กรุงเทพฯ 24 ก.ย. – บริษัท ปตท. น้ำมันและการค้าปลีก จำกัด (มหาชน) หรือ OR แจงกระทบน้อย หนุนภาครัฐลดค่าครองชีพประชาชน พร้อมเผยรายได้อื่นเติบโตตามเป้าหมายที่วางไว้ แต่ละปีกำไรเติบโต 10%
นายดิษทัต ปันยารชุน ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ปตท. น้ำมันและการค้าปลีก จำกัด (มหาชน) หรือ OR เปิดเผยว่า แม้ว่าอาจจะมีผลกระทบจากนโยบายของภาครัฐบาลที่ปรับลดราคาน้ำมันและค่าการตลาดลงบ้าง แต่ก็กระทบน้อย เพราะหากดูพอร์ตกำไรแล้ว การขายปลีกน้ำมันผ่านสถานีบริการน้ำมันพีทีที สเตชั่น เป็นตัวเลขไม่มาก มีเพียงสัดส่วนไม่เกิน 30% ของกำไรสุทธิเท่านั้น และหากเทียบสัดส่วนยอดขายในธุรกิจค้าปลีกผ่านปั๊มน้ำมัน จะมีสัดส่วนยอดขาย 55% ของธุรกิจ mobility ที่เหลืออีก 45% เป็นการค้าน้ำมันอื่นๆ ได้แก่ การค้าน้ำมันเครื่อง เครื่องบิน เดินเรือ อุตสาหกรรม ราชการ แอลพีจี และผลิตภัณฑ์พิเศษ เช่น ยางมะตอย โดยธุรกิจของโออาร์ มี 4 ด้าน คือ mobility, lifesyle, global และ innovation
“นโยบายรัฐเรื่องการลดค่าครองชีพ นับว่าเป็นเรื่องที่ดีต่อประชาชน ส่วนผลกระทบของโออาร์ก็ไม่มากนัก เพราะเป็นผู้ซื้อมาขายไป มีพอร์ตขายปลีกเป็นสัดส่วนของกำไรไม่มากนัก ราว 30% ของกำไรสุทธิ ในขณะที่ค่าการตลาดก็อยู่ในกรอบของภาครัฐมาโดยตลอด คือไม่เกิน 2 บาท/ลิตร นอกจากนี้ ธุรกิจอื่นๆ ยังขยายตัวได้ดี เช่น น้ำมันหล่อลื่น น้ำมันอากาศยานที่แข่งขันอย่างเต็มที่ โออาร์ก็สามารถชิงยอดขายเป็นอันดับที่ 1” นายดิษทัต กล่าว
ส่วนยอดขายน้ำมันอากาศยานเป็นธุรกิจที่แข่งขันเต็มที่ ปี 2566 โออาร์เติบโตต่อเนื่อง ยอดขายปีนี้ขยายตัว 60% เมื่อเทียบกับปีที่แล้ว คาดประมาณ 3,200 ล้านลิตร ส่วนปี 2567 คาดว่ายอดขายจะฟื้นตัวเทียบเท่ากับช่วงก่อนเกิดวิกฤติโควิด-19 ที่ประมาณ 4,000 ล้านลิตร/ปี และคาดว่านโยบายส่งเสริมการท่องเที่ยว เช่น ฟรีวีซ่านักท่องเที่ยวจีน-คาซัคสถาน ตั้งแต่วันที่ 25 กันยายน 2566 – 29 กุมภาพันธ์ 2567 จะช่วยทำให้การท่องเที่ยวคึกคัก ยอดขายน้ำมันและอื่นๆ ก็จะเพิ่มขึ้น
ทิศทางผลการดำเนินงานในช่วงครึ่งหลังของปีนี้ ยอดขายน้ำมันยังคงเติบโตขึ้นต่อเนื่องจากครึ่งปีแรก รวมถึงธุรกิจอื่นๆ ส่งผลให้คาดว่าภาพรวมผลประกอบการทั้งปีนี้จะเป็นไปตามเป้าหมายที่วางไว้ รักษาระดับกำไรเติบโตในภาวะปกติปีละ 10% ขณะที่ไตรมาส 3/2566 บริษัทยังสามารถสร้างผลกำไรตามทิศทางที่กำหนด
