กรุงเทพฯ 10 มิ.ย. – กสทช.และนักวิชาการพูดในงานเสวนาวิชาการ วิทยุกระจายเสียงกับคุณภาพของการประกอบกิจการและการจัดรายการทุกคนตอกย้ำคนทำสื่อวิทยุควรให้ข้อมูลและข้อเท็จจริงให้แก่คนฟังอย่างตรงไปตรงมาและควรปรับตัวให้ทันกับโลกที่เปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็ว เชื่อแม้สื่อโซเชียลมาแรงแต่สื่อวิทยุไม่มีวันตาย
นายสมบัติ ลีลาพตะ นิติกรเชี่ยวชาญพิเศษ รักษาการรองเลขาธิการ กสทช. สายงานกิจการภูมิภาคกล่าวในงานเสวนาวิชาการ วิทยุกระจายเสียงกับคุณภาพของการประกอบกิจการและการจัดรายการและการประกาศรางวัล “NBTC – QUALITY RADIO BROADCASTING AWARD” ผู้ประกอบกิจการวิทยุกระจายเสียงที่มีคุณภาพ ประจำปี 2566 ว่าในปี 2566 ที่ผ่านมาเป็นปีแรกที่ได้มอบนโยบายให้ สำนักงานกสทช. ดำเนินโครงการคัดเลือกผู้ประกอบกิจการวิทยุกระจายเสียงที่มีคุณภาพ โดยมีกระบวนการประเมินคุณภาพ ที่มีส่วนร่วมจากหลายภาคส่วน ในการกำหนดเกณฑ์และแนวทางการประเมินคุณภาพ ซึ่งประกอบด้วยหลายมิติไม่ว่าจะเป็นคุณสมบัติเรื่องการปฏิบัติถูกต้องตามกฎหมาย หรือคุณสมบัติเฉพาะประเด็น ทั้งในเรื่องของการบริหาร จัดการสถานี การสร้างเครือจข่ายกับภาครัฐ/ภาคเอกชน การมีส่วนร่วมกับผู้ฟัง การจัดผังรายการให้มีข่าวสารหรือสาระที่เป็นประโยชน์สาธารณะ การดำเนินการตามมาตรฐานจริยธรรม การจัดให้มีรายการที่เป็นประโยชน์ที่หลากหลายและเนื้อหารายการส่งเสริมการใช้ประโยชน์ของของคนและสังคม
อย่างไรก็ตาม แม้ว่าสภาวะการแข่งขันการหาโฆษณาด้านสื่อวิทยุมีความรุนแรงขึ้น แต่สิ่งที่ไม่อยากเห็น คือ การทำโฆษณาที่หลอกลวงประชาชน เช่น การโฆษณาขายสินค้าผ่านสื่อวิทยุแบบชวนเชื่อแบบหลอกผู้บริโภคที่ไม่อยากให้ผู้ประกอบธุรกิจที่ทำวิทยุไปแข่งขันที่ผิดกฎหมายกัน ดังนั้น ไม่ว่าจะทำธุรกิจอะไร ทุกอย่างจะต้องอยู่ภายใต้กฎหมาย โดย กสทช.ก็มีกฎหมายกำกับดูแลเพื่อให้เกิดความสมดุลและแข่งขันบนพื้นฐานกันได้อย่างเป็นธรรม โดยสื่อวิทยุจะเข้าถึงกลุ่มคนได้มากสุด จึงเป็นสิ่งที่ผู้ประกอบการต้องตระหนักให้ผู้รับสื่อควรได้รับข้อเท็จจริงให้มากที่สุด
“ในวันที่ 31 ธ.ค.นี้ แม้จะเป็นวันสิ้นสุดของใบอนุญาตสื่อวิทยุทั้งหมดก็ตาม แต่ไม่ได้หมายความว่า กสทช.จะหยุดต่อใบอนุญาต ซึ่งขณะนี้ กสทช.อยู่ระหว่างจัดทำรายละเอียดที่จะเปิดประมูลใบอนุญาตสื่อด้านวิทยุที่มีอายุสัญญาใบอนุญาติ 5 ปีต่อไป รวมทั้งนโยบายสำคัญของ กสทช.คือ สื่อวิทยุที่เป็นอนาล็อกและสื่อด้านดิจิทัลจะต้องเดินหน้าไปพร้อมกันจะไม่ตัดใครออกไปจากระบบตามที่ผู้ทำสื่อวิทยุวิตกกัน” นายสมบัติ กล่าว
