กรุงเทพฯ 3 พ.ค. –ธ.ก.ส. มุ่งผลักดันสินเชื่อใหม่ปี 67 เพิ่ม 9 หมื่นล้านบาท ย้ำ! เงินยืม 1.72 แสนล้านบาท รองรับดิจิทัลวอเล็ต ไม่กระทบสภาพคล่อง เดินหน้าระดมเงินงฝากเพิ่ม 3.2 แสนล้านบาท
นายพงษ์พันธ์ จงรักษ์ รองผู้จัดการ ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) กล่าวว่า แผนดำเนินงานในปี 2567 กำหนดเป้าหมายปล่อยสินเชื่อใหม่เพิ่มขึ้น 90,000 ล้านบาท หรือเพิ่มขึ้นร้อยละ 5.13 เทียบกับปี 66 หลังจากไทยเริ่มฟื้นตัวจากปัญหาโควิด-19 การประกอบอาชีพเริ่มดีขึ้น เมื่อเกษตรกรต้องการสินเชื่อเพิ่มขึ้นในช่วงนี้ โดยเฉพาะกลุ่มเกษตรกรในระดับกลาง –รายใหญ่ จำนวน 5 หมื่นล้านบาท ส่วนรายย่อย 4 หมื่นล้านบาท สอดคล้องกับโครงการชุมชนสร้างไทย ต้องการให้หัวขบวนหรือกลุ่มแข็งแรง มาช่วยหนุนรายย่อย นอกจากนี้ยังมุ่งเน้นสินเชื่อเพื่อความยั่งยืน เช่น สินเชื่อกรีนเครดิต การส่งเสริมปลูกป่าในภาคเหนือ
แผนงานในปี 2567 หลังจากงบปีบัญชี 31 มีนาคม 2567 มียอดสินเชื่อ 1.69 ล้านล้านบาท ยอดเงินฝาก 1.89 ล้านล้านบาท ยอดเงินจากจะมากกว่าสินเชื่อ 2 แสนล้านบาท เป็นการดำรงสภาพคล่องตามธุรกิจของแบงก์ ยอมรับว่าเงินฝากของเกษตรกร ข้าราชการ ประชาชนจำนวนมากฝากไว้กับ ธ.ก.ส.จำนวนมาก นับเป็นเงินฝากประจำเงินฝาก หรือ เงินฝากต้นทุนต่า (CASA) ร้อยละ 55 ของเงินฝากทั้งหมด เพราะเชื่อใจว่าเป็นสถาบันการเงินของรัฐ รัฐบาลค้ำประกันร้อยเปอร์เซ็นต์ ด้านเงินฝาก ธ.ก.ส. กำหนดเป้าหมายระดมเงินฝากเพิ่ม 1.2 แสนล้านบาท ขณะนี้กำลังมีสลากออมทรัพย์ใกล้ถึงกำหนดช่วงกลางปี ในเดือนกรกฎาคม-สิงหาคม 67 เช่น สลากมั่งมีทวีโชค สลากเกษียณมั่งคั่ง จำนวน 2 แสนล้านบาท จึงต้องระดมเงินฝากเพิ่มให้ครมตามแผน 3.2 แสนล้านบาท ยอมรับว่าผู้ฝากสลากรายเดิมร้อยละ 95 จากทั้งหมดยังคงต้องการฝากอยู่กับ ธ.ก.ส. เพราะมั่งใจการฝากเงิน
“จากตัวอย่างจากการระดมเงินฝาก ผ่านสลาก ธ.ก.ส. ชุดถุงทอง เปิดรับฝาก 1 พ.ย.66 หน่วยละ 2,000 บาท จำนวน 50 ล้านหน่วย วงเงินรับฝาก 100,000 ล้านบาท รางวัลที่ 1 จำนวน 60 ล้านบาท ใช้เวลาขายสลากเพียง 5 เดือน ครบทั้งหมดเต็มวงเงิน นับว่าประชาชนยังให้ความมั่นใจในการฝากเงิน ทำให้มั่นใจว่า แผนการปล่อยสินเชื่อในปี 67 เพิ่มขึ้น 9 หมื่นล้านบาท มุ่งเน้นการปล่อยสินเชื่อเพื่อความยั่งยืน จะทำได้ตามเป้าหมาย แม้ว่ารัฐบาลต้องการยืนเงินไปใช้ในโครงการดิจิทัลวอเล็ตจาก ธ.ก.ส. วงเงิน 1.72 แสนล้านบาท จึงมีสภาพคล่องเพียงพอ” นายพงษ์พันธ์ กล่าว
ภารกิจของ ธ.ก.ส. สนองนโยบายของรัฐบาล ดำเนินการมาโดยตลอดในช่วงที่ผ่านมา ตั้งแต่ปี 2509 จนถึงปัจจุบัน ตามที่รัฐบาลได้คิดออกแบบการช่วยเหลือเกษตรกร ผ่านมาตรการพักหนี้ มาตรการจำนำข้าว การประกันรายได้เกษตรกร หลายโครงการรัฐบาลได้ชำระเงินคืนตามกำหนด นับว่า ธ.ก.ส. ช่วยป้องกันปัญหาหนี้นอกระบบได้เยอะมาก ชาวบ้านในชนบทเข้ามาพึ่งพาเงินกู้และช่วยเหลือในด้านต่างๆ หลายมาตรการ ณ สิ้นปีบัญชี มี.ค.ปี 67 มียอด NPL ร้อยละ 5.41 หรือ 9 หมื่นล้านบาท ตั้งเป้าหมายสิ้นปีบัญชี มี.ค. 68 ให้ลดเหลือร้อยละ 3.69 เพราะเห็นว่าราคาสินค้าเกษตรดีขึ้น ชำระหนี้ ปรับโครงสร้างหนี้ได้ดีขึ้น โดยไม่ต้องรอให้เป็นหนี้เสีย.-515-สำนักข่าวไทย