fbpx

แผนปฏิรูปรถเมล์วันแรกทำผู้โดยสารสับสน โดยเฉพาะผู้สูงอายุ

กรุงเทพ 25 ก.ค. – ขสมก.จัดการเดินรถเส้นทางตามแผนปฏิรูปรถเมล์ ตั้งแต่วันนี้ (25 ก.ค.) พบหลายเส้นทางตัดระยะให้สั้นลง และเปลี่ยนเส้นทางในบางช่วง แต่ยังมีเส้นทางเดิมให้บริการถึง 30 ส.ค.นี้ โดยพบว่า ผู้สูงอายุที่ไม่ได้เล่นโซเชียล เดินทางลำบากมากที่สุด เพราะไปยืนรอรถเมล์ที่วิ่งประจำ แต่ปรากฏว่ารถไม่ได้วิ่งในเส้นทางนี้แล้ว


วันนี้ (25 ก.ค.) องค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ (ขสมก.) ได้จัดการเดินรถเส้นทางตามแผนปฏิรูปรถโดยสารประจำทางในเขตกรุงเทพมหานครและจังหวัดที่มีเส้นทางต่อเนื่อง จำนวน 107 เส้นทาง ตามที่ได้รับอนุมัติโดยคณะกรรมการควบคุมการขนส่งทางบกกลาง เมื่อคราวประชุมครั้งที่ 7/2562 วันที่ 5 ก.ค. 2562 ถึงกระนั้นยังคงเดินรถเส้นทางเดิม ควบคู่กับเส้นทางปฏิรูปที่มีการเปลี่ยนแปลงเส้นทาง เพื่ออำนวยความสะดวกให้กับผู้ใช้บริการ และให้ผู้ใช้บริการได้ปรับตัว และจะหยุดวิ่งเส้นทางเดิมตั้งแต่วันที่ 31 ส.ค.นี้เป็นต้นไป

สำหรับความเปลี่ยนแปลงที่จะเกิดขึ้นกับ ขสมก. นอกจากจะมีเส้นทางเดินรถใหม่ ซึ่งจะให้บริการเริ่มต้นจำนวน 10 เส้นทางแล้ว มีหลายเส้นทางที่มีการเปลี่ยนแปลง และกระทบกับประชาชน ดังตัวอย่าง ได้แก่ สาย 21 วัดคู่สร้าง-จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เปลี่ยนเป็น สาย 21 (4-6) วัดคู่สร้าง-มหานาค ตัดเส้นทางเหลือแค่มหานาค ไม่ผ่านถนนเจริญกรุง ถนนพระรามที่ 4 ไม่ถึงจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย อย่างไรก็ตาม ผู้ที่ต้องการเดินทางไปจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย สามารถใช้สาย 21E (4-7E) วัดคู่สร้าง-จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โดยขึ้นทางด่วนสุขสวัสดิ์ ไปลงด่านสาทร ผ่านถนนสาทรเหนือ ถนนนราธิวาสราชนครินทร์ ถนนสีลม ถนนพระรามที่ 4 ถนนอังรีดูนังต์ สิ้นสุดเส้นทางที่จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย


สาย 22 อู่สวนสยาม-สาธุประดิษฐ์ เปลี่ยนเป็น สาย 22 (3-40) ถนนตก-แฮปปี้แลนด์ ตัดต้นทางจากอู่สวนสยามเหลือแค่แฮปปี้แลนด์ ตัดปลายทางจากอู่สาธุประดิษฐ์ (เซ็นทรัลพระราม 3) เหลือแค่สิ้นสุดที่โรงพยาบาลเจริญกรุงประชารักษ์

สาย 37 แจงร้อน-มหานาค เปลี่ยนเป็น สาย 37 (4-9) ท่าน้ำพระประแดง-จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เปลี่ยนต้นทางจากเดิมซอยราษฎร์บูรณะ 37 เป็นท่าน้ำพระประแดง ไปตามถนนพระราชวิริยาภรณ์ ถนนราษฎร์บูรณะ และขยายจากมหานาค ผ่านถนนพระรามที่ 4 สิ้นสุดเส้นทางที่จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

