นนทบุรี 1 ธ.ค.-กรมการค้าต่างประเทศย้ำเตือน การปลอมหนังสือรับรองถิ่นกำเนิดสินค้าแล้วนำไปใช้สิทธิพิเศษทางภาษีศุลกากรที่ประเทศปลายทาง นอกจากจะมีความผิดตามกฎหมายแล้วยังส่งผลให้ปลายทางเข้มงวดตรวจสอบการใช้สิทธิฯ ของสินค้าจากไทยมากขึ้น
นายรณรงค์ พูลพิพัฒน์ อธิบดีกรมการค้าต่างประเทศ เปิดเผยว่า ในช่วงปี 2566 (มกราคม – ตุลาคม) กรมฯ ในฐานะหน่วยงานหลักที่มีหน้าที่ออกหนังสือรับรองถิ่นกำเนิดสินค้า (Certificate of Origin : C/O) ให้ผู้ส่งออกนำไปใช้สิทธิพิเศษทางภาษีศุลกากรภายใต้ความตกลงการค้าเสรีต่างๆ ได้รับการร้องขอจากหน่วยงานศุลกากรสาธารณรัฐประชาชนจีนให้ตรวจสอบความถูกต้องของหนังสือรับรองถิ่นกำเนิดสินค้า (Form E) รวมจำนวน 585 ฉบับ ภายใต้ความตกลงการค้าเสรีอาเซียน-จีน ซึ่งการตรวจสอบพบว่า มีผู้ที่ไม่หวังดีได้ทำ Form E ปลอมขึ้นมา เพื่อนำไปใช้แสดงต่อศุลกากรจีนเพื่อใช้สิทธิพิเศษทางภาษีศุลกากร โดยหมายเลขอ้างอิง (Reference No.) ที่แสดงบน Form E ปลอมดังกล่าว จะไม่พบในระบบการออกหนังสือรับรองฯ ของกรมฯ รวมถึงระบบ THAILAND CERTIFICATE ON-LINE INQUIRY SYSTEM (TCOIS) ซึ่งเป็นระบบที่ใช้ตรวจสอบความถูกต้อง/ความแท้จริงของหนังสือรับรองถิ่นกำเนิดสินค้าที่ออกโดยกรมฯ ซึ่งการปลอม Form E ดังกล่าวสร้างความเสียหายและส่งผลกระทบต่อความเชื่อมั่นของการส่งออกสินค้าไปจีนซึ่งเป็นตลาดหลักของไทยเป็นอย่างมาก
ทั้งนี้ จากสถิติการออก Form E ของกรมฯ ในปี 2566 (มกราคม – ตุลาคม) มีจำนวนรวม 217,007 ฉบับ คิดเป็นมูลค่าส่งออก 20,508 ล้านเหรียญสหรัฐฯ โดยมี Form E ที่ถูกปลอมขึ้นจำนวน 585 ฉบับ คิดเป็นร้อยละ 0.27 ของ Form E ทั้งหมด โดยสินค้าที่ระบุใน Form E ปลอมส่วนใหญ่ คือ ทุเรียนสดและส้มโอสด ถึงแม้ Form E ปลอมจะมีสัดส่วนน้อยเมื่อเทียบกับการออก Form E ทั้งหมดในช่วงเวลาเดียวกัน แต่ส่งผลกระทบต่อความเชื่อมั่นในการออกหนังสือรับรองถิ่นกำเนิดสินค้าของไทย หากเกิดขึ้นมากจะทำให้ศุลกากรจีนเข้มงวดกับการใช้สิทธิพิเศษฯ กับสินค้าจากไทยมากขึ้น และอาจจะส่งผลกระทบต่อการส่งออกผลไม้ของไทยที่ส่งออกไปจีนเป็นจำนวนมากด้วย
อย่างไรก็ตาม กรมฯ ได้ดำเนินการอย่างเข้มงวดในการสืบสวนสอบสวน หาตัวผู้กระทำความผิดในการปลอม Form E และดำเนินการตามขั้นตอนทางกฎหมายต่อไป นอกจากนี้ กรมฯ ได้พัฒนาระบบการให้บริการออกหนังสือรับรองถิ่นกำเนิดสินค้าใหม่ หรือที่เรียกว่า ระบบ DFT SMART C/O ที่จะนำร่องเปิดให้บริการกับ 4 ความตกลงฯ ได้แก่ RCEP, อาเซียน-ฮ่องกง, อาเซียน-ญี่ปุ่น และไทย-เปรู ในวันที่ 15 ธันวาคม 2566 นี้
ทั้งนี้ ระบบฯ ดังกล่าว ผู้ส่งออกสามารถพิมพ์หนังสือรับรองถิ่นกำเนิดสินค้าได้ด้วยตนเอง (Self-Printing) และได้เพิ่มมาตรฐานความปลอดภัยในการป้องกันการปลอมเอกสาร โดยจะมี QR Code 2 รหัส แสดงบนหนังสือรับรองฯ เพื่อใช้ตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูลและแสดงการประทับรับรองเวลาอิเล็กทรอนิกส์ (e-timestamping) จากสำนักงานพัฒนาธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ โดยกระดาษแบบพิมพ์หนังสือรับรองฯ ยังเพิ่มฟังก์ชันพิเศษและกำหนดเลขที่หนังสือรับรองฯ รูปแบบใหม่ เพื่อให้ยากต่อการปลอมแปลง หากมีข้อสงสัยเกี่ยวกับการขอหนังสือรับรองถิ่นกำเนิดสินค้า สามารถสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ สำนักบริการการค้าต่างประเทศ กรมการค้าต่างประเทศ หมายเลขโทรศัพท์ 0 2547 4830 , 0 2547 4838 หรือสายด่วน 1385 และ www.dft.go.th .-514-สำนักข่าวไทย