นนทบุรี 21 มิ.ย.- ผอ.สำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า (สนค.) ระบุตัวเลขส่งออกเดือน พ.ค.67 ยังเติบโตถึงร้อยละ 7.2 หรือมีมูลค่าถึง 26,219.5 ล้านเหรียญสหรัฐ ทำให้ 5 เดือนแรกไทยส่งเติบโตแล้วถึงร้อยละ 2.6 ประเมินตัวเลขเดือน มิ.ย.67 โตต่อเนื่อง แม้กลุ่มสินค้ายานยนต์และชิ้นส่วนจะไม่ค่อยดีนัก หลังรถอีวีขยายตัวมาก ชี้ไทยต้องปรับตัวรับเทรดใหม่ของโลก
นายพูนพงษ์ นัยนาภากรณ์ ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า (สนค.) กล่าวว่า ตัวเลขการส่งออกของไทยในเดือนพฤษภาคม 2567 มีมูลค่า 26,219.5 ล้านเหรียญสหรัฐ คิดเป็นเงินบาท 960,220 ล้านบาท ขยายตัวร้อยละ 7.2 หากหักสินค้าเกี่ยวเนื่องกับน้ำมัน ทองคำ และยุทธปัจจัย ขยายตัวร้อยละ 6.5 การส่งออกไทย ทำมูลค่าสูงสุดในรอบ 14 เดือน ทำให้ดุลการค้ากลับมาเกินดุลในรอบ 5 เดือน โดยได้รับแรงหนุนสำคัญจากการส่งออกสินค้าเกษตร เนื่องจากเป็นเดือนที่มีผลผลิตออกสู่ตลาดจำนวนมาก ขณะเดียวกันภาคการผลิตของโลกฟื้นตัวได้ดี สะท้อนจากดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อของโลก (Global PMI) ที่มีทิศทางขยายตัวเร่งขึ้น ตามเศรษฐกิจโลกที่เติบโตอย่างต่อเนื่อง ทั้งนี้ การส่งออกไทย 5 เดือนแรกของปี 2567 ขยายตัวร้อยละ 2.6 และเมื่อหักสินค้าเกี่ยวเนื่องกับน้ำมัน ทองคำ และยุทธปัจจัย ขยายตัวร้อยละ 4.3
ขณะที่ตัวเลขการนำเข้า มีมูลค่า 25,563.3 ล้านเหรียญสหรัฐ หดตัวร้อยละ 1.7 ดุลการค้า เกินดุล 656.1 ล้านเหรียญสหรัฐ ภาพรวม 5 เดือนแรกของปี 2567 การส่งออก มีมูลค่า 120,493.4 ล้านเหรียญสหรัฐ ขยายตัวร้อยละ 2.6 เทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน การนำเข้า มีมูลค่า 125,954.1 ล้านเหรียญสหรัฐ ขยายตัวร้อยละ 3.5 ดุลการค้า 5 เดือนแรกของปี 2567 ขาดดุล 5,460.7 ล้านเหรียญสหรัฐ
ทั้งนี้ การส่งออกสินค้าเกษตรและอุตสาหกรรมเกษตรมูลค่าการส่งออกสินค้าเกษตรและอุตสาหกรรมเกษตร ขยายตัวร้อยละ 19.4 ขยายตัวต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 2 โดยสินค้าสินค้าเกษตร กลับมาขยายตัวถึงร้อยละ 36.5 และสินค้าอุตสาหกรรมเกษตร ขยายตัวร้อยละ 0.8 ขยายตัวต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 2 โดยมีสินค้าสำคัญที่ขยายตัว ได้แก่ ผลไม้สด แช่เย็น แช่แข็ง และแห้ง ขยายตัวร้อยละ 128.0 กลับมาขยายตัวในรอบ 4 เดือน (ขยายตัวในตลาดจีน เกาหลีใต้ ฮ่องกง เวียดนาม และญี่ปุ่น) ยางพารา ขยายตัวร้อยละ 46.6 