กรุงเทพฯ 11 มี.ค.- ก.ล.ต.จ่อรับฟังความคิดเห็น มาตรการใหม่คุม Short selling -Program Trading คาดเริ่มทยอยบังคับใช้ในไตรมาส 3 ของปีนี้
นางพรอนงค์ บุษราตระกูล เลขาธิการ ก.ล.ต. เปิดเผยถึงความคืบหน้า แนวทางปรับปรุงการกำกับดูแลธุรกรรม Short Selling และ Program Trading หรือ การใช้คอมพิวเตอร์ส่งคำสั่งซื้อขาย สำหรับแนวทางปรับปรุงการกำกับดูแลธุรกรรม Short Selling โดยเป้าหมายที่ 1 คือ เพิ่มกลไกสร้างความเชื่อมั่นในการซื้อขาย ซึ่งเพิ่มคุณภาพหุ้นที่สามารถ Short Selling (Eligible Securities) โดยเพิ่มเงื่อนไขของหุ้นกลุ่ม Non-SET100 ที่สามารถขายชอร์ตได้ โดยเพิ่มมูลค่าหลักทรัพย์ตามราคาตลาด (market capitalization) จาก 5,000 ล้านบาท เป็น 7,500 ล้านบาท และเพิ่มเกณฑ์สภาพคล่องของหุ้น (turnover) เป็นไม่น้อยกว่า 2%ต่อเดือน และจะมีการปรับปรุงเกณฑ์ซื้อขายของตลาดหลักทรัพย์ (trading rules) โดยเพิ่มการใช้ราคาขายชอร์ตที่ต้องสูงกว่าราคาซื้อขายครั้งสุดท้าย (Uptick Rule) เมื่อราคาหุ้นลดลงตั้งแต่ 10% ขึ้นไปของราคาปิดวันก่อนหน้า
กำหนดเพดานขายชอร์ตรายหลักทรัพย์รายวัน (daily Short Selling limit) และเปิดเผยยอดขายชอร์ตคงค้างรายวัน (Outstanding short position)
ส่วนเป้าหมายที่ 2 เพื่อป้องปรามการขายชอร์ตไม่เป็นตามเกณฑ์ (Naked Short Selling) ดังนี้ 1.เพิ่มคุณภาพการทำหน้าที่ตรวจสอบของตัวกลาง ได้แก่ บริษัทหลักทรัพย์ (บล.) ต้องดำเนินการดังต่อไปนี้ 1.ทำความรู้จักระบบงานของลูกค้า (Know Your Process: KYP) กรณีลูกค้าที่เป็นตัวกลาง เพื่อให้ลูกค้าทราบ/เข้าใจหลักเกณฑ์ และสื่อสารให้ลูกค้าในชั้นต่อไป และเพื่อสร้างความมั่นใจว่าลูกค้าตัวกลาง มีระบบควบคุม ติดตามการปฏิบัติตามเกณฑ์ที่เกี่ยวข้อง เพื่อสร้างความมั่นใจว่าลูกค้าตัวกลาง มีระบบควบคุม รวมถึงพัฒนาระบบกลางให้ บล.ตรวจสอบหลักทรัพย์ได้
และยังเพิ่มอัตราโทษ บล.ที่ไม่ทำตามเกณฑ์ให้เทียบเท่าต่างประเทศ เช่น กรณีพบ Naked Short Selling จะปรับ 3 เท่าของกำไร (ขั้นต่ำ 1 ล้านบาท) กรณีการทำธุรกรรม Short Selling ไม่ทำตามเกณฑ์ จะปรับไม่เกิน 0.3 ล้านบาท.ต่อครั้ง
2. แก้กฎหมายเพิ่มความรับผิดตลอดสาย โดยลงโทษ/บังคับใช้กฎหมายกับผู้ลงทุนที่ไม่ทำตามเกณฑ์ขายชอร์ต และสร้างกลไกที่ทำให้ทราบถึงผู้รับผลประโยชน์ที่แท้จริง (End-Beneficial Owner)