ส่วนที่ช่วงครึ่งแรกของปี 66 มีกำไร 5,732 ล้านบาท ลดลงจากช่วงเดียวกันของปีก่อนที่มีกำไร 10,413 ล้านบาท เป็นเพราะปี 65 มีกำไรขั้นต้นเฉลี่ยสูงกว่าปกติ จากราคาน้ำมันในตลาดโลกที่ผันผวนจากวิกฤติรัสเซีย-ยูเครน ซึ่งหากเทียบกับบริษัทอื่นๆ ในธุรกิจเดียวกัน ก็จะเห็นได้ว่า ปีนี้มีกำไรลดลงในทิศทางเดียวกัน แต่โออาร์ยังแข็งแกร่ง ทำกำไรได้ดี
ส่วนที่มีการวิจารณ์ตัวเลขค่าการตลาดน้ำมันที่อ้างอิงในเว็บไซต์ของสำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน (สนพ.) ที่ดูว่าสูงและแตกต่างจากการคำนวณของผู้ค้าน้ำมัน เนื่องจากมีการอ้างอิงการคำนวณที่แตกต่างกัน โดยของผู้ค้าน้ำมันคำนวณจากต้นทุนจริงที่ซื้อจากโรงกลั่นฯ ด้วยค่ากำมะถันไม่เกิน 50 ppm (ยูโร 4) แต่ของ สนพ. คำนวณจากค่าเฉลี่ยของน้ำมันที่ตลาดสิงคโปร์ ที่ไม่มีราคา 50ppm โดยอ้างอิงค่าเฉลี่ยน้ำมัน 500 ppm และ 10 ppm (EURO5) ทำให้ค่าของ สนพ. สูงกว่าเอกชนราว 1.20-1.30 บาท/ลิตร เช่น ค่าการตลาดน้ำมันเบนซินของ สนพ. อ้างอิงที่สูงถึง 3.10-3.30 บาท/ลิตร แต่ในส่วนของผู้ค้าน้ำมันจะอยู่ที่ 1.90-2.00 บาทเท่านั้น โดยค่าการตลาดเฉลี่ยของโออาร์ปีนี้อยู่ที่ 1.60-1.70 บาท/ลิตร และคาดว่าปัญหานี้จะหมดไป เพราะตั้งแต่วันที่ 1 ม.ค.67 ประเทศไทยใช้น้ำมันมาตรฐาน EURO 5 ทำให้ สนพ. และผู้ค้าน้ำมันจะใช้มาตรฐานอ้างอิงเดียวกันที่กำมะถันไม่เกิน 10 ppm
สำหรับนโยบายเปิดเสรีนำเข้าน้ำมันสำเร็จรูปนั้น ขณะนี้คงจะต้องดูรายละเอียดว่า ภาครัฐจะมีแนวทางเพิ่มเติมอย่างไร แต่ที่ผ่านมาธุรกิจนำเข้าน้ำมันเป็นเสรีอยู่แล้ว แต่ต้องปฏิบัติตามข้อกำหนดมาตรฐานน้ำมันของไทย ซึ่งมีรายละเอียดมาตรฐานที่สูง ส่งผลให้ต้นทุนนำเข้าสูงขึ้นด้วย โดยจะเห็นได้ว่า แม้แต่เชลล์ที่มีโรงกลั่นฯ ในสิงคโปร์ ยังไม่นำเข้า โดยซื้อจากเมืองไทยเป็นหลัก ทั้งนี้ ปัจจุบันประเทศไทยมีการผลิตน้ำมันกลุ่มเบนซินไม่เพียงพอกับความต้องการใช้ ทางโออาร์ได้มีการนำเข้าเป็นครั้งคราว พบว่ามีต้นทุนสูงกว่าการซื้อจากโรงกลั่นในประเทศราว 1 บาท/ลิตร โดยไตรมาสที่ 4/66 คาดว่าโออาร์ต้องมีการนำเข้ากลุ่มเบนซินราว 50 ล้านลิตร. – สำนักข่าวไทย