ขยายตัวต่อเนื่อง 7 เดือน (ขยายตัวในตลาดจีน มาเลเซีย ญี่ปุ่น สหรัฐฯ และเกาหลีใต้) อาหารสัตว์เลี้ยง ขยายตัวร้อยละ 39.2 ขยายตัวต่อเนื่อง 8 เดือน (ขยายตัวในสหรัฐฯ ญี่ปุ่น มาเลเซีย ออสเตรเลีย และอิตาลี) ไก่แปรรูป ขยายตัวร้อยละ 10.2 ขยายตัวต่อเนื่อง 3 เดือน (ขยายตัวในตลาดญี่ปุ่น สหราชอาณาจักร เนเธอร์แลนด์ ไอร์แลนด์ และแคนาดา) ไขมันและน้ำมันจากพืชและสัตว์ ขยายตัวร้อยละ 95.7 กลับมาขยายตัวในรอบ 7 เดือน (ขยายตัวในตลาดอินเดีย มาเลเซีย เมียนมา เกาหลีใต้ และเวียดนาม) ผลไม้กระป๋องและแปรรูป ขยายตัวร้อยละ 8.8 ขยายตัวต่อเนื่อง 8 เดือน (ขยายตัวในตลาดสหรัฐฯ จีน ญี่ปุ่น ลาว และออสเตรเลีย) สิ่งปรุงรสอาหาร ขยายตัวร้อยละ 6.0 ขยายตัวต่อเนื่อง 11 เดือน (ขยายตัวในตลาดสหรัฐฯ ออสเตรเลีย ฟิลิปปินส์ เนเธอร์แลนด์ และมาเลเซีย) และนมและผลิตภัณฑ์นม ขยายตัวร้อยละ 16.7 ขยายตัวต่อเนื่อง 14 เดือน (ขยายตัวในตลาดฟิลิปปินส์ เมียนมา ฮ่องกง ญี่ปุ่น และเวียดนาม)
ขณะที่สินค้าสำคัญที่หดตัว อาทิ ข้าว หดตัวร้อยละ 4.5 กลับมาหดตัวในรอบ 11 เดือน (หดตัวในตลาดอิรัก จีน แอฟริกาใต้ แคเมอรูน และเนเธอร์แลนด์ แต่ขยายตัวในตลาดอินโดนีเซีย สหรัฐฯ ฟิลิปปินส์ ญี่ปุ่น และฮ่องกง) อาหารทะเลกระป๋องและแปรรูป หดตัวร้อยละ 0.6 กลับมาหดตัวในรอบ 5 เดือน (หดตัวในตลาดสหรัฐฯ ญี่ปุ่น สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ ชิลี และแอฟริกาใต้ แต่ขยายตัวในตลาดออสเตรเลีย ลิเบีย แคนาดา ซาอุดีอาระเบีย และอิสราเอล) น้ำตาลทราย หดตัวร้อยละ 46.1 หดตัวต่อเนื่อง 5 เดือน (หดตัวในตลาดกัมพูชา อินโดนีเซีย เกาหลีใต้ มาเลเซีย และไต้หวัน แต่ขยายตัวในตลาดลาว เวียดนาม ญี่ปุ่น นิวซีแลนด์ และจีน) และผลิตภัณฑ์มันสำปะหลัง หดตัวร้อยละ 16.2 หดตัวต่อเนื่อง 7 เดือน (หดตัวในตลาดจีน ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ เวียดนาม และอินเดีย แต่ขยายตัวในตลาดอินโดนีเซีย ไต้หวัน สหรัฐฯ มาเลเซีย และฟิลิปปินส์) ทั้งนี้ 5 เดือนแรกของปี 2567 การส่งออกสินค้าเกษตรและอุตสาหกรรมเกษตร ขยายตัวร้อยละ 4.7
การส่งออกสินค้าอุตสาหกรรมมูลค่าการส่งออกสินค้าอุตสาหกรรม ขยายตัวร้อยละ 4.6 ขยายตัวต่อเนื่อง 2 เดือน โดยมีสินค้าสำคัญขยายตัว อาทิ เครื่องคอมพิวเตอร์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ ขยายตัวร้อยละ 44.4 ขยายตัวต่อเนื่อง 2 เดือน (ขยายตัวในตลาดสหรัฐฯ จีน ฮ่องกง เนเธอร์แลนด์ และสิงคโปร์) เครื่องโทรศัพท์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ ขยายตัวร้อยละ 110.7 ขยายตัวต่อเนื่อง 12 เดือน (ขยายตัวในตลาดสหรัฐฯ ฮ่องกง ญี่ปุ่น เนเธอร์แลนด์ และไต้หวัน) เครื่องจักรกลและส่วนประกอบ ขยายตัวร้อยละ 12.4 ขยายตัวต่อเนื่อง 3 เดือน (ขยายตัวในตลาดสหรัฐฯ จีน อินเดีย เนเธอร์แลนด์ และออสเตรเลีย) ทองแดงและของทำด้วยทองแดง ขยายตัวร้อยละ 33.9 ขยายตัวต่อเนื่อง 8 เดือน (ขยายตัวในตลาดจีน ญี่ปุ่น เวียดนาม อินเดีย และสหรัฐฯ) ไม้และผลิตภัณฑ์ไม้ ขยายตัวร้อยละ 16.7 ขยายตัวต่อเนื่อง 14 เดือน (ขยายตัวในตลาดจีน สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ เกาหลีใต้ ซาอุดีอาระเบีย และญี่ปุ่น)
ขณะที่สินค้าสำคัญที่หดตัว อาทิ ผลิตภัณฑ์ยาง หดตัวร้อยละ 8.8 กลับมาหดตัวหลังจากขยายตัวในเดือนก่อนหน้า (หดตัวในตลาดสหรัฐฯ จีน ญี่ปุ่น ออสเตรเลีย และเกาหลีใต้ แต่ขยายตัวในตลาดมาเลเซีย อินเดีย เวียดนาม บราซิล และเนเธอร์แลนด์) แผงวงจรไฟฟ้า หดตัวร้อยละ 11.9 หดตัวต่อเนื่อง 5 เดือน (หดตัวในตลาดสิงคโปร์ จีน ญี่ปุ่น เยอรมนี และไต้หวัน แต่ขยายตัวในตลาดฮ่องกง มาเลเซีย เกาหลีใต้ เม็กซิโก และเวียดนาม) เหล็ก เหล็กกล้าและผลิตภัณฑ์ หดตัวร้อยละ 14.1 กลับมาหดตัวหลังจากขยายตัวในเดือนก่อนหน้า (หดตัวในตลาดสหรัฐฯ ญี่ปุ่น มาเลเซีย สิงคโปร์ และออสเตรเลีย แต่ขยายตัวในตลาดอินเดีย จีน อินโดนีเซีย เวียดนาม และฟิลิปปินส์) อุปกรณ์กึ่งตัวนำ ทรานซิสเตอร์และไดโอด หดตัวร้อยละ 27.6 หดตัวต่อเนื่อง 3 เดือน (หดตัวในตลาดสหรัฐฯ ฮ่องกง เวียดนาม อินเดีย และไต้หวัน แต่ขยายตัวในตลาดญี่ปุ่น จีน ฟิลิปปินส์ เกาหลีใต้ และเปอร์โตริโก) รถจักรยานยนต์และส่วนประกอบ หดตัวร้อยละ 23.6 หดตัวต่อเนื่อง 10 เดือน (หดตัวในตลาดเบลเยียม ญี่ปุ่น บราซิล ออสเตรเลีย และจีน แต่ขยายตัว
ในตลาดสหรัฐฯ สหราชอาณาจักร กัมพูชา มาเลเซีย และเมียนมา) ทั้งนี้ 5 เดือนแรกของปี 2567 การส่งออกสินค้าอุตสาหกรรมขยายตัวร้อยละ 2.4
แม้ว่าขณะนี้ หลายฝ่ายกำลังหวั่นวิตกกลุ่มอุตสาหกรรมยานยนต์และชิ้นส่วนของไทยจะได้รับผลกระทบจากรถยานยนต์ไฟฟ้าเข้ามาทำตลาดมาก ทำให้กลุ่มอุตสาหกรรมดังกล่าววิตกไม่น้อยของการแข่งขันนั้น โดยเรื่องนี้ภาคอุตสาหกรรมและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องคงต้องกลับไปพิจารณาว่าจะปรับทิศทางของอุตสาหกรรมเพื่อแข่งขันกับกลุ่มรถยานยนต์ไฟฟ้าอย่างไร เนื่องจากจะต้องปรับเทรดยุคใหม่ให้เข้ากับการเปลี่ยนแปลงของโลกด้วย. -514-สำนักข่าวไทย