3. เพิ่มการทำหน้าที่ผู้เก็บรักษาทรัพย์สิน (Custodian) ในฐานะ Gatekeeper: โดยให้ custodian แจ้งวัตถุประสงค์การโอน เพื่อการสอบยันการทำรายการยืม
สำหรับแนวทางปรับปรุงการกำกับดูแลการใช้คอมพิวเตอร์ส่งคำสั่งซื้อขาย (Program Trading) / การส่งคำสั่งด้วยความเร็วสูง (High Frequency Trading : HFT) เพื่อเพิ่มกลไกสร้างความเชื่อมั่นในการซื้อขายโดยรวม มีแนวทางดังนี้
1. ดำเนินการให้สามารถรู้ตัวตนลูกค้าและตรวจสอบได้ ขึ้นทะเบียน (Register) ผู้ลงทุนประเภท HFT กับตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) เพื่อให้สามารถติดตามการซื้อขายของผู้ลงทุน HFT ได้
2. ทบทวนพฤติกรรมไม่เหมาะสม
2.1 เพิ่มลักษณะคำสั่งซื้อขายไม่เหมาะสมให้ครอบคลุมพฤติกรรมการซื้อขายในปัจจุบัน
2.2 จัดทำระบบกลางคัดกรองคำสั่งไม่เหมาะสม (Central Order Screening)
2.2 กำหนดระยะเวลาขั้นต่ำของคำสั่งที่เข้ามา ก่อนที่จะสามารถยกเลิกคำสั่งนั้นได้ (Order Resting Time) เพื่อป้องกันคำสั่งใส่ถอนถี่เกินไป (spoofing)
3. ควบคุมความผันผวนของราคาหลักทรัพย์ :
3.1 ใช้กลไกการเพิ่มเพดานการเคลื่อนไหวของราคาระหว่างวัน (Dynamic Price Band) นอกเหนือจาก เกณฑ์ราคาสูงสุด-ต่ำสุด (Ceiling and Floor) โดยพักการซื้อขายชั่วคราวถ้าหุ้นมีราคาขึ้นหรือลง 10% ของราคาซื้อขายล่าสุด
3.2 ใช้วิธีการซื้อขายแบบประมูล (Auction) กรณีหุ้นอยู่ในมาตรการกำกับการซื้อขาย
4. ผู้ลงทุนที่มีพฤติกรรมไม่เหมาะสม :
4.1 ทบทวนเกณฑ์การดำเนินการ (sanction) กับลูกค้าที่มีพฤติกรรมไม่เหมาะสม
4.2 ตลท. เปิดเผยรายชื่อลูกค้าที่ส่งคำสั่งไม่เหมาะสมให้ทุก บล. ทราบ เพื่อให้ดำเนินการตามที่กำหนด
นางพรอนงค์ กล่าวว่า เบื้องต้นมาตรการดังกล่าวได้รับการพิจารณาเห็นชอบจากบอร์ด ตลท. และมีการส่งเรื่องให้คณะกรรมการ ก.ล.ต.พิจารณาเห็นชอบในหลักการณ์แล้ว ซึ่งหลังจากนี้จะมีการดำเนินการเปิดรับฟังความเห็นจากหน่วยงานผู้เกี่ยวข้อง ซึ่งคาดว่า จะสามารถดำเนินการได้ในไตรมาส 2 ของปีนี้ และคาดว่าจะเริ่มทยอยมีผลบังคับใช้ในไตรมาส 3 ของปีนี้-517-สำนักข่าวไทย
อย่างไรก็ตามมองว่าทุกมาตรการที่ออกไปจะมีการติดตามตรวจสอบอย่างต่อเนื่อง ซึ่งหากยังไม่บรรลุผลก็สามารถปรับระดับเกณฑ์เพิ่มขึ้นได้ อาทิ เกณฑ์บริษัทที่เข้าข่าย Short Selling ได้ ซึ่งอาจมีการเพิ่มมูลค่าหลักทรัพย์ตามราคาตลาด (มาร์เก็ตแคป) จาก 7,000 ล้านบาท ไปจนถึงระดับ 10,000 ล้านบาทได้เป็นต้น.-517-สำนักข่าวไทย