กรุงเทพฯ 1 ก.ย.-‘สุเมธ’ ทีดีอาร์ไอ ชี้รถไฟฟ้าตลอดสาย 20 บาทต่ำเกินไป แนะปรับเพดานเป็น 50-60 บาท จะช่วยให้เบียดบังงบประมาณรัฐน้อยลง ปรับเส้นทางเชื่อมระหว่างสาย-ผลักดันตั๋วร่วมทำได้
ดร.สุเมธ องกิตติกุล ผู้อำนวยการวิจัยนโยบายด้านการขนส่งและโลจิสติกส์ของสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย หรือ ทีดีอาร์ไอ กล่าวถึง นโยบายหาเสียงรถไฟฟ้า 20 บาท ตลอดสายของรัฐบาลเพื่อไทยที่ใช้หาเสียงเลือกตั้ง ว่า ต้องดูในรายละเอียด ว่าจะมีวิธีดำเนินการอย่างไร ลดค่าตั๋วสายใดบ้าง และจะต้องใช้งบประมาณจากส่วนไหนมาอุดหนุนเอกชนที่ได้รับสัมปทาน เนื่องจากรถไฟฟ้าแต่ละสาย มีสัญญาสัมปทานที่แตกต่างกัน
ค่าโดยสารรถไฟฟ้าขณะนี้เฉลี่ย 1 สถานีอยู่ที่ 15-17 บาท 3-4 สถานีก็อยู่ที่ 30-40 บาท แต่หากเป็นการต่อข้ามสาย ก็อยู่ที่ประมาณ 60-70 บาท เช่น สายสีม่วงและไปต่อสายสีน้ำเงินค่าโดยสารเฉลี่ยประมาณ 70 บาท เนื่องจากรถไฟฟ้าแต่ละสายมีสัญญาเดิมอยู่ และเป็นการพัฒนาโครงการคนละห้วงเวลาและภายใต้เงื่อนไขคนละรูปแบบ ซึ่งบางสายเอกชนลงทุนเองทั้งหมด ขณะที่บางสายรัฐบาลลงทุนงานโยธาให้และเอกชนลงทุนงานระบบ หรือบางสายรัฐลงทุนเองและจ้างเอกชนเดินรถ จึงทำให้รถไฟฟ้าต้องจ่ายค่าโดยสารหลายต่อและแพงอย่างที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน หากปรับเหลือ 20 บาท เงินที่หาย 50 บาท รัฐก็จะต้องอุดหนุน และตำถามคือจะเอางบประมาณส่วนไหนมาอุดหนุน
เมื่อดูที่โครงสร้างค่าโดยสารปัจจุบัน และจำนวนผู้โดยสาร ตัวอย่างเช่น รถไฟฟ้าค่ายรฟม. ประกอบด้วย MRT สายสีน้ำเงิน สายสีเหลืองมีผู้ใช้บริการ ประมาณ 4 แสนคนต่อวัน หากคิดค่าโดยสารเฉลี่ย 35-36 บาท จะทำให้รัฐต้องจ่ายเงินอุดหนุนมากถึง 1,000 ล้านบาทต่อปี ส่วนรถไฟฟ้า BTS คาดว่าต้องอุดหนุนไม่น้อยกว่า 5,000 ล้านบาทต่อปี
ส่วนประเด็นการขยายสัญญาสัมปทาน ซึ่งเป็นการแก้ไขสัญญาจะต้องใช้เวลาเยอะพอสมควร เพราะต้องคุยและต้องมีการพิจารณาจากหลายฝ่าย ดังนั้นหากขยายสัมปทานก็จะยังไม่ได้เห็นการลดค่าโดยสารรถไฟฟ้าในช่วง 2 ปีนี้
ดร.สุเมธ เสนอรัฐบาลปรับโครงสร้างเพดานราคาค่าโดยสารสูงสุด แม้จะเปลี่ยนกี่สายก็ตาม ซึ่งอาจจะไม่ใช่ 20 บาทเพราะ 20 บาทต้องใช้เงินอุดหนุนเยอะเป็นภาระงบประมาณรัฐ แต่อาจเป็น 50 หรือ 60 บาท หากทำได้ก็จะช่วยบรรเทาภาระประชาชนที่ต้องเดินทางโดยเปลี่ยนสายรถไฟฟ้า เพราะปัจจุบันหากต้องเดินทางโดยเปลี่ยน 3 สาย ต้องจ่ายค่าโดยสารไม่ต่ำกว่า 100 บาท และควรปรับโครงสร้างพื้นฐาน การเชื่อมระหว่างระไฟฟ้าแต่ละสายให้สะดวกกว่านี้ ประชาชนไม่ต้องลำบากเดินไกล ตากแดดตากฝน อีกทั้งควรปรับเปลี่ยนรูปแบบตั๋วให้เป็นตั๋วร่วม ใบเดียวสามารถใช้ร่วมกันได้ทุกสาย.-สำนักข่าวไทย