กรุงเทพฯ 7 ก.ย.-พรรคไทยสร้างไทย ห่วงน้ำมันเถื่อน หากเปิดนำเข้าน้ำมันสำเร็จรูปแบบเสรี ไร้แผนรองรับ ด้าน กรมสรรพสามิตแจงไม่ได้เสนอลดดีเซล 2 บาท ส่วนเอกชนหนุดลดภาษี ดีเซล และยืดหนี้ กฟผ.โดยรัฐบาลควรออกพันธบัตรมาชดเชย
นายภัชริ นิจสิริภัช และนายรณกาจ ชินสำราญ กรรมการบริหาร พรรคไทยสร้างไทยและ คณะทำงานด้านพลังงานพรรคไทยสร้างไทย กล่าวถึงกรณี นายพีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงานออกมาระบุว่ามีแนวคิดที่เตรียมจะนำเข้าน้ำมันสำเร็จรูปมาจำหน่ายว่า ผู้มีอำนาจ ที่รับผิดชอบดูเรื่องโครงสร้างพลังงานของประเทศยังไม่รู้จักโครงสร้างราคาน้ำมันและไม่รู้จักกลไกของน้ำมันที่แท้จริง โดยเฉพาะเมื่อต้องนำเข้าจากต่างประเทศ ใครจะเป็นผู้นำเข้า รัฐบาลจะดำเนินการเองหรือเป็นผู้ประกอบการรายใหญ่ที่มีศักยภาพและเงินทุนมากเพียงพอเพราะส่วนต่างกำไรของการค้าน้ำมันน้อยมาก เป็น Economy of scale
นายภัชริ ตั้งคำถามถึง ใครจะเป็นคนจัดจำหน่าย จะจำหน่ายปันส่วนอย่างไรให้เพียงพอกับความต้องการ ที่มากถึงวันละเกือบประมาณ 1ล้านบาร์เรล และเราจะนำเข้าน้ำมันจากที่ใดโรงกลั่นที่ใด ให้คุ้มค่ากับค่าขนส่ง ขณะที่การจัดเก็บภาษีต่างๆ จะยกเว้นหรือไม่ หรือจัดเก็บเหมือนเดิม ถ้าจัดเก็บเหมือนเดิมราคาน้ำมันจะถูกกว่าเดิมอย่างไร
ส่วนต้นทุนการกลั่นน้ำมันทั่วโลกใกล้เคียงกัน หมายถึงราคาหน้าโรงกลั่นทั่วโลกก็จะพอกัน เพราะมีราคากลางที่อ้างอิงกันทั่วโลก และเมื่อมีการนำเข้าเสรีการควบคุมใครจะเป็นคนควบคุมโดยเฉพาะน้ำมันเถื่อนที่ทะลักเข้ามา ที่สำคัญหากนำเข้าได้จริง โรงกลั่นที่อยู่ในประเทศไทยทั้ง7แห่ง จะดำเนินการอย่างไร และมีแผนรองรับอุตสาหกรรมต่างๆที่เกี่ยวข้องกับโรงกลั่นมากมาย รัฐบาลจะดำเนินการอย่างไร
นายรณกาจ ระบุว่า ประเทศไทยบริโภคน้ำมันวันละเกือบ 1 ล้านบาร์เรล ผลิตเองได้ไม่ถึง 200,000 บาร์เรล ต้องนำเข้าเท่าไหร่ถึงจะเพียงพอ และจะมีแหล่งน้ำมันสำเร็จรูปขนาดไหน ที่จะรองรับปริมาณมหาศาลขนาดนี้ หากวันใดต้นทางไม่ขายให้ โรงกลั่นที่มีอยู่ก็ปิดตัวลงหรือกำลังการผลิตลดลง จะกระทบต่อเสถียรภาพความมั่นคงทางพลังงานหรือไม่
ด้านแหล่งข่าวจากวงการน้ำมันระบุว่าข้อเท็จจริง ในขณะนี้ การค้าน้ำมันของไทยเป็นระบบเสรีอยู่แล้ว ผู้ค้ามาตรา7 สามารถนำเข้ามาจำหน่ายได้ แต่ต้องอยู่บนเงื่อนไขมาตรฐานน้ำมันตามกฏหมายไทย ที่ปัจจุบัน มาตรฐานยูโร4 และจะปรับเป็นยูโร5 ในวันที่ 1 ม.ค. 66 ซึ่งมาตรฐานสูงขึ้นก็จะทำให้ราคาแพงขึ้นด้วยเพราะต้นทุนการกลั่นจะสูงขึ้น โดยปัจจุบันต้นทุนราคาน้ำมันขายปลีกของไทย ร้อยละ 40-60 มาจากเนื้อน้ำมัน/ร้อยละ 30-40 มาจากภาษีน้ำมัน, ร้อยละ 5-20 มาจากกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง,และร้อยละ 10-18 มาจากค่าการตลาดน้ำมัน และค่าการตลาดน้ำมันของไทยมีการสำรวจต้นทุนทุก 5 ปีพบว่าอัตราเหมาะสมเฉลี่ยของไทยอยู่ที่ 2 บาท/ลิตร เนื่องจากมีต้นทุนที่เพิ่มขึ้นมาตลอด จากทั้งค่าเช่าที่ดิน ,ค่าจ้างเด็กปั๊ม,ค่าน้ำ,ค่าไฟ และคาดกันว่าค่าการตลาดจะเพิ่มขึ้นในปี 67 หลังไทยใช้มาตรฐานน้ำมันใหม่ยูโร 5
