กรุงเทพฯ 3 เม.ย.- “พิมพ์ภัทรา” ตอกกลางที่ประชุมผู้บริหารกระทรวงอุตสาหกรรม หลังเอกชนฟ้อง “คุยแล้วไม่จบ” พร้อมสั่งขุดต้นตอแก้ปัญหา ร.ง.4 ตัวถ่วงลงทุน ดึง กรอ. – อุตฯจังหวัดเคลียร์ข้อมูล สั่งห้ามใช้ดุลพินิจเจ้าหน้าที่ เหตุเจอตอใหญ่คำสั่งผู้บริหารกรมโรงงาน ต้องส่งเรื่องเห็นชอบก่อนถึงอนุญาตได้
แหล่งข่าวจากกระทรวงอุตสาหกรรม เปิดเผยถึงความคืบหน้าการแก้ไขปัญหาการออกใบอนุญาต ประกอบกิจการโรงงาน (ร.ง.4) ที่ภาคเอกชนร้องเรียนว่า มีความล่าช้าและเป็นตัวถ่วงการลงทุนว่า เมื่อวันที่ 26 มี.ค. น.ส.พิมพ์ภัทรา วิชัยกุล รมว.อุตสาหกรรม ได้ประชุมร่วมกับผู้บริหารระดับสูงของกระทรวง ทั้งปลัดกระทรวง รองปลัด ผู้ตรวจราชการ และอธิบดีทุกกรม บรรยากาศในที่ประชุมเป็นไปอย่างเคร่งเครียด เนื่องจากการแก้ปัญหาการออกใบอนุญาตขณะนี้ เป็นการแก้ปัญหาแบบเฉพาะหน้า เช่น โยนเรื่องที่ค้างจากกรมโรงงานอุตสาหกรรม (กรอ.) กลับไปที่อุตสาหกรรมจังหวัด ซึ่งอุตฯจังหวัดบางจังหวัดก็ระบุว่า ก่อนหน้านี้ยื่นเรื่องเข้าไปกว่า 6-7 เดือน แต่กลับโยนเรื่องกลับมาแล้วสั่งให้ตรวจสอบทุกอย่างให้ถูกต้องภายใน 15 วัน ทาง น.ส.พิมพ์ภัทรา จึงได้สั่งการให้ กรอ. และอุตสาหกรรมจังหวัด กลับไปทำข้อมูลให้ชัดเจนทั้งหมดว่า แต่ละรายยังติดปัญหาอะไร ติดที่ใคร และจะแก้ไขปัญหาตั้งแต่ต้นตออย่างไร เพื่อไม่ให้เกิดปัญหาซ้ำซาก และเป็นอุปสรรคต่อการลงทุน
อย่างไรก็ตามอีกประเด็นที่คาดว่า ทำให้การอนุมัติใบ ร.ง.4 ล่าช้า คือ เมื่อปลายปี 2565 ได้มีคำสั่งจากผู้บริหารระดับสูงในกรมฯ รายหนึ่ง ออกคำสั่งแนวทางการดำเนินงานในการขอใบอนุญาต ให้กองที่รับผิดชอบดำเนินงานเสนอการขอใบอนุญาต ต้องเสนอเรื่องให้ผู้บริหารระดับสูงรายหนึ่งเห็นชอบก่อนที่จะดำเนินการแจ้งให้ผู้ขอรับใบอนุญาตชำระค่าธรรมเนียมใบอนุญาต มองว่า เป็นกระบวนการซ้ำซ้อน เสียเวลา ต้องรอให้คนคนเดียวตรวจสอบ เหมือนสมัยก่อนที่มีคณะกรรมการกลั่นกรองการพิจารณาอนุญาตโรงงานฯ ทำให้ล่าช้า ถูกร้องเรียนเชิงลบอย่างหนัก จนต้องยุบออกไป
น.ส.พิมพ์ภัทรา วิชัยกุล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม กล่าวว่า ปัญหาการออกใบอนุญาตร.ง. 4 ล่าสุด ยังพบปัญหาช่องว่างระหว่างกรมโรงงานอุตสาหกรรม (กรอ.) และสำนักงานอุตสาหกรรมจังหวัด (สอจ.) กรณีที่ สอจ.ต้องตรวจสอบคำขออนุญาตพร้อมข้อมูลที่มีความครบถ้วนสมบูรณ์ตามที่ระบุไว้ เพื่อส่งให้กรอ.พิจารณาอนุญาต แต่เจ้าหน้าที่กรอ.อาจขอข้อมูลหรือคำชี้แจงเพิ่มเติมจาก ผู้ยื่นคำขออนุญาตอีก ส่วนมากจะขึ้นกับดุลพินิจของเจ้าหน้าที่ มองว่า ตรงจุดนี้ยังไม่เป็นมาตรฐานเดียวกัน สร้างความสับสน และเป็นภาระแก่ผู้ประกอบการได้ ต่อไปต้องทำให้เป็นมาตรฐานเดียวกัน ไม่ควรใช้ดุลพินิจของเจ้าหน้าที่ ซึ่งตนได้ให้ทุกฝ่ายกลับไปเช็คขั้นตอนรายละเอียดทั้งหมด และอะไรที่ยังเป็นปัญหา เพื่อให้ขั้นตอนทุกอย่างเป็นแนวทางเดียวกัน ทำให้ขั้นตอนอนุมัติเร็วขึ้น โดยให้เสนอกลับมาในที่ประชุมวันที่ 10 เม.ย. นี้ เพื่อให้การแก้ปัญหาถึงต้นตอ ไม่ให้เกิดปัญหาซ้ำซากอีก
“ได้ย้ำกับผู้บริหารกระทรวงตั้งแต่ช่วงต้นปีที่ผ่านมาให้ทำการปรับลดขั้นตอนการ อนุญาตให้รวดเร็ว เน้นการบริการแบบเบ็ดเสร็จจุดเดียว เพราะท่านนายกรัฐมนตรีได้ชักชวนต่างชาติให้เข้ามาลงทุนแล้ว กระทรวงอุตสาหกรรม ต้องรับไม้ต่อในเรื่องการอำนวยความสะดวกแก่นักลงทุน โดยเฉพาะการออกใบอนุญาตต่าง ๆ ได้สั่งการให้เร่งเคลียร์คำขออนุญาตที่ค้างอยู่ในระบบให้หมดภายใน 30 วัน และให้ผู้ตรวจราชการทุกท่าน ตรวจสอบคำขออนุญาตในทุกจังหวัดว่ายังหลงเหลืออยู่จำนวนเท่าใด ติดขัดในขั้นตอนไหน ให้รีบแก้ไขเพื่อให้สามารถออกใบอนุญาตโรงงานได้โดยเร็ว เรื่องนี้ตนไม่ได้นิ่งนอนใจในเรื่องการอำนวยความสะดวกแก่นักลงทุนและผู้ประกอบการทุกคน แต่ก่อนตนเคยมาขอใบอนุญาตที่กรอ. เคยประสบปัญหาความล่าช้ามาก่อน เข้าใจความรู้สึกดี และต้องไม่ให้เกิดเกิดในยุคของตน” น.ส.พิมพ์ภัทรา กล่าว.-517-สำนักข่าวไทย