กรุงเทพฯ 6 ธ.ค. – หอการค้าไทย มอบรางวัลจรรยาบรรณดีเด่นให้ 60 ธุรกิจ ยึดมั่นดำเนินธุรกิจบนพื้นฐานของจรรยาบรรณและธรรมาภิบาลที่ประกอบด้วยคุณธรรม และจริยธรรมต่อผู้ที่เกี่ยวข้องทุกภาคส่วน ในงานประกาศเกียรติคุณจรรยาบรรณดีเด่น หอการค้าไทย ปีที่ 21 ประจำปี 2566 “ธุรกิจยั่งยืน สืบสานจรรยาบรรณจากรุ่นสู่รุ่น 90 ปี หอการค้าไทย”
นายสนั่น อังอุบลกุล ประธานกรรมการหอการค้าไทยและสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย เปิดเผยว่า โครงการประกาศเกียรติคุณจรรยาบรรณดีเด่น หอการค้าไทย ประจำปี 2566 เป็นโครงการที่ได้จัดต่อเนื่องมาเป็นปีที่ 21 ขณะเดียวกันในปีนี้หอการค้าไทยครบรอบ 90 ปี และได้ขับเคลื่อนองค์กรภายใต้แนวทาง Connect Competitive Sustainable เพื่อยกระดับขีดความสามารถในการแข่งขัน SMEs ให้สามารถปรับรูปแบบธุรกิจ โดยเฉพาะส่งเสริมให้ภาคธุรกิจนำเอาแนวทาง BCG Model และ ESG มาปรับใช้ในการบริหารธุรกิจ ซึ่งนอกจากจะเป็นเทรนด์สำคัญของโลกแล้ว ยังเป็นการสร้างความสมดุลให้ทั้งภาคเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม เพื่อส่งต่อให้คนรุ่นใหม่ได้ต่อไป

“จรรยาบรรณ อาจจะไม่ได้ทำให้ธุรกิจเติบโตได้อย่างก้าวกระโดด แต่จะเป็นภูมิคุ้มกันให้ธุรกิจสามารถก้าวความวิกฤตและความท้าทาย และพร้อมจะเติบโตอย่างมั่นคงได้ในอนาคต” นายสนั่น กล่าว
ท้ายนี้เชื่อว่าโครงการประกาศเกียรติคุณจรรยาบรรณดีเด่น หอการค้าไทย จะสามารถสร้างความตระหนัก และตื่นตัว ให้กับภาคธุรกิจ โดยหวังเป็นอย่างยิ่งว่าทุกธุรกิจที่ได้รับรางวัลในวันนี้ จะรักษาและมุ่งมั่นสร้างจรรยาบรรณที่ดีของภาคธุรกิจอย่างต่อเนื่อง เพื่อให้องค์กรมีความมั่นคง เข้มแข็ง และ ยั่งยืนต่อไป

ดร.สุเมธ ตันติเวชกุล เลขาธิการมูลนิธิชัยพัฒนา กล่าวว่าจรรยาบรรณ เป็นสิ่งสำคัญที่คนส่วนใหญ่รู้ แต่ถูกมองข้าม ซึ่งจรรยาบรรณมาจากพฤติกรรมของมนุษย์ โดยเฉพาะความรับผิดชอบของผู้ประกอบการธุรกิจต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นการใช้เงินงบประมาณอย่างเหมาะสมและเกิดประโยชน์สูงสุด รวมไปถึงการดำเนินธุรกิจดีจะต้องเป็นโยชน์หรือให้คุณค่ากับแผ่นดิน เพราะหากธุรกิจดีแต่สังคมมีปัญหาจะกลายเป็นการพัฒนาที่ไม่ยั่งยืน ทั้งนี้ ในโลกปัจจุบัน การ Disruption มีความหลากหลายมากขึ้นสิ่งที่ต้องระวังคือ Human Disruption ที่กำลังจะเกิดขึ้นในอนาคต ดังนั้น มนุษย์จึงต้องทำสิ่งที่ดีให้สามารถถ่ายทอดไปยังลูกหลานสืบทอดต่อๆ กันไป รวมทั้งการปรับแนวความคิดของคนรุ่นเก่าสามารถนำมาแลกเปลี่ยนพูดคุยกับแนวคิดของคนรุ่นใหม่เพื่อให้เกิดความยั่งยืน
“การทำธุรกิจจนประสบความสำเร็จเป็นที่ยกย่องทางสังคมว่าเป็นคนรวย แต่ความรวยไม่ได้เป็นสิ่งสืบสานต่อกัน สิ่งสำคัญคือผลประโยชน์ต่อสังคม การทำอย่างไรให้สังคมดีขึ้น สิ่งเหล่านี้เป็นสิ่งสืบสานที่ดียิ่ง” ดร.สุเมธ กล่าว
นางวีนัส อัศวสิทธิถาวร ประธานคณะกรรมการต่อต้านคอร์รัปชัน และส่งเสริมจรรยาบรรณ หอการค้าไทยกล่าวว่า ปัจจุบันโลกเปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็ว ที่ผ่านมาเราพบวิกฤตในหลายด้าน ทั้งสิ่งแวดล้อม สงครามความขัดแย้งทางเศรษฐกิจโลก ตลอดจนความเหลื่อมล้ำในสังคม ซึ่งเหล่านี้ส่งผลกระทบกับหลายธุรกิจอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ดังนั้น ธุรกิจที่จะอยู่รอดได้คือธุรกิจที่มุ่งปรับตัวอย่างรวดเร็วอยู่เสมอเพื่อให้ทันต่อการเปลี่ยนแปลงของโลก โดยเฉพาะการให้ความสำคัญกับการดำเนินธุรกิจอย่างซื่อสัตย์สุจริต โปร่งใส เป็นแบบอย่างที่ดี รวมทั้งมีความรับผิดชอบต่อสิ่งแวดล้อมและสังคม ซึ่งเป็นบทพิสูจน์จรรยาบรรณขององค์กรที่จะส่งต่อจากรุ่นสู่รุ่น และเป็นคุณสมบัติของนักธุรกิจยุคใหม่ที่จะก้าวข้ามผ่านทุกวิกฤตไปได้
“โครงการประกาศเกียรติคุณจรรยาบรรณดีเด่น หอการค้าไทย ประจำปี 2566 เป็นเวทีแห่งการเชิดชูเกียรติ สมาชิกหอการค้าไทยและผู้ประกอบธุรกิจ ที่ได้ยึดมั่นในหลักการดำเนินธุรกิจด้วยจรรยาบรรณและธรรมาภิบาล ซึ่งโครงการฯ ได้สร้างต้นแบบธุรกิจที่ดี เป็นแบบอย่างให้กับสมาชิก และผู้ประกอบการ จำนวน 246 ธุรกิจ โดยในปีนี้ มีผู้ประกอบการยึดมั่นในหลักการทำธุรกิจอย่างมีจรรยาบรรณตามหลักเกณฑ์ของหอการค้าไทย ให้ความสนใจสมัครเข้าร่วม “โครงการจรรยาบรรณดีเด่นหอการค้าไทย” จำนวนกว่า 70 บริษัท และได้รับรางวัล จำนวน 30 บริษัท พร้อมกันนี้ ยังมีบริษัทเข้ารับเข็มชมรมจรรยาบรรณ จำนวน 23 บริษัท ซึ่งเป็นสิ่งที่ยืนยันถึงการยอมรับในแนวทางการดำเนินธุรกิจอย่างมีจรรยาบรรณ และสร้างความรับผิดชอบต่อสังคม” นางวีนัส กล่าว.-514-สำนักข่าวไทย