กรุงเทพฯ 25 ก.ย. – ม.หอการค้าไทย-หอการค้าไทย มองเงิน 10,000 บาท เฟสแรกจะหมุนเงินในระบบได้ถึง 3 รอบ ประสานเสียงแนะรัฐบาลตีเหล็กตอนร้อน ออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจต่อเนื่อง ทั้งลดหย่อนภาษีสินค้า-ท่องเที่ยว เพื่อดันจีดีพีไทยให้ใกล้เคียง 3%
รศ.ดร.ธนวรรธน์ พลวิชัย อธิการบดีมหาวิทยาลัยหอการค้าไทย กล่าวว่า การแจกเงินดิจิทัล 10,000 บาท เฟสแรก รวม 1.45 แสนล้านบาท ซึ่งทยอยโอนเงินเข้าบัญชีกลุ่มเปราะบางตั้งแต่เที่ยงคืนที่ผ่านมาว่า น่าจะถูกใช้ในพื้นที่เป็นหลัก และน่าจะถูกใช้ทันทีภายในสัปดาห์แรก เพราะเป็นการจ่ายเงินสด ที่สามารถใช้ได้ทันที และใช้ที่ไหนก็ได้ ซื้ออะไรก็ได้โดยไม่มีข้อจำกัด ซึ่งจากการสำรวจของมหาวิทยาลัยหอการไทย และการสำรวจของรัฐบาลพบว่า ประชาชนจะใช้เงิน 1 หมื่นบาท กับสินค้าอุปโภคบริโภคเป็นหลัก รองลงมาคือใช้ในการต่อยอดธุรกิจหรือต่อยอดหารายได้ เช่น ลงทุนซื้ออุปกรณ์ทำมาหากิน และมีบางส่วนประมาณ 20% บอกว่าจะนำไปใช้หนี้นอกระบบ ดังนั้น เม็ดเงิน 1.45 แสนล้านบาท น่าจะหมุนเวียนในระบบได้อย่างน้อย 2-3 รอบ รอบแรกคือประชาชนซื้อของตามร้านค้าในชุมชน ซึ่งการแจกเงิน 1 หมื่นบาท เฟสแรกจะเป็นการใช้จ่ายเงินพร้อมๆ กันทั้ง 77 จังหวัด และเป็นการใช้จ่ายสำหรับกลุ่มคนที่ซื้อของในตลาดสดเป็นสำคัญ ซึ่งจะทำให้เงินสะพัดอย่างรวดเร็ว อีกทั้งจะเป็นการใช้เกือบเต็มจำนวน ซึ่งจะมีส่วนช่วยกระตุกเศรษฐกิจให้มีความคึกคักสูงในช่วงเดือนตุลาคม จากนั้นจะเห็นเงินหมุนในรอบที่ 2 คือร้านค้าชุมชนซื้อสินค้าจากร้านค้าใหญ่ในอำเภอ หรือในจังหวัด และรอบสามก็จะเป็นการใช้จ่ายในภาคส่วนต่างๆ ของประเทศ ซึ่งจะส่งเสริมให้บรรยากาศของวันลอยกระทงในเดือนพฤศจิกายน และบรรยากาศการท่องเที่ยวในไตรมาสที่ 4 คึกคักมากขึ้น หลังจากนั้นในช่วงปีใหม่ก็จะมีเม็ดเงินมากระตุ้นมากขึ้น
อย่างไรก็ตาม อยากฝากหน่วยงานภาครัฐเก็บบันทึกข้อมูลชี้วัดความสำเร็จของมาตรการ โดยดูจากปริมาณการเติมน้ำมัน อัตราการเข้าพักในโรงแรมที่พักในพื้นที่ต่างๆ รวมถึงการจัดเก็บภาษีมูลค่าเพิ่มของสรรพากรแต่ละพื้นที่ว่าเพิ่มขึ้นในอัตราเท่าใด เพื่อให้การแจกเงิน 10,000 บาท เฟสที่ 2 สำเร็จตรงตามเป้าหมาย และมีความคุ้มค่า พร้อมแนะรัฐบาลออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจเพิ่มเติมช่วงปลายปี 2567 เพื่อให้เศรษฐกิจไทยโดดเด่น และโตได้ถึง 3% ในปีหน้า เช่น มาตรการคูณ 2 หรือมาตรการคนละครึ่ง ในช่วงปีใหม่ หรือมาตรการลดหย่อนภาษีสำหรับการซื้อสินค้าที่เป็นของขวัญปีใหม่หรือของที่ระลึก ซึ่งส่วนนี้รัฐบาลไม่ต้องออกเงินแม้แต่บาทเดียว
“ม.หอการค้าไทย คาดว่าการแจกเงิน 10,000 บาท จะช่วยให้จีดีพี ไตรมาสที่ 4 โต 3.8-4.3% ซึ่งจะทำให้เศรษฐกิจไทยครึ่งปีหลังเติบโตได้เฉลี่ย 3-3.5% เมื่อรวมกับครึ่งปีแรกที่โตได้ 1.9% ก็น่าจะผลักให้เศรษฐกิจไทยทั้งปี ขยายตัวได้ 2.6-2.8% ซึ่งโตจากที่คาดไว้เดิม 0.2-0.3% หากรัฐบาลเห็นโมเมนตัมนี้ แล้วเร่งกระตุ้นเศรษฐกิจเพิ่มเติม ทั้งการลดหย่อนภาษีจากการซื้อสินค้า มาตรการกระตุ้นการท่องเที่ยว เรียกว่าตีเหล็กตอนร้อน ก็อาจจะได้เห็นตัวเลขเศรษฐกิจใกล้เคียง 3% ได้ เพราะขณะนี้เศรษฐกิจโลกเป็นบรรยากาศที่เกื้อหนุนได้ จากธนาคารกลางหลายประเทศลดดอกเบี้ย หุ้นไทยเองก็โดดเด่นขึ้น ดังนั้นการจับจ่ายใช้สอยของทั้งคนไทยและชาวต่างชาติที่มาเที่ยวไทยก็น่าจะมีมากขึ้น ขณะเดียวกันก็ควรดูแลค่าเงินบาทให้แกว่างตัวอยู่ในกรอบ 33-34 บาท ให้ได้ ก็จะเป็นปัจจัยบวกต่อเศรษฐกิจไทย” รศ.ดร.ธนวรรธน์ กล่าว
เช่นเดียวกับนายสนั่น อังอุบลกุล ประธานกรรมการหอการค้าไทยและสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย ที่บอกว่าการแจกเงินสด 10,000 บาท จะช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจให้ โตขึ้นได้ 0.2% และมองว่าการแจกเป็นเงินสด คือ การเดินมาถูกทางแล้ว เพราะเงินจะได้กระจายในร้านค้าชุมชน ประชาชนที่มีปัญหาปากท้องจะได้ผ่อนคลายในระดับหนึ่ง โดยเฉพาะอย่างยิ่งช่วงนี้หลายพื้นที่ประสบอุทกภัยบ้านเรือน ข้าวของเสียหายก็สามารถนำเงินที่ได้ไปซื้อข้าวของ ของกินของใช้ได้ทันที ขณะเดียวกันหอการค้าไทยคิดว่าเป็นเวลารัฐบาลจะต้องกระตุ้นเศรษฐกิจอย่างแรงและเยียวยาประชาชนที่ยังพอมีเงินเหลือ โดยเฉพาะในไตรมาสที่ 4 และช่วงเทศกาลต่าง ๆ เช่น มาตรการคูณ 2 มาตรการกระตุ้นการท่องเที่ยว. – 517-สำนักข่าวไทย