กระทรวงการคลัง 27 พ.ย.- คลังหนุน “ออมเพลิน” บนแอปพลิเคชัน เป๋าตัง หนุนสะสมเงินออมระยะยาว สร้างหลักประกันมั่นคงให้แรงงานนอกระบบ
นายลวรณ แสงสนิท ปลัดกระทรวงการคลัง เป็นประธานเปิดบริการ “ออมเพลิน” บนแอปพลิเคชัน เป๋าตัง บริการออมเงินรูปแบบใหม่สำหรับแรงงานนอกระบบ พัฒนาจากแนวคิด “การออมเงินอัตโนมัติเพื่อการเกษียณ” กระตุ้นให้ออมเงินด้วยตัวเองทุกครั้งที่ใช้จ่าย โดยเชื่อมกับกระเป๋าเงินอิเล็กทรอนิกส์ภาครัฐ (G Wallet) เพื่อสะสมเงินเข้ากองทุนการออมแห่งชาติ (กอช.) สร้างหลักประกันที่มั่นคงในชีวิตให้กับแรงงาน
นายผยง ศรีวณิช กรรมการผู้จัดการใหญ่ ธนาคารกรุงไทย กล่าวว่า ธนาคารกรุงไทย ในฐานะธนาคารพาณิชย์ของรัฐ ให้ความสำคัญนำนวัตกรรม มาพัฒนาสร้างคุณค่าต่อลูกค้า ประชาชนและสังคมรองรับยุค Digital Economy เพื่อให้คนไทยมีความรู้ ความเข้าใจในการวางแผนทางการเงินที่ถูกต้อง นำไปสู่การบริหารจัดการทางการเงินที่ตรงเป้าหมายของตัวเอง ยกระดับคุณภาพชีวิตให้กับคนไทยในทุกกลุ่ม ทุกมิติ
ธนาคารได้พัฒนา “เป๋าตัง” ซึ่งเป็น Thailand Open Digital Platform มีผู้ใช้งานมากกว่า 40 ล้านคน มาช่วยให้ประชาชนคนไทย มีโอกาสเข้าถึงการออมและการลงทุนอย่างเท่าเทียมและทั่วถึง ส่งเสริมการลงทุนด้วยเงินทุนเริ่มต้นจำนวนน้อย เมื่อไทยกำลังก้าวเข้าสู่ “สังคมผู้สูงอายุ” ภายในปี 2573 สัดส่วนของประชากรไทยอายุมากกว่า 60 ปี จะสูงถึง 28% ของประชากรทั้งหมด จึงต้องการส่งเสริมการออมให้กับกลุ่มแรงงานนอกระบบ มากกว่า 20 ล้านคน การสนับสนุนการมีวินัยการเงิน ช่วยส่งเสริม Safety Net หรือความมั่นคงของชีวิต ในยามสูงวัย
ธนาคารกรุงไทยจึงได้ร่วมมือกับ กระทรวงการคลัง สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง มูลนิธิ สวค.และ กอช. พัฒนา บริการออมเพลิน บนแอปพลิเคชันเป๋าตัง มาเป็นกลไกสำคัญ เพื่อส่งเสริมให้แรงงานนอกระบบ สามารถเข้าถึงบริการทางการเงิน รวมทั้งสร้างวินัยการออมเงิน เพื่อการเกษียณอายุของตนเองมากขึ้น ด้วยแนวคิด Automatic Saving for Retirement ออมอัตโนมัติเพื่อความมั่นคงวัยเกษียณ การใช้สอยด้วยการชำระเงินอิเล็กทรอนิกส์ผ่าน G-Wallet โดยใช้งานง่าย สะดวก สะสมเงินออมทุกวันในทุกครั้งที่ใช้จ่ายแบบอัตโนมัติ เพียงดาวน์โหลดแอปพลิเคชันเป๋าตัง สมัครบริการและใช้จ่ายผ่านออมเพลิน โดยทุกครั้งที่ใช้จ่าย จะหักเงินออม 5 บาท สะสมครบ 50 บาท กดนำส่งเข้ากองทุน กอช.ได้ทันที ทุกที่ ทุกเวลา และยังได้รับเงินสมทบจากรัฐบาล เสริมสร้างหลักประกันในชีวิตให้กับแรงงานนอกระบบให้มีความมั่นคงทางการเงินในระยะยาว รองรับการก้าวเข้าสู่ “สังคมผู้สูงอายุ” .-สำนักข่าวไทย