ในส่วนค่าไฟฟ้า งวดปัจจุบัน (ก.ย.-ธ.ค. 66 ) เฉลี่ยอยู่ที่ 4.45 บาทต่อหน่วย มาจากค่าไฟฐานราว 3.70 บาท/หน่วยและค่าไฟอัตโนมัติ(เอฟที) 66.89 สตางค์ต่อหน่วย ซึ่งต้นทุนคิดเฉพาะต้นทุนค่าไฟนั้นอยู่ที่ 4.10 บาท/หน่วย ส่วนที่เหลือ ส่วนใหญ่เป็นการใช้หนี้แก่ การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.)ที่รับภาระต้นทุนเชื้อเพลิงแทนประชาชน ตั้งแต่ช่วงโควิด-19และผลกระยูเครน-รัสเซีย รวมๆแล้ว 1.5 แสนล้านบาท ทั้งนี้แนวทางการลดค่าไฟ ทำได้โดยการยืดหนี้ กฟผ. หรือรัฐบาลนำเงินมาอุดหนุนค่าไฟฟ้า โดยทุก 1 สตางค์ที่ลดลงต้องใช้เงินราว 600 ล้านบาท โดยที่ผ่านมา การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ยอมยืดหนี้ให้ประชาชนจากเดิมชำระคืน 6 งวดเอฟที เป็น 7 งวดเอฟทีมาแล้ว
“หากรัฐบาลอุดหนุนพลังงานต่อเนื่องควรคำนึงถึงประสิทธิภาพการใช้พลังงานของประเทศ เพราะหากราคาต่ำเกินจริง ก็จะทำให้มีการใช้แบบไม่ประหยัด กระทบต้นทุนนำเข้าของประเทศ นอกจากนี้ ในส่วนของน้ำมันหากราคาถูกอาจเกิดกระบวนการลักลอบนำเข้า-ส่งออก เพราะราคาต่ำก็จะมีการไหลไปเพื่อนบ้าน ก็นับเป็นต้นทุนที่คนไทยต้องจ่ายเพื่ออุดหนุนเพื่อนบ้านไปด้วย และที่สำคัญควรต้องคำนึงถึงมาตรฐานน้ำมันของไทย ที่ขณะนี้สูงกว่าเพื่อนบ้าน” แหล่งข่าวระบุ
ด้านนายอิศเรศ รัตนดิลก ณ ภูเก็ต รองประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย( ส.อ.ท. )เห็นด้วยในการลดต้นทุนพลังงาน โดยในส่วนของค่าไฟฟ้า เห็นว่าจะสามารถลดค่าไฟจาก 4.45 บาทเหลือ 4.25 บาท/หน่วยได้ทันทีหากยืดหนี้การชำระต่อ กฟผ.ออกไป และเพื่อไม่ให้กระทบภาระต้นทุนการเงิน กฟผ. ทางรัฐบาลก็ควรจะออกพันธบัตร รัฐบาล 5ปีมาชำระเงินให้ กฟผ. ก็จะทำให้ต้นทุนการเงิน กฟผ.ถูกลง และประชาชนจะมีทางเลือกการออมเงินเพิ่มขึ้นด้วย นอกจากนี้ ก็ควรจะเปลี่ยนสมมุติฐานราคาแอลเอ็นจี ก็จะทำให้ราคาค่าไฟต่ำลง และสามารถปรับค่าไฟฟ้าออกเป็น 2 ราคา เพื่อช่วยประชาชน โดยให้นำราคาก๊าซฯในประเทศมาคำนวณค่าไฟให้ภาคครัวเรือน ราคาก็จะเหลือต่ำกว่า 4 บาทต่อหน่วย ส่วนภาคผู้ประกอบการก็สามารถใช้โครงสร้างแอลเอ็นจีนำเข้าค่าไฟก็อาจอยู่ที่ 4.25 บาทต่อหน่วย
ส่วนราคาดีเซลสามารถลดได้โดยลดภาษีดีเซล 2 บาท/ลิตร ราคาจะเหลือ 30 บาท/ลิตร ในขณะที่กองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง ก็ไม่ควรให้เข้ามารับภาระเพิ่มอีกเพราะขณะนี้กองทุนฯติดลบ ราว 5.7 หมื่นล้านบาทเป็นเงินบัญชีน้ำมันติดลบ 1.23 หมื่นล้านบาทและ ติดลบบัญชีแอลพีจี 4.47 หมื่นล้านบาท ตามที่ได้มีข่าวเผยแพร่ตามสื่อต่างๆ ว่ากรมสรรพสามิตกำลังจัดทำข้อมูลเกี่ยวกับการลดภาษีสรรพสามิตน้ำมันดีเซล เพื่อเสนอให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง และนายกรัฐมนตรี ลดภาษีสรรพสามิตดีเซลลิตรละ 2 บาท นั้น กรมสรรพสามิตขอชี้แจงว่า ข้อมูลดังกล่าวไม่เป็นความจริง และกรมสรรพสามิตไม่ได้มีการเผยแพร่ข่าวดังกล่าว
นายจุลพันธ์ อมรวิวัฒน์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง กล่าววานนี้ว่า นโยบายเร่งด่วนคือลดราคาน้ำมัน โดยอาจลดภาษีสรรพสามิตดีเซลลิตรละ 2 บาท จากปัจจุบันเก็บลิตรละ 6 บาท เพื่อให้ราคาดีเซลไม่เกิน 30 บาท จากปัจจุบัน 32 บาท/ลิตร โดยต้องหารือกระทรวงพลังงานและกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง ซึ่งการลดภาษีทุก 1 บาท จะกระทบรายได้ภาษีเดือนละ 2,000 ล้านบาท
ทั้งนี้ รัฐบาลที่ผ่านมาลดภาษีดีเซลรวม 7 ครั้ง เป็นเงินภาษีที่เสียไป 1.58 แสนล้านบาท.-สำนักข่าวไทย