กรุงเทพฯ 20 ก.ย.-เงินบาทอ่อนค่าสุดในรอบ 10 เดือน ฟันด์โฟลว์ไหลออก ตลาดมองปีหน้ารัฐบาลไทยจะออกพันธบัตรรัฐบาลจำนวนมาก เพื่อใช้เงินกระตุ้นเศรษฐกิจ ด้าน รมช.คลัง ปฏิเสธข่าวลือรัฐบาลเตรียมปลดผู้ว่าแบงก์ชาติ ด้านกรุงไทยแนะใช้เครื่องมือป้องกันความเสี่ยง และเลือกทำธุรกรรมในสกุลเงินท้องถิ่น
นายกฤษฎา จีนะวิจารณะ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง ปฏิเสธกระแสข่าวลือที่ว่า รัฐบาลกำลังพิจารณาปลดนายเศรษฐพุฒิ สุทธิวาทนฤพุฒิ ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ว่าไม่เป็นความจริงแต่อย่างใด
ทั้งนี้ กระแสข่าวลือดังกล่าว ก็เป็นหนึ่งในเหตุผลที่ส่งผลต่อเงินบาทอ่อนค่า เช้านี้ (21 ก.ย.66) ไปแตะระดับอ่อนค่าสุดในรอบ 10 เดือนที่ 36.14 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ ก่อนจะกลับมาปรับตัวอยู่ที่ระดับประมาณ 36.09-36.10 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ ในช่วงเช้าวันนี้ (09.15 น.) อ่อนค่าลงเมื่อเทียบกับระดับปิดตลาดวานนี้ที่ 35.95 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ
น.ส.กาญจนา โชคไพศาลศิลป์ ผู้บริหารงานวิจัย ศูนย์วิจัยกสิกรไทย กล่าวว่า เงินบาทยังคงเผชิญแรงกดดันด้านอ่อนค่าต่อเนื่องจากวานนี้ แต่ยังคงเป็นทิศทางที่สอดคล้องกับสกุลเงินส่วนใหญ่ในเอเชีย ขณะที่เงินดอลลาร์ฯ มีแรงหนุนเพิ่มเติมจากการปรับตัวขึ้นของบอนด์ยีลด์สหรัฐฯ ก่อนการประชุมเฟด เนื่องจากตลาดกลับมาทยอยให้น้ำหนักกับความเป็นไปได้ที่เฟดจะส่งสัญญาณคุมเข้มต่อเนื่องหลังการประชุมรอบ 19-20 ก.ย.นี้ และอาจยืนอัตราดอกเบี้ยไว้ที่ระดับสูงเป็นเวลานาน
สำหรับกรอบการเคลื่อนไหวของเงินบาทในวันนี้ คาดไว้ที่ 35.95-36.20 บาท/ดอลลาร์ฯ ขณะที่ปัจจัยสำคัญที่ต้องติดตาม ได้แก่ สัญญาณฟันด์โฟลว์ของต่างชาติ โดยเฉพาะในตลาดพันธบัตรไทย ท่ามกลางความกังวลต่อแนวโน้มปริมาณพันธบัตรรัฐบาลที่อาจเพิ่มสูงขึ้นในปีงบประมาณหน้า สถานการณ์ค่าเงินหยวน (หลังจากที่ PBOC คงอัตราดอกเบี้ย LPR ไว้ที่ระดับเดิมตามที่ตลาดคาด) รวมถึงไฮไลท์สำคัญในคืนนี้จากผลการประชุมและ dot plot ของเฟด
