กรุงเทพฯ 19 ม.ค.–กลุ่มแบงก์ ทยอยประกาศผลดำเนินการ 66 ส่วนใหญ่กำไรเพิ่มจากการเพิ่มขึ้นของรายได้ดอกเบี้ยที่ขยับตามตลาด โดย BBLกำไรโตร้อยละ 42
ธนาคารกรุงศรีอยุธยา จำกัด (มหาชน) และบริษัทในเครือ รายงานผลประกอบการสำหรับปี 2566 มีกำไรสุทธิจำนวน 32.93 พันล้านบาท เติบโต 7.2% จากปีก่อนหน้า โดยมีปัจจัยสนับสนุนมาจากการเพิ่มขึ้นของรายได้ดอกเบี้ยสุทธิและรายได้ค่าธรรมเนียมและบริการสุทธิของธุรกิจสินเชื่อเพื่อผู้บริโภคในต่างประเทศ ผนวกกับการตั้งสำรองตามนโยบายบริหารจัดการความเสี่ยงที่เข้มงวดระมัดระวังเพื่อความแข็งแกร่งของคุณภาพสินทรัพย์ ในขณะที่ สินเชื่อรวมของธนาคารเติบโต 3.5% ในปี 2566 หรือจำนวน 67,795 ล้านบาท ส่วนต่างอัตราดอกเบี้ยสุทธิ (NIM) เพิ่มขึ้นมาที่ 3.91% จาก 3.45% ในปี 2565 โดยมีปัจจัยหลักมาจากการเพิ่มขึ้นของอัตราผลตอบแทนของสินทรัพย์ที่ปรับตัวดีขึ้น โดยมีปัจจัยสนับสนุนมาจากการควบรวมธุรกิจสินเชื่อเพื่อผู้บริโภคในต่างประเทศ แม้ต้นทุนทางการเงินจะเพิ่มขึ้นก็ตาม
นายเคนอิจิ ยามาโตะ กรรมการผู้จัดการใหญ่และประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ธนาคารกรุงศรีอยุธยา จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า ในปี 2566 สภาวะเศรษฐกิจไทยโดยภาพรวมยังคงเติบโตอย่างต่อเนื่อง แม้ว่าจะเป็นการเติบโตที่ช้ากว่าคาดการณ์จากอุปสงค์ในต่างประเทศที่อ่อนแอและการฟื้นตัวในประเทศที่ไม่ครอบคลุมทุกอุตสาหกรรม อย่างไรก็ดี แม้ว่าเศรษฐกิจจะมีแนวโน้มเติบโตดีขึ้นถึง 3.4% ในปี 2567 แต่จากความท้าทายด้านสังคมและ
เศรษฐกิจในปัจจุบัน โดยเฉพาะผู้บริโภครายย่อยและผู้ประกอบการ SME ที่ได้รับผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงเชิงโครงสร้าง กรุงศรีจึงกำหนดพันธกิจสำหรับปีนี้ โดยเร่งดำเนินการช่วยเหลือลูกค้ากลุ่มเปราะบางเหล่านี้อย่างต่อเนื่อง เพื่อให้สามารถปรับตัวและพัฒนาตนเองได้ต่อไป และช่วยบรรเทาปัญหาหนี้เรื้อรังของประเทศอย่างจริงจัง ตอกย้ำหลักการธนาคารพาณิชย์ที่มีจุดยืนเพื่อความยั่งยืนของกรุงศรี รวมทั้งการดำเนินการตามหลักเกณฑ์การให้สินเชื่ออย่างรับผิดชอบและเป็นธรรมของธนาคารแห่งประเทศไทย
ด้าน ธนาคารกรุงเทพ(BBL )และบริษัทย่อยรายงานกำไรสุทธิสำหรับปี 2566 จำนวน 41,636 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 42.1 จากปีก่อน จากการเพิ่มขึ้นของรายได้ดอกเบี้ยสุทธิร้อยละ 28.0 โดยอัตราผลตอบแทนของสินทรัพย์ ที่ก่อให้เกิดรายได้เพิ่มขึ้นสอดคล้องกับภาวะอัตราดอกเบี้ย สุทธิกับต้นทุนเงินรับฝากที่ทยอยเพิ่มขึ้นจาก การปรับขึ้นของอัตราดอกเบี้ยเงินฝาก รวมถึงการปรับอัตราเงินนำส่งกองทุนเพื่อการฟื้นฟูและพัฒนา ระบบสถาบันการเงินเข้าสู่ระดับเดิมตั้งแต่ต้นปี 2566 ส่งผลให้ส่วนต่างอัตราดอกเบี้ยสุทธิอยู่ที่ร้อยละ 3.02 สำหรับรายได้ค่าธรรมเนียมและบริการสุทธิลดลงเล็กน้อย จากธุรกิจหลักทรัพย์ตามปริมาณการซื้อขายใน ตลาดหลักทรัพย์ที่ลดลง
