กรุงเทพฯ 1 ก.พ. – ประชาชนที่ได้รับผลกระทบด้านมลพิษทางเสียงและฝุ่นน้ำมันเครื่องบินจากสนามบินสุวรรณภูมิรวมตัวหน้ากระทรวงคมนาคม ขอ “สุริยะ” ช่วยแก้ปัญหา ให้ทอท. จ่ายเงินเยียวยา หลังจากได้รับผลกระทบมานานถึง 17 ปี
นายธนินท์รัฐ ภักดีภิญโญ นำประชาชนผู้ได้รับความเดือดร้อนมลพิษทางเสียงและฝุ่นน้ำมันเครื่องบินจากสนามบินสุวรรณภูมิ จังหวัดสมุทรปราการ มายื่นหนังสือต่อนายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคมเพื่อเรียกร้องให้การท่าอากาศยานแห่งประเทศไทย (ทอท.) จ่ายเงินเยียวยาแก่ผู้ได้รับผลกระทบ
ทั้งนี้ผู้ได้รับผลกระทบประกอบด้วย ประชาชนในอำเภอบางพลี 271,962 คน เขตร่มเกล้า เขตลาดกระบัง เขตมีนบุรี และเขตหนองจอก อีกประมาณ 1 ล้านคน โดยได้รับความเดือดร้อนอย่างแสนสาหัสจากมลพิษตลอดระยะเวลา 17 ปี นับแต่วันที่ 28 กันยายน 2549 ที่ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิเปิดทำการบิน ไฟท์แรกของสนามบิน ประชาชนประชาชนได้รับความเดือดร้อน ป่วยเป็นภูมิแพ้ ไซนัสอักเสบ จนถึงมะเร็งในโพรงจมูก ตลอดจน หูดับ หูอื้อ โรคเครียด นอนไม่หลับเพราะทนฟังเสียงเครื่องบินวันละหลายพันเที่ยวบิน ตลอดเวลา 24 ชั่วโมง
ที่ผ่านมาทอท. ไม่เคยลงมาดูแล หรือมีหน่วยแพทย์มาดูแลสุขภาพของประชาชน หรือมีกองทุนมาช่วยเหลือแม้แต่บาทเดียว ล่าสุดทราบว่า ทอท. รายงาน ครม.ว่า ได้เยียวยา ช่วยเหลือประชาชนในพื้นที่ที่ได้รับมลพิษต่างๆ จบไปแล้ว 98% เหลือเพียง 2% ทั้งที่จริงแล้วเส้นเสียง (รันเวย์) ที่ 1-2 มีประชาชนยังไม่ได้รับการช่วยเหลืออีกจำนวนมาก
ดังนั้นจึงขอให้นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ซึ่งเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ ของทอท. ตรวจสอบการทำงานของ ทอท. ใน 3 ประเด็นได้แก่
1. มีการเรียกหัวคิวบ้านละ 50,000 บาท หากบ้านใดต้องการได้รับการเยียวยาหรือความช่วยเหลือโดยเร็ว มีจริงหรือไม่
2. ตั้งแต่ต้นเดือนมกราคม 2567 มีกลุ่มบุคคลโทรมาข่มขู่ชาวบ้าน ไม่ให้ออกมาร่วมตัวยื่นหนังสือ ไม่เช่นนั้นจะไม่พิจารณาช่วยเหลือเยียวยา
3. ก่อนหน้านี้เตรียมจะไปยื่นหนังสือที่ทำการ ทอท. ที่สุวรรณภูมิ มีโทรศัพท์มาข่มขู่ว่า หากใครมาที่ สุวรรณภูมิจะแจ้งพวกผมข้อหาก่อการร้าย
พร้อมกันนี้ขอให้ครม. พิจารณาชดเชยเยียวยาประชาชนด้วยความเท่าเทียมกันทุกบ้าน โดยรอบสุวรรณภูมิ ทั้งทิศเหนือและทิศใต้ เพราะประชาชนต้องอยู่อาศัยชั่วลูกชั่วหลาน ตลอดจนขอให้ชลอการอนุญาตการบิน สำหรับ รันเวย์ที่ 3- 4 จนกว่าจะเยียวยาช่วยเหลือประชาชนในเส้นเสียงที่ 1-2 ให้จบสิ้นเสียก่อน
หากปัญหายังคงไม่ได้รับการแก้ไขจะยื่นเรื่องต่อป.ป.ช. ให้พิจารณาว่า ข้าราชการปฏิบัติหน้าที่หรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่หรือไม่
ต่อมานายกฤชนนท์ อัยยปัญญา ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงคมนาคม ในฐานะโฆษกกระทรวงคมนาคมได้มารับหนังสือจากกลุ่มผู้ร้องเรียน โดยระบุว่า จะนำเสนอต่อรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคมเพื่อเร่งแก้ปัญหาให้ประชาชนต่อไป. 512 – สำนักข่าวไทย