไขการปล่อยกู้ เพื่อให้รายย่อยกู้เงินซื้อบ้าน เนื่องจากยอดปฏเสธการให้กู้เงินยังสูง การขยายเวลา LTV ในการดาวน์บ้านให้กับผู้ซื้อ แนวทางดึงดูดซื้อบ้านไม่เกิน 1.5 ล้านบาท จากผู้ประกอบการที่ได้รับการส่งเสริมการลงทุนจากบีโอไอ และเสนอให้รัฐบาลเดินหน้าพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานในเขตอีอีซีให้คืบหน้าอย่างจริงจัง เพื่อสร้างความเชื่อมั่นกับนักลงทุนต่างชาติและชาวบ้านในพื้นที่ภาคตะวันออก. -515-สำนักข่าวไทย