สาย 68 อู่แสมดำ-บางลำพู เปลี่ยนเป็น สาย 68 (4-12) แสมดำ-บางลำพู ยังคงให้บริการตามปกติ แต่ได้ยกเลิกเส้นทาง สาย 68 สมุทรสาคร-บางลำพู และสาย 68 มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี บางขุนเทียน-BRT ราชพฤกษ์ ตั้งแต่วันที่ 31 ส.ค. 2567 ผู้โดยสารที่มาจากจังหวัดสมุทรสาคร ใช้สาย 105 (4-18) สมุทรสาคร-สถานีรถไฟฟ้ากรุงธนบุรี เพื่อไปต่อสาย 68 (4-12) แทน ส่วนผู้โดยสารที่มาจากมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี บางขุนเทียน มีสัมปทานสาย 4-31 แต่กรมการขนส่งทางบก ยังไม่เปิดคัดเลือกผู้เดินรถในสายนี้


สาย 205 อู่คลองเตย-เดอะมอลล์ท่าพระ เปลี่ยนเป็น สาย 205 (3-51) วงกลมคลองเตย – สถานีรถไฟฟ้าตลาดพลู จัดรูปแบบการเดินรถเป็นวงกลม โดยไม่ผ่านถนนพระราม 3 ช่วงแยกนราราม 3 ไม่ผ่านโรงเรียนนนทรีวิทยา ไม่ผ่านแยก ณ ระนอง และไม่ผ่านถนนสุนทรโกษา ช่วงแยก ณ ระนอง ถึงอู่คลองเตย โดยรถออกจากอู่คลองเตยจะวิ่งเป็นวงกลม

รถวนซ้าย ไปตามถนนเกษมราษฎร์ เลี้ยวซ้ายเข้าถนนพระรามที่ 4 ถึงแยกวิทยุ เลี้ยวซ้ายเข้าถนนสาทรใต้ ข้ามสะพานสมเด็จพระเจ้าตากสิน ถนนกรุงธนบุรี ถนนราชพฤกษ์ เลี้ยวซ้ายที่แยกรัชดาฯ-ตลาดพลู เข้าถนนรัชดาภิเษก ผ่านเดอะมอลล์ท่าพระ สะพานพระราม 3 ถนนพระรามที่ 3 เลี้ยวซ้ายเข้าถนนนราธิวาสราชนครินทร์ ก่อนเลี้ยวขวาที่แยกสาทร-นราธิวาส เข้าถนนสาทรเหนือ ถึงแยกวิทยุ เลี้ยวขวาเข้าถนนพระรามที่ 4 เลี้ยวขวาเข้าถนนเกษมราษฎร์ สิ้นสุดที่อู่คลองเตย

ส่วนรถวนขวา ไปตามถนนเกษมราษฎร์ เลี้ยวซ้ายเข้าถนนพระรามที่ 4 ถึงแยกวิทยุ เลี้ยวซ้ายเข้าถนนสาทรใต้ เลี้ยวซ้ายที่แยกสาทร-นราธิวาส เข้าถนนนราธิวาสราชนครินทร์ ถึงแยกนราราม 3 เลี้ยวขวาเข้าถนนพระรามที่ 3 ข้ามสะพานพระราม 3 ถนนรัชดาภิเษก เดอะมอลล์ท่าพระ เลี้ยวขวาที่แยกรัชดาฯ-ตลาดพลู ไปตามถนนราชพฤกษ์ ถนนกรุงธนบุรี ข้ามสะพานสมเด็จพระเจ้าตากสิน ถนนสาทรเหนือ ถึงแยกวิทยุ เลี้ยวขวาเข้าถนนพระรามที่ 4 เลี้ยวขวาเข้าถนนเกษมราษฎร์ สิ้นสุดที่อู่คลองเตย

สาย 509 อู่บรมราชชนนี-สถานีขนส่งผู้โดยสารหมอชิต 2 เปลี่ยนเป็น สาย 509 (4-60) หมู่บ้านเศรษฐกิจ-สถานีขนส่งผู้โดยสารหมอชิต 2 โดยต้นทางเริ่มจากหมู่บ้านเศรษฐกิจ โรงเรียนอัสสัมชัญธนบุรี ไม่เข้าถนนพุทธมณฑล สาย 2 อีกต่อไป นอกจากนี้ยังเปลี่ยนเส้นทางบางช่วง โดยเมื่อถึงแยกไฟฉายจะเลี้ยวขวาไปตามถนนพรานนก ถนนวังหลัง เลี้ยวซ้ายที่แยกศิริราช ผ่านโรงพยาบาลศิริราช ไปตามถนนอรุณอมรินทร์ เลี้ยวขวาที่แยกอรุณอมรินทร์ ไม่ผ่านตลาดบางขุนศรี แยกบางขุนนนท์ และพาต้าปิ่นเกล้า และทดแทนสาย 91 หมู่บ้านเศรษฐกิจ-สนามหลวง

