กรุงเทพฯ 11 ม.ค.- ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยมั่นใจ ปี 67 ตลาดหุ้นไทยฟื้นตัว หลังจากที่ก่อนหน้านี้มีความผันผวนอย่างหนัก
นายศรพล ตุลยะเสถียร รองผู้จัดการ หัวหน้าสายงานวางแผนกลยุทธ์องค์กร ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย เปิดเผยว่า ปี 2566 เป็นปีที่หุ้นไทยผันผวนค่อนข้างเยอะ ต้นปีมีความกังวลว่าเฟดจะขึ้นดอกเบี้ยอย่างร้อนแรงหรือไม่ เพราะอัตราเงินเฟ้อค่อนข้างสูง นอกจากนี้ยังมีเรื่องแบงก์สหรัฐมีปัญหา แม้จะเป็นแบงก์ขนาดเล็ก แต่ก็ทำให้เกิดความกังวลว่าจะเกิด Recession หรือไม่ แต่สุดท้ายก็ไม่ได้มีผลต่อการเงินของสหรัฐและไทย ช่วงไตรมาส 3 ก็มีเรื่องสงครามอิสราเอล-ฮามาส เข้ามาอีก จึงทำให้ตลอดทั้งปี 2566 มีปัจจัยภายนอกรุมเร้า ส่วนบ้านเราเองก็มีเรื่องการเลือกตั้งในครึ่งปีแรก ส่งผลให้หลายๆอย่างต้องล่าช้าออกไป เช่นเรื่องของงบประมาณของปี 2566 ที่ถูกเลื่อนออกไปเป็นเดือนพฤษภาคม 2567
ปี 2566 หุ้นไทยลบประมาณ 15.2% แต่ในเดือนธันวาคมก็กลับมาบวกได้ 2.6% ปัจจัยที่ยังกังวลก็ยังเป็นเรื่องของเฟดที่ส่งสัญญาณว่าจะไม่ขึ้นดอกเบี้ยแล้ว และจะมีการลดดอกเบี้ยในปี 2567 ก็ส่งผลให้เริ่มเห็น Price in และส่งผลให้สินทรัพย์ต่างๆเริ่มมีความน่าสนใจมากขึ้น เดือนธันวาคม เป็นเดือนแรกของปี 2566 ที่เริ่มเห็นนักลงทุนต่างชาติกลับเข้ามาซึ่งต่อเนื่องมาถึงต้นปี 2567 โดยมูลค่าการซื้อขายเฉลี่ยต่อวันในเดือนธันวาคมใน SET และ mai อยู่ที่ 39,980 ล้านบาท ลดลงจากช่วงเดียวกันปีก่อนหน้า 28.8% โดยมูลค่าการซื้อขายเฉลี่ยต่อวันในปี 2566 อยู่ที่ 53,331 ล้านบาท ผู้ลงทุนต่างชาติซื้อสุทธิ 70 ล้านบาท ทำให้ในปี 2566 ผู้ลงทุนต่างชาติขายสุทธิรวม 192,083 ล้านบาท โดยผู้ลงทุนต่างชาติมีสัดส่วนมูลค่าการซื้อขายสูงสุดต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 20
Forward P/E ของตลาดหลักทรัพย์ไทย ณ สิ้นเดือนธันวาคม 2566 อยู่ที่ระดับ 16.7 เท่า สูงกว่าค่าเฉลี่ยของตลาดหลักทรัพย์ในเอเชียซึ่งอยู่ที่ระดับ 13.4 เท่า และ Historical P/E อยู่ที่ระดับ 19.4 เท่า สูงกว่าค่าเฉลี่ยของตลาดหลักทรัพย์ในเอเชียซึ่งอยู่ที่ระดับ 15.0 เท่า
อย่างไรก็ตามต้องรอดูว่า สิ้นเดือนมกราคมนี้จะเป็นอย่างไร เพราะแต่ละวันยังมีปัจจัยต่างๆที่ทำให้เกิดความผันผวนอยู่ ประกอบกับเรื่องของการคาดการณ์ในปี 2567 จากหลายหน่วยงาน ไม่ว่าจะเป็นแบงก์ชาติ กระทรวงการคลัง IMF world bank ที่คาดการณ์ว่าเศรษฐกิจไทยจะขยายตัวสูงกว่าปี 2566 ซึ่งเป็นเพียงไม่กี่ประเทศในโลกที่จีดีพีจะโตมากขึ้น และยังต้องจับตามมองตัวเลขนักท่องเที่ยวว่าในปีนี้จะเป็นไปตามเป้าหรือไม่ โดยในปี 2566 