กรุงเทพ 24 พ.ย.-คมนาคม ผลักดันลงนามเอ็มโอยู ระหว่างกรมการขนส่งทางบก กับ การรถไฟแห่งประเทศไทยรองรับการเชื่อมต่อระหว่างทางบกกับทางราง แบบไร้รอยต่อ นำร่องศูนย์ขนส่งสินค้าเชียงของ จ.เชียงราย กับ ศูนย์ขนส่งชายแดน จ.นครพนม เพื่อลดต้นทุนด้านโลจิสติกส์
นายสุรพงษ์ ปิยะโชติ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม เป็นประธานในพิธีลงนามดังนามดังกล่าว ระหว่างกรมการขนส่งทางบก กับ การรถไฟแห่งประเทศไทย โดยมีนายจิรุตม์ วิศาลจิตร อธิบดีกรมการขนส่งทางบก และ นายนิรุฒ มณีพันธ์ ผู้ว่าการรถไฟแห่งประเทศไทย ร่วมลงนามในบันทึกข้อตกลง
นายจิรุตม์ กล่าวว่า กรมการขนส่งทางบก มีแผนลงทุนพัฒนาสถานีขนส่งสินค้า (Truck Terminal) เพื่อกระจายสินค้าบนเส้นทางยุทธศาสตร์และพื้นที่ที่มีศักยภาพทั้งในเมืองหลักและจังหวัดชายแดนทั่วประเทศรวมทั้งรองรับการเชื่อมต่อการขนส่งกับระบบราง ขณะที่การรถไฟแห่งประเทศไทย ได้มีแผนพัฒนาโครงข่ายระบบรางให้ครอบคลุมทั่วประเทศเช่นโครงการก่อสร้างรถไฟรางคู่ โครงการก่อสร้างรถไฟสายใหม่ ซึ่งจะมีการก่อสร้างย่านกองเก็บสินค้าเพื่อรองรับการกระจายสินค้าระหว่างถนนกับทางราง และการเชื่อมต่อระดับภูมิภาคซึ่งหากทั้งสองหน่วยงานสามารถเชื่อมต่อการขนส่งได้แบบไร้รอยต่อ จะช่วยเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันและลดต้นทุนด้านโลจิสติกส์
ปัจจุบัน กรมการขนส่งทางบก กำลังก่อสร้างศูนย์เปลี่ยนถ่ายการขนส่งสินค้าเชียงของ จ.เชียงราย ซึ่งการก่อสร้างอยู่ในระยะที่ 2 และอยู่ในกระบวนการคัดเลือกเอกชนตามขั้นตอนกฎหมายร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชน โดยมีแผนลงนามในสัญญาร่วมลงทุนในปี 2567 และศูนย์การขนส่งชายแดนจังหวัดนครพนม ซึ่งอยู่ระหว่างการก่อสร้างทั้งในส่วนภาครัฐและเอกชน โดยมีแผนเปิดให้บริการในปี 2568 ทั้งนี้ทั้งสองโครงการจะเชื่อมต่อกับระบบรางผ่านโครงการรถไฟทางคู่สายใหม่ของการรถไฟแห่งประเทศไทย ที่อยู่ระหว่างการก่อสร้าง คือ โครงการรถไฟทางคู่สายเด่นชัย-เชียงราย-เชียงของและโครงการรถไฟทางคู่ สายบ้านไผ่-นครพนม
นายนิรุฒ กล่าวเพิ่มเติมว่า ทั้งการรถไฟแห่งประเทศไทยและกรมการขนส่งทางบก ต่างให้ความสำคัญกับการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน เพื่อตอบโจทย์ของผู้ประกอบการขนส่งและเจ้าของสินค้าได้อย่างตรงเป้าหมาย รวมทั้งจะเป็นการเปิดประตูการค้า การลงทุน ช่วยขับเคลื่อนเศรษฐกิจในพื้นที่อีกทางหนึ่งแบบไร้รอยต่อ
สำหรับประโยชน์ที่จะได้รับจากการลงนามในครั้งนี้ ศูนย์ขนถ่ายสินค้าทั้ง 2 ศูนย์ จะส่งสินค้าจากไทยไปจีนทางตอนใต้และเวียดนาม ขณะเดียวกันก็จะเป็นศูนย์ที่จะรับสินค้าจากจีนตอนใต้และเวียดนามมาส่งที่ท่าเรือแหลมฉบัง รวมทั้งรับวัตถุดิบจากจีนและเวียดนามที่จะนำมาแปรรูปและส่งออกที่ท่าเรือแหลมฉบัง ชลบุรี ด้วยเช่นกัน.-สำนักข่าวไทย