กรุงเทพฯ 27 ต.ค.-สศค.หั่น GDP ไทยปี 66 เหลือโต 2.7% คาดมาตรการกระตุ้น เช่น เงินดิจิทัล และอื่นๆ ส่งผลต่อเศรษฐกิจ ประเมินปี 67 จีดีพีโต 3.2%
นายพรชัย ฐีระเวช ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) โฆษกกระทรวงการคลัง แถลงผลการประมาณการเศรษฐกิจไทย (จีดีพี) ปี 2566 ว่า คาดว่าจะขยายตัวที่ 2.7% (ช่วงคาดการณ์ที่ 2.2-3.2%) จากเดิมที่คาดไว้จะโตได้ 3.5% หลังส่งออกมีแนวโน้มติดลบ 1.8% จากการชะลอตัวของเศรษฐกิจคู่ค้า และลงทุนภาครัฐทรงตัว เหตุกระบวนการจัดทำงบประมาณรายจ่ายปี 2567 ล่าช้า ส่วนปี 2567 คาดเศรษฐกิจจะขยายตัวเร่งขึ้นที่ 3.2% ต่อปี (ช่วงคาดการณ์ที่ 2.2-4.2%) โดยได้รับปัจจัยสนับสนุนจากการบริโภคภาคเอกชน และภาคการส่งออก ขณะที่ภาคการท่องเที่ยวยังฟื้นตัวต่อเนื่อง
สำหรับปัจจัยสำคัญที่จะส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจไทยซึ่งต้องติดตามอย่างใกล้ชิด อาทิ
1) ความขัดแย้งทางภูมิรัฐศาสตร์โลกในภูมิภาคต่าง ๆ ซึ่งอาจเป็นข้อจำกัดต่อการเติบโตของเศรษฐกิจไทยในระยะถัดไป เช่น สถานการณ์สู้รบในอิสราเอลและกาซาที่อาจส่งผลกระทบต่อราคาพลังงานให้ปรับตัวสูงขึ้น ความยืดเยื้อของสงครามระหว่างรัสเซียและยูเครน และการแข่งขันเชิงยุทธศาสตร์ระหว่างจีนและสหรัฐฯซึ่งอาจส่งผลกระทบต่อห่วงโซ่อุปทานโลกและการค้าระหว่างประเทศ จำเป็นต้องติดตามบทบาทและท่าทีของแต่ละประเทศอย่างใกล้ชิด
2) ความผันผวนของตลาดการเงินโลกจากการดำเนินนโยบายการเงินที่เข้มงวดของประเทศคู่ค้าหลักและปัญหาสถาบันการเงินในต่างประเทศ โดยเฉพาะประเทศสหรัฐอเมริกาและสหภาพยุโรป
3) สถานการณ์เศรษฐกิจจีนที่ประสบปัญหาการชะลอตัวทางเศรษฐกิจ ส่งผลต่อการส่งออกและการฟื้นตัวของภาคการท่องเที่ยวของไทย
4) ปรากฏการณ์เอลนีโญ (El Nino) ที่อาจทำให้เกิดภัยแล้งในปี 2567 ส่งผลกระทบต่อรายได้เกษตรกร
“เดือน พ.ย.66 กระทรวงการคลัง สำนักงบประมาณ สำนักงานพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) และ ธปท. ต้องเริ่มคุยถึงแนวทางการจัดทำงบประมาณปี 2568 และภาพรวมการขยายตัวของเศรษฐกิจในปีดังกล่าว เพื่อให้เห็นภาพเศรษฐกิจที่ชัดเจนขึ้น ซึ่งในช่วงต้น-กลางปี 2567 จะมีมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐเข้าไปช่วย ทั้งมาตรการเติมเงินดิจิทัล 10,000 บาท และมาตรการอื่น ๆ ในการดูแลยกระดับคุณภาพชีวิตประชาชน แต่จะมีส่วนช่วยให้เศรษฐกิจขยายตัวได้เท่าไหร่ คงต้องไปดูเงื่อนไขการใช้จ่าย กลุ่มเป้าหมาย และเม็ดเงินที่จะเข้าสู่ระบบเศรษฐกิจว่ามีเท่าไหร่ รวมทั้งยังมีการลงทุนภาครัฐและรัฐวิสาหกิจ ขณะที่การส่งออกน่าจะฟื้นตัวดีขึ้น โดยปัจจัยเหล่านี้จะส่งผลต่อการขยายตัวทางเศรษฐกิจจากระดับปัจจุบันให้เติบโตได้ถึงระดับศักยภาพ โดยการที่จะทำให้ GDP ขยายตัวเพิ่มขึ้น 1% นั้น จะต้องมีเม็ดเงินเข้าไปหมุนเวียนในระบบเศรษฐกิจ 4 แสนล้านบาท” นายพรชัย กล่าว.-สำนักข่าวไทย