กรุงเทพฯ 24 ส.ค. – บอร์ด สคบ. แนะออก 3 มาตรการ เสริมเขี้ยวเล็บ คุ้มครองสิทธิประโยชน์ของผู้บริโภคด้านประกันภัย ลดปัญหาข้อพิพาท ค่าขาดประโยชน์จากการใช้รถ เมาแล้วขับ ขยายถึง เมากัญชา ใบกระท่อม สารเสพติดอื่น
นายสุทธิพล ทวีชัยการ เลขาธิการคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (เลขาธิการ คปภ.) เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภคและการมีส่วนร่วมด้านการประกันภัย ครั้งที่ 1/2566 โดยมีตัวแทนจากหลายภาคส่วน โดยที่ประชุมเสนอแนะการออกมาตรการการเพิ่มประสิทธิภาพการคุ้มครองสิทธิประโยชน์ด้านการประกันภัย ประเด็นแรก เพื่อลดปัญหาข้อพิพาทเรื่องค่าขาดประโยชน์จากการใช้รถเพิ่มเติม ควรกำหนดจำนวนวันซ่อมรถยนต์ เพื่อนำไป คำนวณค่าขาดประโยชน์จากการใช้รถ ใช้เป็นหลักเกณฑ์มาตรฐานขั้นต่ำที่จะนำไปใช้แก้ไขปัญหาข้อพิพาทระหว่างผู้เสียหายกับบริษัทประกันภัย เกี่ยวกับจำนวนวันซ่อมรถยนต์
ทั้งนี้ หากคู่พิพาทมีข้อเท็จจริงอื่นๆ อาจจะส่งผลต่อระยะเวลาการจัดซ่อมรถยนต์ แตกต่างไปจากกรอบแนวทางดังกล่าว คู่กรณีสามารถนำมาพิสูจน์และตกลงกันได้ตามจำนวนวันที่มีการซ่อมจริง สำนักงาน คปภ. ควรนำกรอบดังกล่าวไปรับฟังความคิดเห็นจากผู้มีส่วนได้เสีย ประกอบด้วย ภาคประชาชน ภาคธุรกิจ และอู่ซ่อมรถยนต์ และควรมีการสื่อสารและประชาสัมพันธ์ให้ประชาชนทั่วไปมีความเข้าใจอย่างชัดเจนเกี่ยวกับกรอบแนวทางการกำหนดจำนวนวันซ่อมรถยนต์ดังกล่าวด้วย
ประเด็นที่ 2 ข้อเสนอแนะเกี่ยวกับการวัดระดับปริมาณแอลกอฮอล์ในเลือดตามเงื่อนไขกรมธรรม์ประกันภัยรถยนต์ ควรทำให้เกิดความชัดเจนและเป็นธรรมกับทุกฝ่าย จากปัญหากรณีผู้ขับขี่รถยนต์เมาแล้วขับรถไปเกิดอุบัติเหตุ แต่ไม่สามารถตรวจวัดปริมาณแอลกอฮอล์ในขณะเกิดเหตุ หรือมีการปฏิเสธการตรวจวัดระดับปริมาณแอลกอฮอล์ โดยในปัจจุบัน การกำหนดจำนวนขั้นต่ำของระดับปริมาณแอลกอฮอล์ขณะเกิดเหตุยังไม่ชัดเจน ที่ประชุมจึงเห็นควรให้หารือประเด็นดังกล่าวเพิ่มเติมกับกรมสนับสนุนบริการสุขภาพและคณะกรรมการสถานพยาบาล ควรกำหนดมาตรการในการควบคุม กรณีเมาแล้วขับให้ครอบคลุมไปถึงการเมากัญชา ใบกระท่อม และสารเสพติดอื่นๆ ด้วย
ประเด็นที่ 3 ความเห็นและข้อเสนอแนะเกี่ยวกับมาตรการการเพิ่มประสิทธิภาพเกี่ยวกับการคุ้มครองสิทธิประโยชน์ด้านการประกันภัย โดยที่ประชุมได้กล่าวชื่นชมการทำงานเชิงรุกของสำนักงาน คปภ. โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การลงพื้นที่ให้ความช่วยเหลือประชาชนด้านการประกันภัย กรณีเกิดอุบัติภัยรายใหญ่ต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นการตรวจสอบข้อมูลกรมธรรม์ รวมถึงการกำกับติดตามการชดใช้ค่าสินไหมทดแทนให้แก่ผู้ประสบภัยที่มีความฉับไวและเข้าถึงสถานการณ์ ด้วยการนำเทคโนโลยีต่างๆ มาช่วยในการคุ้มครองสิทธิประโยชน์ของประชาชน
ที่ประชุมฯ จึงเสนอแนะเพิ่มเติม 3 มาตรการ คือ มาตรการแรก ควรมีการรวบรวมเหตุการณ์ที่เป็นข้อพิพาทที่น่าสนใจและมีประเด็นใหม่ๆ เพื่อเป็นกรณีศึกษาสำหรับประชาชน โดยจัดทำเป็นคู่มือและเผยแพร่ผ่านสื่อประชาสัมพันธ์ต่างๆ ที่เข้าใจได้ง่าย มาตรการที่ 2 ควรมีการจัดทำ Anti-Fake News และเผยแพร่แจ้งเตือนประชาชนเกี่ยวกับพฤติกรรมหลอกลวงผู้บริโภคด้านการประกันภัย เช่น กรณีที่มีการหลอกลวงผู้บริโภคให้ซื้อประกันภัยสัตว์เลี้ยง โดยบริษัทผู้รับประกันภัยไม่ได้ประกอบธุรกิจประกันภัยอย่างถูกต้องตามกฎหมายประเทศไทย และมาตรการที่ 3 ควรจัดให้มีการเพิ่มจำนวนอาสาสมัครประกันภัย จัดอบรมโดยบูรณาการร่วมกับหน่วยงานต่างๆ การจัดอาสาสมัครประกันภัยเป็นผู้ไกล่เกลี่ยด้านการประกันภัยของสำนักงาน คปภ. – สำนักข่าวไทย