ทางด้าน “เพจ รถเมล์ไทย” ซึ่งได้ติดตามเรื่องนี้มาอย่างต่อเนื่องได้โพสต์ในเพจสอบถามว่า “เช้านี้วุ่นวายกันไหมครับ แอดมินรับสาย สื่อมวลชน เครือข่ายต่างๆเยอะมาก คนใช้ก็งง พนักงานก็งง แอดมินก็งง” ปรากฏว่า มีประชาชนผู้ใช้บริการเข้าไปแสดงความคิดเห็นจำนวนมาก เช่น “สงสารคนแก่ไม่รู้เรื่องราว ยืนรอรถที่ไม่ได้วิ่งแล้ว,สงสารคนแก่ที่สุด ยิ่งเจอคนแก่ที่ไม่ได้เล่นโซเชียล หนูก็พาลุงๆ ป้าๆขึ้นลงพร้อมกับหนูหลายรอบ,ขสมก.ปฏิรูปเส้นทางซะงง แถมมีสายแปลกๆเพิ่มมาอีก,เช้านี้รถเมล์น้อย ถนนโล่ง เจอแต่ละคันอย่างแน่น” ขณะที่บางคนแสดงความคิดเห็นว่า “วิธีแก้ก็คือ กลับไปใช้เลขสายแบบเดิมเถอะ ใครจะรับสัมปทานไปก็แค่อย่าให้รถน้อยคอยนาน เส้นทางใหม่ก็กำหนดเลขสายใหม่ต่อจากของเดิม,เขาไม่เห็นใจประชาชนหรอกครับ นั่งรถส่วนตัว นั่งห้องแอร์ จิปกาแฟเย็นสบายใจ แต่ชาวบ้านเดือดร้อน,มันไม่วุ่นวายแต่รถแน่นมาก รอนาน,บันเทิงสุดๆเมื่อเช้า,เส้นเพชรเกษม คนตกค้างเยอะมาก รถเมล์แน่นทุกคัน,คนคิดไม่ได้ใช้ คนใช้ไม่ได้คิด,มึนๆงงๆกันทั่วหน้าครับ แอดมิน”

ส่วน “เพจ ชุมชนคนรักรถเมล์” ได้โพสต์ข้อความ “บางสายหายไป บางสายเกิดใหม่ บางสายเปลี่ยนเส้นทาง มีทั้งทางเดิม ทางใหม่ วันนี้ใครขึ้นรถเมล์ ขสมก.ก็จะงงๆหน่อย ดูป้ายเลขให้ดีๆนะ” ซึ่งก็มีประชาชนเข้ามาแสดงความคิดเห็น เช่น “ทำให้ผู้โดยสารได้ฝึกสายตาและความไว ขสมก.ดีมากๆเลย,อะไรที่ไม่เคยเห็น วันนี้ก็ได้เห็นกันแบบงงๆกับเส้นทางใหม่,คนขึ้นประจำยังสับสน แล้วคนที่ไม่ค่อยได้ขึ้นจะสับสนขนาดไหน” ส่วนคนที่เข้าใจถึงความเปลี่ยนแปลง ก็เข้าไปแสดงความคิดเห็นด้วยว่า “กระเป๋ารถเมล์ กับ คนขับ ก็ใจเย็นกับผู้โดยสารที่ไม่คุ้นด้วยนะครับ ค่อยๆอธิบาย ค่อยๆชี้แจงกันไป อย่าหัวร้อนง่าย ต้องอาศัยเวลาปรับตัว”บางคนเข้าไปแสดงความคิดเห็นแบบติดตลกว่า “ต้องอ่านป้ายข้างรถ ผ่านที่ไหนบ้าง อ่านเสร็จ รถออกไปเลย ขึ้นไม่ทัน” เป็นต้น.- 513-สำนักข่าวไทย