นักท่องเที่ยวกลับมาบางส่วนแล้ว ตัวเลขก่อนโควิด ไทยมีนักท่องเที่ยวประมาณ 40 ล้านคน ปี 2566 ตัวเลขอยู่ที่ประมาณ 28 ล้านคน ในจำนวนนี้เป็นนักท่องเที่ยวชาติอื่นๆที่ไม่ใช่จีนกลับมาแล้ว 90% ขณะที่นักท่องเที่ยวจีนซึ่งเป็นสัดส่วนใหญ่กลับมา เพียง 30-40% เท่านั้น ซึ่งก็ต้องจับตาว่าในปี 2567 นักท่องเที่ยวจีนจะกลับมาได้อีกหรือไม่ ทั้งนี้ก็ขึ้นกับ 2 ปัจจัย คือ เรื่องของมาตรการฟรีวีซ่า สำหรับนักท่องเที่ยวจีน และเรื่องของเศรษฐกิจจีนเองที่คาดว่าจะดีขึ้น แต่ในข่าวที่ออกมาก็ยังมีความกังวลเรื่องหนี้และแบงก์กิ้ง ก็ต้องดูว่าเศรษฐกิจจีนในปีนี้จะเป็นปัจจัยเสริมหรือปัจจัยลบในการเดินทางมาไทยของนักท่องเที่ยวจีน
แม้ว่าในปี 2566 ตลาดหุ้นไทยจะให้ผลตอบแทนที่ต่ำกว่าตลาดหุ้นในหลายประเทศที่ได้รับอานิสงส์จากเงินทุนไหลเข้าจากแนวโน้มอัตราผลตอบแทนพันธบัตรลดลงและเงินสกุลดอลล่าร์อ่อนค่า แต่หากมองย้อนกลับไปในปี 2565 SET Index เป็นเพียงไม่กี่ดัชนีในโลกที่ให้ผลตอบแทนเป็นบวก และหากพิจารณาในช่วง 2565-2566 จะเห็นว่า SET Index เคลื่อนไหวใกล้เคียงกับดัชนีอื่นๆ ในภูมิภาค
ในปี 2567 มีโอกาสที่เงินลงทุนเคลื่อนย้ายมาตลาดหุ้นในภูมิภาค ASEAN โดยเฉพาะตลาดหุ้นไทยค่อนข้างมาก สังเกตจากเงินบาทที่มีแนวโน้มกลับมาแข็งค่าในระยะปานกลาง ประกอบกับประมาณการเศรษฐกิจไทยในปี 2567 จะขยายตัวได้สูงกว่าคาด ตามการฟื้นตัวของภาคท่องเที่ยว การส่งออก และการบริโภคภายในประเทศ นอกจากนี้ นักวิเคราะห์ปรับคาดการณ์อัตราการเติบโตของกำไรต่อหุ้น (EPS Growth) และ Forward P/E ในปี 2567 ของ SET ไปยังจุดที่มีความน่าสนใจในการลงทุนมากขึ้นกว่าปีก่อนหน้า ขณะที่มีหลายกลุ่มอุตสาหกรรมใน SET ที่มีคาดการณ์ EPS Growth สูงแต่มี valuation ที่ยังอยู่ต่ำกว่าค่าเฉลี่ยในอดีต นอกจากนี้ยังมีเรื่องงบประมาณภาครัฐที่ปีนี้จะมีถึง 2 ก้อน ก้อนแรกเดือนพฤษภาคม ที่เลื่อนจากตุลาคมปีที่แล้ว และก้อนที่ 2 ในเดือนตุลาคม 2567 ก็จะเป็นอีกหนึ่งปัจจัยที่มาเสริม ส่วนอัตราผลตอบแทนของพันธบัตรรัฐบาลไทยน่าจะผ่านจุดสูงสุดแล้ว ขณะที่ Equity premium อาจปรับขึ้นตามประมาณการของนักวิเคราะห์ทำให้ Earning yield gap ของ SET ที่อยู่ในระดับต่ำกว่าค่าเฉลี่ย ณ สิ้นปี 2566 มีแนวโน้มปรับเพิ่มขึ้นในปีถัดไป นอกจากนี้ ตามสถิติย้อนหลังในปีถัดจากที่ SET Index ให้ผลตอบแทนเป็นลบจะมีผลตอบแทนเป็นบวกทุกครั้ง
อย่างไรก็ตามยังต้องจับตาปัจจัยที่สามารถเป็นได้ทั้งความเสี่ยงและโออาส คือ Global Economic Cycle อัตราดอกเบี้ย ความคาดหวังของนักลงทุน ปัจจัยด้านภูมิรัฐศาสตร์ และการเลือกตั้งของประเทศใหญ่ๆ อย่างสหรัฐ รวมถึงเรื่องของเทรนด์ความยั่งยืน-สำนักข่าวไทย-517- สำนักข่าวไทย