ดร.อัจฉรา ปัณฑรานุวงศ์ คณบดีคณะวารสารศาสตร์และสื่อสารมวลชน มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กล่าวว่า สื่อวิทยุไม่ควรหยุดนิ่งทำแต่สิ่งเดิม เพราะการแข่งขันในปัจจุบันรุนแรงขึ้น ดังนั้น สิ่งที่ทำสื่อวิทยุจะต้องปรับตัวรับสิ่งใหม่ๆเข้ามาเสริม เพื่อเป็นประโยนช์แก่ผู้ฟัง และเชื่อว่าหากปรับตัวแล้ว เชื่อว่าสื่อวิทยุจะไม่มีวันตาย สื่อวิทยุยังเป็นสื่อที่ยังจำเป็นอยู่ แต่ด้วยความทันสมัยของเทคโนโลยีในปัจจุบันสามารถตอบสนองกลุ่มคนฟังได้เพิ่มขึ้น ดังนั้น การเข้าถึงจะต้องตอบสนองข้อมูลอย่างตรงไปตรงมาเพื่อให้คนฟังได้ประโยนช์มากสุด
ดร.ธนกร ศรีสุขใส ผู้จัดการกองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ กล่าวว่า คนทำสื่อวิทยุจะต้องปรับตัว ทำสิ่งใหม่ๆ ให้กับรายการวิทยุที่ทันสมัยกับเหตุการณ์ยิ่งขึ้น อย่าหยุดนิ่ง ทำแต่รูปแบบเดิมๆอีกต่อไป โดยหากผู้ประกอบการสื่อมีการปรับให้ทันสมัย โดยกองทุนพร้อมที่จะสนับสนุนเต็มทีและขอให้ผู้ประกอบด้านวิทยุอย่าไปกังวลด้านสื่อ AI จะเข้ามา แต่ยังเชื่อว่าคนฟังยังต้องการรับข้อมูลความรู้จากคนที่ทำรายการมากกว่า AI ดังนั้น ทางกองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์เดินหน้าช่วยเพิ่มงบกับผู้ทำสื่อวิทยุให้มากยิ่งขึ้น
ผู้ช่วยศาสตราจารย์ พิมพ์ณัฐชยา สัจจาศิลป์ อนุกรรมาธิการด้านเสรีภาพ สื่อสารมวลชน และสื่อสาธารณะ วุฒิสภา กล่าวว่า ในช่วงที่ผ่านมาได้รับการร้องเรียนจากประชาชนเป็นจำนวนมากว่าสื่อทั้งสื่อด้านทีวีและวิทยุมีการละเมิดสิทธิ์เสรีภาพ โดยเฉพาะการขายสินค้าผ่านสื่อที่เข้าข่ายหลอกลวงไม่น้อย ซึ่งกรรมาธิการด้านเสรีภาพ สื่อสารมวลชน และสื่อสาธารณะ วุฒิสภาได้รับการร้องเรียนและได้ประสานไปยัง กสทช.เพื่อหาแนวทางป้องกันปัญหาดังกล่าว จึงอยากให้ผู้ที่ขึ้นชื่อว่าทำธุรกิจสื่อสารมวลชนด้านวิทยุจะต้องตระหนักและหาทางช่วยกันป้องกัน และอยากฝาก กสทช.ไปหาหนทางป้องกันสื่อวิทยุแบบเข้าข่ายหลอกลวงเพื่อเป็นการป้องกันที่ประชาชนจะถูกหลอกลวงได้และจะต้องระมัดระวังการใช้คำพูดในรายการอย่าเน้นย้ำหรือชักชวนคนฟังมากเกินกว่าข้อมูลที่ได้รับมา.-514-สำนักข่าวไทย