ดูข่าวเพิ่มเติม

Top Viewed • อ่านมากสุด

ดูทั้งหมด

พบศพโบลท์หญิงวัย 47 ในป่าหญ้าริมทาง คาดถูกฆ่าชิงรถ

โบลท์หญิงวัย 47 ปี หายตัวจากบ้านพักย่านดินแดง 9 วัน ล่าสุดพบเป็นศพในป่าหญ้าริมถนนสายนครชัยศรี-ห้วยพลู อ.นครชัยศรี จ.นครปฐม ส่วนรถยนต์โผล่ที่ จ.ภูเก็ต คาดถูกคนร้ายฆ่าชิงรถ

pagers on display

ทำไมยังมีการใช้ “เพจเจอร์” ในยุคสมาร์ทโฟน

ลอนดอน 19 ก.ย.- เพจเจอร์ หรือวิทยุติดตามตัวเป็นอุปกรณ์การสื่อสารยอดนิยมในช่วงคริสต์ทศวรรษ 1990 ที่ต้องหลีกทางให้แก่โทรศัพท์เคลื่อนที่ เนื่องจากเป็นการสื่อสารทางเดียว แต่ยังคงมีการใช้งานในบางกลุ่ม รวมถึงกลุ่มฮิซบอลเลาะห์ที่เพจเจอร์ระเบิดพร้อมกันหลายพันเครื่องทั่วเลบานอนเมื่อวันที่ 17 กันยายน แหล่งข่าวเผยว่า ฮิซบอลเลาะห์ใช้เพจเจอร์ เนื่องจากเป็นช่องทางสื่อสารเทคโนโลยีต่ำ ส่งข้อความผ่านสัญญาณวิทยุ จึงตรวจจับสัญญาณและตำแหน่งได้ยากกว่าโทรศัพท์เคลื่อนที่ที่ส่งสัญญาณไปยังเสาส่งที่อยู่ใกล้ที่สุด อีกทั้งไม่มีเทคโนโลยีระบุพิกัดบนพื้นโลกอย่างจีพีเอสด้วย อดีตเจ้าหน้าที่สำนักงานสอบสวนกลางหรือเอฟบีไอ (FBI) ของสหรัฐเผยว่า ในอดีตแก๊งอาชญากรรมโดยเฉพาะแก๊งค้ายาเสพติดในสหรัฐเคยนิยมใช้เพจเจอร์ แต่ขณะนี้หันมาใช้โทรศัพท์เคลื่อนที่แบบเติมเงินราคาถูกที่สามารถเปลี่ยนเครื่องและหมายเลขได้อย่างง่ายดาย ทำให้เจ้าหน้าที่ติดตามแกะรอยได้ยาก อย่างไรก็ดี  ศัลยแพทย์โรงพยาบาลใหญ่แห่งหนึ่งในสหราชอาณาจักรเผยว่า เพจเจอร์เป็นอุปกรณ์ที่แพทย์และพยาบาลสังกัดสำนักงานบริการสุขภาพแห่งชาติหรือเอ็นเอชเอส (NHS) ต้องพกติดตัวอยู่เสมอ เพื่อรับแจ้งข่าวในการปฏิบัติหน้าที่ เป็นช่องทางที่ถูกที่สุดและมีประสิทธิภาพมากที่สุดในการแจ้งข่าวทางเดียวกับคนจำนวนมาก เพจเจอร์หลายรุ่นสามารถส่งเสียงไซเรนและมีข้อความเสียงแจ้งให้ทีมแพทย์ไปรวมตัวที่ห้องฉุกเฉินได้ทันที ข้อมูลล่าสุดในปี 2562 ระบุว่า เอ็นเอชเอสใช้เพจเจอร์ประมาณ 130,000 เครื่อง คิดเป็นสัดส่วนมากกว่า 1 ใน 10 ของที่ใช้ทั่วโลก คอกนิทีฟมาร์เก็ตรีเสิร์ช  (Cognitive Market Research) ซึ่งเป็นบริษัทวิจัยคาดการณ์ว่า ตลาดเพจเจอร์จะเติบโตร้อยละ 5.9 ต่อปี จากปี 2566 ถึงปี 2573 […]

ข่าวแนะนำ

“อนุทิน” ลุยเชียงใหม่ร่วมบิ๊กคลีนนิ่ง ฟื้นฟูหลังน้ำลด

“อนุทิน” ลงพื้นที่เชียงใหม่ ร่วมทีม จนท.-กู้ภัย-อาสาสมัคร “บิ๊กคลีนนิ่ง” ฟื้นฟูเมืองหลังน้ำลด เร่งจ่ายเยียวยาผู้ประสบภัย