ทั้งนี้ ธนาคารมีการตั้งสำรองด้วยความระมัดระวังอย่างต่อเนื่อง ในไตรมาส 4 ปี 2566 ธนาคารจึงตั้งผลขาดทุนด้านเครดิตที่คาดว่าจะเกิดขึ้นลดลงร้อยละ 18.1 จากไตรมาสก่อน ส่งผลให้ผลขาดทุนด้านเครดิตที่คาดว่าจะเกิดขึ้นในปี 2566 มีจำนวน 33,666 ล้านบาท ซึ่งอยู่ในระดับใกล้เคียงกับปีก่อน โดยยังคงดำเนินธุรกิจด้วยความระมัดระวังและรอบคอบ พร้อมทั้งรักษาเสถียรภาพฐานะการเงิน สภาพคล่อง และเงินกองทุนให้อยู่ในระดับที่เหมาะสม เพื่อการเติบโตอย่างมั่นคงและยั่งยืน
ด้าน ธนาคาร ซีไอเอ็มบี ไทย ประกาศกำไรสุทธิ ปี 2566 จำนวน 1,605.3 ล้านบาท ลดลง 44.9% รายได้จากการดำเนินงาน 13,771.6 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 1.3% รายได้ดอกเบี้ยสุทธิเพิ่มขึ้น 163.3 ล้านบาท หรือ 1.7%
พอล วอง ชี คิน กรรมการผู้จัดการใหญ่และประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ธนาคาร ซีไอเอ็มบี ไทย เปิดเผยว่า ผลการดำเนินงานของกลุ่มธนาคาร สำหรับปีสิ้นสุดวันที่ 31 ธันวาคม 2566 มีรายได้จากการดำเนินงานจำนวน 13,771.6 ล้านบาทเพิ่มขึ้น 170.9 ล้านบาท หรือร้อยละ 1.3 สาเหตุหลักเกิดจากการเพิ่มขึ้นของรายได้อื่นร้อยละ 10.5 และรายได้ดอกเบี้ยสุทธิร้อยละ 1.7 สุทธิกับการลดลงของรายได้ค่าธรรมเนียมและบริการสุทธิร้อยละ 17.9 กำไรจากการดำเนินงานก่อนหักผลขาดทุนด้านเครดิตที่คาดว่าจะเกิดขึ้นลดลงร้อยละ 10.6 เป็นจำนวน 5,138.3 ล้านบาท เนื่องจากค่าใช้จ่ายในการดำเนินงานเพิ่มขึ้น ร้อยละ 10.0 กำไรสุทธิจำนวน 1,605.3 ล้านบาท ลดลงร้อยละ 44.9 เนื่องจากค่าใช้จ่ายในการดำเนินงานเติบโตสูงกว่าการเติบโตของรายได้จากการดำเนินงาน ประกอบกับผลขาดทุนด้านเครดิตที่คาดว่าจะเกิดขึ้นเพิ่มขึ้นร้อยละ 48.5 โดยเป็นการตั้งสำรองเพิ่มขึ้นเพื่อให้สอดคล้องกับหลักความระมัดระวังของธนาคารและเหมาะสมกับสถานการณ์ทางเศรษฐกิจที่เป็นอยู่
ในขณะที่อัตราส่วนรายได้ดอกเบี้ยสุทธิต่อสินทรัพย์เฉลี่ย (Net Interest Margin – NIM) สำหรับปี 2566 อยู่ที่ร้อยละ 2.6 ลดลงจากงวดเดียวกันปี 2565 อยู่ที่ร้อยละ 2.7 เป็นผลจากต้นทุนการเงินที่เพิ่มขึ้น ในขณะที่ สินเชื่อด้อยคุณภาพ (NPLs) อยู่ที่ 8.2 พันล้านบาท อัตราส่วนสินเชื่อด้อยคุณภาพ ต่อเงินให้สินเชื่อทั้งสิ้นอยู่ที่ร้อยละ 3.3 คงที่เมื่อเทียบกับ ณ วันที่ 31 ธันวาคม 2565 เป็นผลจากการที่กลุ่มธนาคารมีนโยบายการจัดการความเสี่ยงด้านการให้สินเชื่อที่รัดกุม มาตรการบริหารจัดการความเสี่ยงที่มีประสิทธิภาพ รวมถึงการปรับปรุงแนวทางในการเรียกเก็บหนี้จากสินเชื่อด้อยคุณภาพที่มีอยู่ และการแก้ปัญหาสินเชื่อด้อยคุณภาพอย่างต่อเนื่อง.-511-สำนักข่าวไทย