นายพูน พานิชพิบูลย์ นักกลยุทธ์ตลาดเงินตลาดทุน Krungthai GLOBAL MARKETS ธนาคารกรุงไทย เปิดเผยว่า แนวโน้มของค่าเงินบาท เรามองว่า การอ่อนค่าของเงินบาทในวันก่อนหน้า เป็นสิ่งที่เหนือความคาดหมายไปมาก โดยเงินบาทอ่อนค่าหนักกว่าสกุลเงินเอเชียอย่างเห็นได้ชัด สะท้อนว่า การอ่อนค่าของเงินบาทอาจมาจากปัจจัยภายในประเทศ ซึ่งส่วนหนึ่งมาจากแรงขายสินทรัพย์ไทยของนักลงทุนต่างชาติ โดยเฉพาะบอนด์ หลังนักลงทุนต่างชาติต่างไม่มั่นใจต่อแนวโน้มปริมาณการออกบอนด์ของรัฐบาล
นอกจากนี้ แรงขายเงินดอลลาร์จากฝั่งผู้ส่งออกได้ชะลอลงไปมาก เนื่องจากผู้ส่งออกส่วนใหญ่อาจทยอยขายเงินดอลลาร์ไปพอสมควรแล้วในช่วงก่อนหน้า ทำให้การอ่อนค่าทะลุโซนแนวต้าน 35.85 บาท/ดอลลาร์ฯ เปิดทางให้เงินบาทอ่อนค่าทดสอบ 36.00 บาท/ดอลลาร์ฯ ได้ไม่ยาก
“เรายอมรับว่า การอ่อนค่าของเงินบาทที่มากกว่าคาดนั้น ได้เปิดโอกาสให้เงินบาทสามารถอ่อนค่าต่อทดสอบโซนแนวต้านถัดไปแถว 36.30 บาท/ดอลลาร์ฯ ได้เช่นกัน ซึ่งต้องจับตาทิศทางฟันด์โฟลว์ จะเดินหน้าเทขายสินทรัพย์ไทยเพิ่มขึ้นหรือไม่ โดยเฉพาะในส่วนบอนด์ หลังบอนด์ยีลด์ฝั่งสหรัฐฯ ยังคงปรับตัวสูงขึ้น โดยทุกสินทรัพย์ยังอยู่ในช่วงเผชิญความผันผวนสูง จากทั้งความไม่แน่นอนของทิศทางนโยบายการเงิน ความกังวลแนวโน้มการฟื้นตัวของเศรษฐกิจจีน ทำให้เราคงคำแนะนำว่า ผู้ประกอบการควรใช้เครื่องมือป้องกันความเสี่ยงที่หลากหลาย อาทิ Option และเลือกทำธุรกรรมในสกุลเงินท้องถิ่น (Local Currency) ก็เป็นอีกแนวทางในการบริหารความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยนที่น่าสนใจ“ นายพูน กล่าว
นายประกิต สิริวัฒนเกตุ กรรมการผู้จัดการ บลจ.เมอร์ชั่น พาร์ทเนอร์ กล่าวว่า การที่ค่าเงินบาทอ่อนค่าลงแตะระดับ 36 บาท/ดอลลาร์ฯ ได้สร้างความกังวลและแรงกดดันต่อตลาดทุน รวมถึงตลาดตราสารหนี้ไทย ส่งผลทำให้เงินทุนไหลออกอย่างต่อเนื่อง ปัจจุบันจะเห็นได้ว่า อัตราตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลไทยปรับตัวสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง สาเหตุเกิดจากตลาดเริ่มมองออกว่าในปีหน้าจะมีพันธบัตรรัฐบาลไทยออกมาเป็นจำนวนมาก เนื่องจากรัฐบาลจำเป็นต้องใช้เงินในการกระตุ้นเศรษฐกิจเป็นจำนวนมาก ทำให้ตลาดหุ้นไทยที่ซึ่งยิ่งอยู่ยิ่งซึมลงไปอีกจนถึงสิ้นปี มีโอกาสเห็น 1,500 จุดได้ไม่ยาก ดังนั้น จำเป็นต้องเร่งสร้างความเชื่อมั่นว่ารัฐบาลจะสามารถบริหารและขับเคลื่อนเศรษฐกิจได้ตามที่ประกาศไว้.-สำนักข่าวไทย