กรุงเทพฯ 15 ส.ค. – ธ.กรุงไทย แนะลดความเหลื่อมล้ำสังคมไทย ประเด็นหลัก ESG ต้องเร่งแก้ไข มุ่งพัฒนาด้วยสังคมดิจิทัล
Krungthai Compass ธ.กรุงไทย ออกรายงานว่า ความเหลื่อมล้ำในสังคมไทย เป็นประเด็นสำคัญด้าน ESG ต้องเร่งแก้ไข สะท้อนจากรายงานฉบับล่าสุดโดย UNDP ชี้ว่า ไทยยังมีปัญหา การกระจายรายได้ ไม่เท่าเทียมกันค่อนข้างมาก โดยกลุ่มคนจนและรายได้น้อยมีส่วนแบ่งรายได้ของทั้งประเทศร้อยละ 15.2 ขณะที่ภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกมีส่วนแบ่งเฉลี่ยที่ร้อยละ 17.6 สะท้อนความเหลื่อมล้ำด้านรายได้ของไทยตลอดช่วงกว่า 30 ปีที่ผ่านมาแทบจะไม่ได้พัฒนาดีขึ้นเท่าที่ควร
แนะจับตา 4 ปัจจัยสำคัญอาจซ้ำเติมปัญหาความเหลื่อมล้ำในไทยในระยะถัดไป ได้แก่ 1) หนี้ครัวเรือนสูง แต่รายได้โตช้า 2) สังคมสูงวัย 3) Climate change 4) ความก้าวหน้าทางเทคโนโลยี ประเทศไทยควรดึงจุดเด่นด้านพัฒนาการ Digital economy มาผสานกับอานุภาพของเทคโนโลยีใหม่ๆ เพื่อก้าวข้ามความท้าทายจากความเหลื่อมล้ำ เพิ่มโอกาสในการสร้างงาน กระจายรายได้ การเข้าถึงเงินทุน การออมและการลงทุน อาทิ การต่อยอดจากฐานระบบ NDID ระบบ PromtPay และ PromptBiz
ไทยมีความโดดเด่นในการบรรเทาปัญหาความยากจนแบบหลากมิติ มีอัตราส่วนคนจนหลากมิติในปี 2562 คิดเป็นร้อยละ 0.6 ของจำนวนประชากร ได้เน้นบรรเทาปัญหาความยากจนแบบเจาะจงเป้าหมายไปยังกลุ่มคนจน ผู้มีรายได้น้อย และกลุ่มเปราะบาง เช่น โครงการบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ เริ่มต้นเมื่อปี 2560 รวมถึงโครงการสวัสดิการสังคมเพื่อเพิ่มการเข้าถึงบริการทางการศึกษาและระบบสาธารณสุข ขณะที่ประเทศอื่นในภูมิภาคต่างประสบปัญหาความยากจนหลากมิติรุนแรงกว่าทั้งสิ้น ปัจจัยหลักที่ลดทอนโอกาสให้พ้นจากสภาวะขัดสนของคนจนไทย คือ ความเหลื่อมล้ำในการถือครองทรัพย์สิน รวมทั้งการขาดระบบบำนาญที่ครอบคลุมและเพียงพอสำหรับผู้มีรายได้น้อย
การสร้างโอกาสใหม่ จะช่วยแก้ปัญหาการกระจายรายได้อีกทางหนึ่ง ธ.กรุงไทย พบว่าโอกาสการเข้าถึงระบบการเงินอิเล็กทรอนิกส์และเทคโนโลยีสารสนเทศของไทยจัดว่าอยู่ในระดับใกล้เคียงกับประเทศชั้นนำในเอเชีย โดยอัตราการเข้าถึงบริการทางการเงินดิจิทัลตลอดจนเครือข่ายพื้นฐานของเทคโนโลยีฯ มีสัดส่วนใกล้เคียงกับ เกาหลีใต้ สิงคโปร์ จีน ทั้งยังเหนือกว่าเพื่อนบ้านในอาเซียน โดย World Bank ในปี 2564 พบว่า ไทยมีอัตราการเข้าถึงการชำระเงินอิเล็กทรอนิกส์คิดเป็นสัดส่วนถึงร้อยละ 65.6 ของประชากร รองจากประเทศชั้นนำของเอเชีย และถือเป็นอันดับสองในกลุ่มอาเซียนรองจากสิงคโปร์
โดยอัตราการเข้าถึงบริการโทรศัพท์มือถือ ไทยมีสัดส่วนที่สูงสุดเป็นอันดับ 1 ในเอเชียด้วยอัตราส่วน 168.8 เครื่องต่อประชากร 100 คน หรือคิดเป็นประมาณเกือบ 2 เครื่องต่อคน ไทยยังมีอัตราการเข้าถึงของบริการอินเทอร์เน็ตต่อประชากรสูงถึงร้อยละ 85.3 สูงกว่าประเทศผู้นำในเอเชีย เช่น ญี่ปุ่น และจีน ไทยจึงควรใช้พื้นฐานของเทคโนโลยีดิจิทัล แก้ปัญหาให้กลุ่มคนยากจน ช่วยลดต้นทุนทางธุรกรรม ตลอดจนส่งเสริมให้ผู้มีรายได้น้อยมีช่องทางสำหรับการออม ชำระเงิน ที่สะดวก ปลอดภัย การขอสินเชื่อผ่านระบบ Mobile Banking เพียงทำรายการผ่านโทรศัพท์มือถือ เพิ่มเพิ่มโอกาสสำหรับกลุ่มคนยากจนในการสื่อสาร การเรียนรู้ การทำงาน ใช้เป็นช่องทางในการประกอบธุรกิจ เพื่อช่วยเพิ่มพูนรายได้และยกฐานะของผู้มีรายได้น้อยให้ดีขึ้นในระยะยาว.-สำนักข่าวไทย